พระพรหมฤๅษี ที่ไม่ได้เหลือรอดจากพม่าเผากรุง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

รูปพระฤๅษี หล่อจากสำริด จัดแสดงอยู่ภายใน พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ข้างท้องสนามหลวง ที่เดิมจัดแสดงอยู่ในห้องศิลปะอยุธยา ของพิพิธภัณฑสถานแห่งเดียวกันนี้ มีคำบรรยาย ตามป้ายของพิพิธภัณฑ์ระบุเอาไว้ว่า

“พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นฤษีหรือโยคี ศิลปะอยุธยา พุทธศักราช 2001 สำริด พบที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระโพธิสัตว์ 1 ใน 550 องค์ ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเนื่องในวาระพุทธศาสนาครบรอบ 2,000 ปี เมื่อพุทธศักราช 2001 ซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากถูกเพลิงไหม้คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2”

ผมอ่านแล้วก็ตะหงุดตะหงิดใจอยู่สองประเด็น

ประเด็นแรกคือ ทำไมทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทราบได้อย่างไรว่าเป็นพระโพธิสัตว์?

เพราะในคติของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้น พระโพธิสัตว์มีความหมายค่อนข้างที่จะเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ เป็นพระชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องที่เล่าว่าเป็นชาดกต่างๆ ที่รู้จักกันดีคือ พระเวสสันดร เป็นต้น ไม่ได้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์อื่นๆ อย่างพระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายาน ที่มีอยู่มากมายหลายองค์ เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์วัชรปาณิ พระโพธิสัตว์มัญชูศรี ฯลฯ ซึ่งเป็นคนละองค์กันกับพระพุทธเจ้าแน่

และประติมากรรมสำริดพระฤๅษีรูปนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรที่สามารถใช้ระบุชี้ชัดลงไปได้เลยสักนิดว่า คือพระชาติก่อนของพระพุทธเจ้า

 

ส่วนประเด็นที่สองก็คือ แล้วทั้งพระฤๅษีรูปนี้ กับรูปพระโพธิสัตว์ทั้ง 550 องค์ ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น ไปเกี่ยวอะไรกับการถูกเพลิงไหม้ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

ที่ส่วนฐานของพระฤๅษีรูปนี้มีจารึกกำกับอยู่ ซึ่ง อ.ณัฐพล จันทร์งาม ผู้เชี่ยวชาญภาษาเขมร แห่งภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กรุณาอ่าน และอธิบายให้ผมฟังเป็นการส่วนตัวว่า เป็นจารึกที่เขียนด้วยตัวอักษรขอม (ซึ่งก็คือเขมรนั่นแหละ) และภาษาเขมร โดยสามารถอ่านได้สองแบบว่า “อฺนก ชา พฺรหฺมฤๅษี” หรือไม่ก็ “อฺนก ชา พฺร หฺม ฤๅษี” ซึ่งแปลเป็นไทยออกมาต่างกันตามลำดับว่า “ผู้เป็นพรหมฤๅษี” หรือ “ผู้เป็นพระหมอฤๅษี”

ผมฟังคำอธิบายจาก อ.ณัฐพล แล้วก็ยิ่งสงสัยใจนะครับว่า เมื่อมีจารึกบอกเอาไว้อย่างนี้แล้ว ทำไมทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงอธิบายว่า ประติมากรรมรูปนี้คือ รูปพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นฤๅษี ตามแนวคิดแบบพุทธเถรวาท?

เพราะอะไรที่เรียกว่า “พรหมฤๅษี” (แน่นอนว่า ผมไม่คิดว่าจะเป็น พระหมอฤๅษี) นั้น หมายถึงลำดับชั้นสูงสุดของฤๅษีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเชื่อกันว่า มีฤทธิ์ในระดับเดียวกับเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่เลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์ปุราณะฉบับหนึ่งเล่าว่า ฤๅษีทุรวาสะซึ่งก็ถือกันว่าเป็นพรหมฤๅษีนั้น ได้สาปพระอินทร์ และเทวดาทั้งหลายให้รบแพ้อสูร จนสุดท้ายพวกเทวดาต้องไปหลอกให้พวกอสูรมาช่วยทำพิธีกวนเกษียรสมุทร เป็นต้น

หลายครั้งที่พรหมฤๅษีนี้ จะถูกกำกับอยู่ว่ามีทั้งหมด 7 ตน โดยเรียกกันว่า “สัปตมหาฤๅษี” ซึ่งก็ไม่ได้มีรายชื่อสมาชิกตายตัวนักหรอกนะครับ สุดแล้วแต่ว่าใคร หรือคัมภีร์เล่มไหนจะโปรดพระฤๅษีตนใดบ้าง ก็จับเอาชื่อมายัดไว้ให้ครบ 7 ตน ให้ครบจนเป็นฤๅษีตัวท็อปทั้ง 7 และถือว่ามีแค่ 7 ตนนี้แหละที่เป็นพรหมฤๅษี

ส่วนใหญ่แล้ว พระพรหมฤๅษีทั้ง 7 ตนนี้ ก็มักจะประกอบไปด้วย ภฤคุ, อังคีรส, วิศวามิตร, กัศยปะ, วาสิษฐะ, อตริ และศานติลยะ (หลายครั้งก็เอา ทุรวาสะ ที่สาปพระอินทร์ ไปสลับไว้กับในสักตนในรายชื่อดังกล่าว) และเชื่อกันว่าเป็นพวกพรหมฤๅษีนี่เอง ที่ช่วยกันจดบทสวดต่างๆ แล้วรวบรวมเข้าเป็นคัมภีร์ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพวกพราหมณ์ ที่เรียกว่า “พระเวท” ซึ่งก็นับว่าเป็นความรู้โดยทั่วไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูยุคเก่า ที่ใครๆ ก็น่าจะรู้กันดี รวมถึงพวกขอมโบราณที่อยุธยาถือว่าเป็น “ครู” ในเรื่องพวกนี้ด้วย

ดังนั้น ในเมื่อมีจารึกระบุอยู่ชัดๆ ว่าคือ “ผู้เป็นพรหมฤๅษี” แล้ว ประติมากรรมสำริดรูปนี้จะไปเป็นพระโพธิสัตว์ ของฝ่ายพุทธเถรวาทได้อย่างไรกัน?

 

ชาวพุทธในอินเดีย, ศรีลังกา และอุษาคเนย์ ต่างก็รู้จักชื่อพรหมฤๅษี (ซึ่งก็น่าจะรู้จักเพราะอยู่ร่วมกันกับพราหมณ์) แต่ไม่เคยระบุชื่อ หน้าที่ หรืออะไรของพรหมฤๅษีเอาไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง พระพรหมฤๅษีจึงไม่ได้มีหน้าที่อะไรเป็นพิเศษในจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนา

ดังนั้น รูปพระฤๅษีองค์นี้จึงน่าจะเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ ในราชสำนักอยุธยา นั่นแหละครับ ส่วนจะใช้ทำอะไรนั่นอีกเรื่อง

อย่าลืมว่า พระพรหมฤๅษีองค์นี้เจอที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งคือวัดในพระบรมมหาราชวังของอยุธยา (ทำนองเดียวกับวัดพระแก้วมรกตของกรุงเทพฯ)

ดังนั้น จึงเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีในราชสำนัก ซึ่งก็มีพิธีพราหมณ์ปนอยู่ให้เพียบ

ถ้าจะเจอของในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูด้วยก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยสักนิด

ที่น่าสังเกตก็คือ ถึงแม้ว่าทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะกำหนดอายุรูปพระฤๅษีองค์นี้ไว้ที่ พ.ศ.2001 ในรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ

แต่การที่ยังทรงเครื่องแบบขอม และมีหน้าเรียวรูปไข่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะแบบสุโขทัย

และพอจะเทียบได้กับพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 ที่พบอยู่มากในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ ที่สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1967

หมายความว่า รูปพระฤๅษีองค์นี้อาจจะมีอายุก่อน พ.ศ.2001 ก็ได้ แถมเมื่อยังทรงเครื่องแบบขอม ใช้ตัวอักษรขอมระบุชื่อ และเขียนด้วยภาษาขอมอีกต่างหาก ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับฝ่ายพราหมณ์ในราชสำนักอยุธยาตอนต้น ที่สัมพันธ์อยู่กับขอม มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องอยู่พุทธเถรวาท และเรื่องพระโพธิสัตว์

ดังนั้น ที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่า ประติมากรรมสำริดรูปนี้ เป็นของในชุดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ 550 ชาติ เนื่องในวาระครบรอบ 2,000 ปีของพระพุทธศาสนานั้น จึงควรจะต้องทบทวนกันใหม่อีกสักหน เพราะจารึกระบุเอาไว้ว่าเป็น “พระพรหมฤๅษี” ไม่ใช่ “พระโพธิสัตว์” และก็ไม่น่าจะสร้างขึ้นในพุทธศาสนาเถรวาทเสียด้วยซ้ำ

 

สําหรับประเด็นต่อมาก็คือประติมากรรมพระฤๅษีรูปนี้ไปเกี่ยวอะไรกับกับไฟไหม้คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2? ซึ่งผมเดาเอาเองว่า คงเพราะร่องรอยสึกหรอบนรูปพระฤๅษีองค์นี้ และประวัติที่ได้มาจากวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่เชื่อต่อๆ กันมาว่าถูกข้าศึกเผาในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 นี่เอง

ขอให้สังเกตดูดีๆ นะครับว่า เรื่องนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า อยุธยาถูกเผา และแน่นอนว่า เมื่อเกี่ยวกับการเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็จะเป็นใครอื่นที่เผาไปไม่ได้นอกจาก “ผู้ร้าย” ในพล็อตประวัติศาสตร์ไทยที่เรียกว่า “พม่า”

การที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระบุว่า “เป็นพระโพธิสัตว์ 1 ใน 550 องค์ ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเนื่องในวาระพุทธศาสนาครบรอบ 2,000 ปี เมื่อพุทธศักราช 2001 ซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากถูกเพลิงไหม้คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2” จึงย่อมมีหมายความโดยนัยว่า อีก 500 กว่าองค์ที่เหลือ ถูกพม่าเผาทิ้งไปหมดแล้ว และรูปพระฤๅษีองค์นี้คือผู้รอดตายในครั้งนั้น ทั้งที่จารึกบนฐานของตัวประติมากรรมเอง ก็น่าจะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า พระฤๅษีองค์นี้ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับสมาชิกภาพทั้ง 550 องค์ที่ว่านั่นเสียหน่อย?

ที่สำคัญก็คือ ไม่มีหลักฐานชี้ชัดได้ด้วยซ้ำไปว่า ถ้ารูปพระฤๅษีองค์นี้สึกหรอลงด้วยถูกเผาจริงแล้ว จะเกิดขึ้นเพราะถูกพม่าเผาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เท่านั้น?

(แน่นอนว่า รูปพระโพธิสัตว์ 550 ชาติดังกล่าวนั้น อาจจะสูญหาย, ถูกอัญเชิญไปไว้ที่อื่น หรืออีกสารพัดพันหมื่นเหตุผลที่ทำให้เราไม่พบเจอในปัจจุบันก็ไม่เห็นจะแปลก ทำไมต้องถูกไฟไหม้จนหายเกลี้ยงไปตอนเสียกรุงครั้งที่ 2?)

ผมไม่แน่ใจนักว่า อะไรที่กังวลใจกว่ากันระหว่างการอธิบายว่า ประติมากรรมฤๅษีรูปนี้คือ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นฤๅษี ทั้งที่จารึกที่ฐานก็บอกอยู่ทนโท่ว่านี่คือ “ผู้เป็นพรหมฤๅษี” กับการอธิบายโบราณวัตถุชิ้นนี้ด้วยชุดความคิดแบบประวัติศาสตร์บาดแผลเรื่อง พม่าเผากรุงศรีอยุธยา ทั้งๆ ที่ไม่มีมูลใดๆ รู้ก็แต่ว่า โดยเฉพาะกรณีหลังนี้ ไม่ควรจะถูกผลิตออกมาในนามหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้เชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี