มนัส สัตยารักษ์ : วิธีแก้ปัญหารถติด MISSION IMPOSSIBLE ?

หลายวิธีในการแก้ปัญหาที่แก้ยาก

ขณะนี้เมืองไทยมีปัญหาที่แก้ไม่ได้อยู่หลายอย่าง จนกลายเป็น mission impossible

ที่เห็นชัดๆ ก็คือปัญหาเรื่อง “ปรองดอง” กับปัญหาเรื่อง “จราจรติดขัด”

กล่าวถึงปรองดอง พูดอย่างไม่อ้อมค้อมก็ต้องพูดแบบกวนๆ ว่า “ปรองดองเอาไว้ใช้เวลาทำสงครามกับต่างชาติ ไม่ใช่เอาไว้ใช้ในเวลารบกันเอง”

ก่อนหน้านี้ราว 5 ปี ในห้วงเวลาที่เรารบกันเองอย่างเข้มข้นและดุเดือด ผู้มีอำนาจในเวลานั้นได้ตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีกรรมการผู้ที่มีเกียรติประวัติน่าเชื่อถือหลายท่าน มีที่ผมรู้จักตัวเป็นๆ อยู่ท่านหนึ่งคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

พบหน้ากันเนาวรัตน์เอ่ยปากออกตัวทำนองว่า “จะทำได้อย่างไรยังนึกไม่ออก”

ผมไม่ได้สนใจผลงานของกรรมการชุดนี้ แต่ก็โกรธผู้มีอำนาจที่เขาตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาอีก เชื่อว่าเขาตั้งขึ้นมาเพื่อให้มากินเงินเดือนอย่างฟรีๆ กันชัดๆ

ตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่พอจะยกมาอ้างตรงนี้ได้ก็เรื่องที่ประเทศเมียนมา ไม่ใช่ไทย เมียนมาปรองดองกันสำเร็จโดยไม่ต้องมีกรรมการแต่อย่างใด

ออง ซาน ซูจี กับรัฐบาลทหาร ซึ่ง “รบกันเอง” มานมนานจนประชาชาติทั่วโลกใช้ความพยายามให้ทั้ง 2 ฝ่ายจับมือกันเพื่อสันติสุข แต่ดูเหมือนจะหมดหวังเพราะต่างก็ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนอย่างแน่นเหนียว

ครั้นแล้วหลังจากเลือกตั้ง วันดีคืนดีสถานการณ์ไม่สงบของโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทำให้ซูจีกับ ผบ.สส. ร่วมกันเป็นจำเลยต่อองค์กรโลกที่กล่าวหาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ทั้ง 2 ต่างเห็นเหมือนกันว่า โรฮิงญาคือ “ผู้ก่อการร้าย” ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย และซูจีเลือกที่จะปรองดองกับทหารโดยไม่แคร์ที่ถูกเรียกคืนเหรียญเสรีภาพและรางวัลโนเบลไพรซ์

ความแตกแยกในไทยก็อาจจะปรองดองกันได้เหมือนกัน หากเราได้รบกับใครสักชาติหนึ่ง

สําหรับประเทศไทย ปัญหาที่แก้ไม่ได้นอกจากปัญหาปรองดองแล้วยังมีปํญหาอื่นๆ ที่แก้ไม่ได้อีกมาก แต่แม้จะรู้ว่าแก้ไม่ได้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องแก้ไปตามกรรมที่เกิดมาเป็นคนไทย ที่เห็นชัดอยู่ทุกเวลานาทีก็คือปัญหาจราจร

ตลอดจนปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการนี้ทั้งหมด เช่น ปัญหาการขนส่งมวลชน ปัญหาแท็กซี่รับจ้างสาธารณะ ปัญหาความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน สาธารณูปโภค ฯลฯ ย้อนกลับไปถึงปัญหาผังเมืองแต่เริ่มสร้างเมือง เป็นต้น

ปัญหาการจราจรเป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้างของบ้านเมือง สรุปได้ว่าเราผิดมาตั้งแต่ต้น นั่นคือเป็นเมืองที่มีถนนน้อยกว่ารถ หรือมีรถท่วมถนน ย่อมมีปัญหาจราจรเป็นธรรมดา

วิธีที่จะแก้ปัญหาต้องสร้างเมืองให้มีถนนมากกว่าหรือมีรถน้อยลง นั่นคือสร้างระบบขนส่งมวลชนและรถรับจ้างสาธารณะให้มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะให้บริการประชาชนได้

ผมเคยเสนอวิธีแก้ปัญหาจราจร ณ ที่ตรงนี้อยู่ 3 หรือ 4 ครั้ง เช่น ห้ามจอดรถบนถนนทุกสาย ขอทดลองหยุดเอารถยนต์ออกจากบ้านสัก 2 หรือ 3 วัน เพื่อเป็นตัวอย่าง พยายามสร้างทัศนคติใหม่เกี่ยวกับรถยนต์ส่วนตัว ให้ตระหนักกันว่ามันไม่ใช่สัญลักษณ์ของความร่ำรวย สะดวกสบาย และ/หรือเสรีภาพ แต่รถยนต์เป็นทุกขลาภชัดๆ

แต่ข้อเสนอของผมมันคงสร้างความยุ่งยากต่อชีวิตเสรีแบบไทยๆ จึงได้รับการสนองตอบน้อยมาก ห้ามจอดเพียงบางสายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการจราจรทำนองนี้อีกแล้ว เพราะไม่อยากรับฟังการตอบโต้ด้วยคำบริภาษที่รุนแรงและผิดตรรกะ จะเห็นได้จากที่กรมการขนส่งทางบกและ สตช. เสนอเพิ่มโทษในความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ หรือใบขับขี่ขาดอายุ และไม่พกพาใบขับขี่ในอัตราที่สูงมาก

คำบริภาษหนึ่งมีว่า “รังแกคนจน” ราวกับว่าพวกเขาพร้อมที่จะต่อสู้คัดง้างกับกฎระเบียบของบ้านเมือง ถ้าปรับในอัตราคนจน!

พูดถึงปัญหาจราจรนึกขึ้นมาได้ว่ายังมีวิธีแก้ปัญหาได้อีก 2 วิธี วิธีแรกคือ “คิดใหม่ ทำใหม่” กับอีกวิธีหนึ่งเป็นทางสุดท้าย คือ “ให้ธรรมชาติช่วยแก้ปัญหา” (ไม่ฮา)

“คิดใหม่ ทำใหม่” ทำให้นึกถึงอากร ฮุนตระกูล (อดีตเจ้าของโรงแรมใหญ่กลางกรุงและริมทะเลเกาะสมุย) ครั้งที่อากรลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เขามีม็อตโต้ใช้ในการหาเสียงว่า “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” เป็นความคิดในลักษณะคิดใหม่ ทำใหม่โดยแท้ เสียดายที่พรรคการเมืองซึ่งมีศักยภาพในการเลือกตั้งคิดตามไม่ทัน จึงไม่มีพรรคใด “ดูด” อากรเป็นตัวแทน

อีกตัวอย่างหนึ่งของการคิดใหม่ ทำใหม่ก็คือ ความคิดของนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ที่เสนอสถานที่สร้างรัฐสภาใหม่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเช่นกันเพราะคนอื่นคิดตามไม่ทัน

ล่าสุดมีข่าวจาก “ข่าวสด” ว่าเจ้าสัวซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ จะลงทุนหลายแสนล้านบาทสร้างเมืองใหม่ที่แปดริ้วบนเนื้อที่หมื่นไร่ วางผังเมืองและระบบสาธารณูปโภค มีถนน 3 ชั้น สร้างรถไฟฟ้าให้สามารถเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ได้ใน 20 นาที ฯลฯ ถ้าไปได้ดีจะสร้างอีก 3 หรือ 4 เมืองใหม่

ผมเชื่อว่าโครงการ “เมืองใหม่” จะบรรลุผลเป็นความจริงอีกไม่นาน เพราะเป็นโครงการของเอกชนซึ่งมีความคล่องตัวกว่าราชการ และมีการระดมทุนจากทั่วโลก

มาถึงวิธีแก้ปัญหาแก้ยากอีกแนวทางหนึ่ง คือ ให้ธรรมชาติช่วยแก้ปัญหา

เมืองใหญ่หลายเมืองในต่างประเทศแก้ปัญหาจราจรด้วยวิธีธรรมชาติคือ “ไม่แก้” ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราขับออกจากบ้านไปทำงานไม่ได้เพราะไม่มีถนนให้รถเก๋งส่วนตัววิ่ง เราก็กลับบ้านเอารถไปเก็บแล้วนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้าไปทำงาน เริ่มแรกอาจจะขลุกขลักบ้าง ไปสายบ้าง หลงทางบ้าง แต่ในที่สุดธรรมชาติก็จะช่วยให้เราผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้

เมื่อรถส่วนตัวไม่ออกจากบ้าน ขนส่งมวลชนก็มีที่ทางให้รถวิ่งสะดวกและรวดเร็วเพิ่มขึ้น จนประชาชนไม่อยากใช้รถส่วนตัว นอกจากจะออกไปพักผ่อนนอกเมือง

การจราจรติดขัดทำให้แท็กซี่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร

เมื่อปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นใหม่ๆ ประชาชนเอาเรื่องแท็กซี่ แจ้งเหตุให้ตำรวจหรือกรรมการขนส่งฯ จับกุมลงโทษ หลังจากนั้นมีบริการ Uber และ Grab แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้รับบริการดีขึ้นแต่อย่างใด แต่เหตุที่จะทำให้ฆ่ากันตายก็คลี่คลายลง เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาไปโดยอัตโนมัติ

มีอีกปัญหาหนึ่งที่นับเป็นปัญหาแก้ยาก ผู้ที่จะแก้ให้ได้ผลชะงัดต้องเป็นองค์กรทางราชการ แต่ปัญหานี้จะไม่แก้ก็ไม่ได้ นั่นคือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

มีอยู่คดีหนึ่ง เวลาผ่านมานานถึง 9 ปีแล้วเพิ่งจะแจ้งข้อหา คนที่ถูกกล่าวหาออกมาแก้ตัวปาวๆ ราวกับถูกกลั่นแกล้ง ประชาชนคนนอกอย่างเราก็ได้แต่ส่งเสียงสาปแช่งอยู่ในใจ “ให้ธรรมชาติลงโทษก็ยังดีว่ะ”