ชุติมา นุ่นมัน : ผู้เฒ่า เล่าเรื่องดีดี

“กวานทรงคะนอง เติงจะเลิงเติง ตะเลิงระอาว”

ประโยคต้อนรับภาษามอญ ติดไว้หน้าบ้าน บอกผู้คนที่ผ่านไป ผ่านมาว่า “หมู่บ้านทรงคะนองยินดีต้อนรับ”

บ้าน ยายแมว “จำเนียรสุข จำเริญทอง” แห่งหมู่บ้านชาวมอญ ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ คึกคักเป็นพิเศษ นอกเหนือจากเพื่อนบ้านมาช่วยกันตกแต่ง บ่อนสะบ้า ไว้เล่นวันสงกรานต์แล้ว บรรดา ตาๆ ยายๆ เชื้อสายมอญ ยังมานั่งสนทนารำลึกถึงเหตุการณ์สมัยหนุ่มๆ สาวๆให้คนฟังได้สนุกสนาน และอมยิ้มเป็นระยะอีกด้วย

“ยายเจียด ป้องกันภัย” แต่งตัวสวยออกจากบ้านมาที่นี่ตั้งแต่เช้า พร้อมกับผ้าซิ่นผืนงาม เสื้อแขนกระบอกตัวโปรด และที่ขาดไม่ได้คือ สะไบเฉียง ที่อัดกรีบโง้ง คมกริบ ไม้เท้าประจำตัว ที่ติดไม้ติดมืออยู่เสมอ อาจจะทำให้วัย 83 ของคุณยาย ดูเชื่องช้าตามประสาคนแก่ไปบ้าง แต่ดอกมะลิกิ๊บเก๋ กับริมผีปากแดงๆ ที่ผ่านการตกแต่งอย่างมีระเบียบและงดงามตามวัยนั้น สร้างความกระชุ่มกระชวยให้ทุกคนในวงสนทนาไม่น้อย

“ผ้าคล้องคอเนี่ย ต้องมีประจำตัว คนมอญหนะ ถ้าไปวัด ต้องเป็นสะไบเฉียง ถ้าไปเที่ยว ก็เอาคล้องคอไว้เฉยๆ และเวลาไปวัด ถ้าไม่ใส่สะไบ เขาจะถือว่า เป็นควาย ไม่ได้สนสะพาย”ยายเจียดพูดยิ้มๆ

“พูดเกินไป๊ ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกหนู ยายเค้าพูดเล่น”ยายพิศ ประพิศ เกตุเงิน ชาวมอญรุ่นน้องยายเจียด ไม่กี่ปี ที่นั่งอยู่ข้างๆขัดขึ้นยิ้มๆ

ยายทั้งสองเป็นเพื่อนเล่นมา ตั้งแต่เด็กๆ ยายเจียดบอกว่า ยายพิศโชคดีหน่อยได้เรียนหนังสือ เพราะบ้านอยู่ใกล้โรงเรียน ส่วนแกโรงเรียนกับบ้านห่างกัน 150 เส้น ระหว่างทางเป็นทุ่งนา และแต่ละบ้านที่อยู่ใกล้ทุ่งนาก็เลี้ยงหมาดุๆไว้ทุกบ้าน พ่อเลยไม่ให้ไปโรงเรียน ยายเลยไม่รู้เมื่อถูกคนขี้สงสัยถามว่า 1 เส้น มันเท่ากับกี่กิโลเมตร

“ตรงนี้เป็นหมู่บ้านคนมอญ ตั้งมาตั้งกะยายยังไม่เกิด สมัยก่อนไม่มีรั้วบ้านเหมือนเดี๋ยวนี้หรอก เพราะไม่มีขโมย เดินใส่ทองกลับบ้าน 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม เดินไปเถอะ ไม่ต้องกลัว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว วันก่อน ขนาดคนพิการยังโดนกระชากสร้อยเลย”ยายเจียดบอก

“ใช่ๆเราอยู่กันสบายๆพึ่งพา ธรรมชาติเป็นหลัก อย่างของเล่นสมัยก่อน ก็หาเอาตามบ้านนี่แหละ ไม่มีหรอกลูกฟุตบอล อย่างมากก็เอากาบมะพร้าวมาปาเล่นอีกาฟักไข่ อีมอญซ่อนผ้า หรือเอาก้อนหินลูกเล็กๆมาเล่นอีดีดกัน พอถึงสงกรานต์ก็เล่นสะบ้ากัน สนุกมาก เล่นกัน 9 วัน 9 คืน ก็มี เนี่ยเห็นเขาทำบ่อนสะบ้ากันแล้วก็คิดถึงตอนสาวๆขึ้นมาอีก ตอนนั้นสนุกมาก”ยายพิศเสริมขึ้น

แต่ เดิมนั้น ชาวมอญพระประแดงเกือบทั้งหมดจะประกอบอาชีพทำนา และทำกันอยู่หลายแห่ง เช่นที่ อ.พระประแดง อ.บางพลี อ.บางบัวทอง จึงมักจะมีบ้านพักของตัวเอง 2 ที่ คือ ที่พระประแดงแห่งหนึ่ง กับที่ ที่อยู่ใกล้นาของตัวเองที่หนึ่ง เมื่อถึงหน้านาก็จะพักอยู่ที่นั่น เมื่อเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วก็จะกลับมาอยู่พระประแดง ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม ช่วงเวลานี้ นี่เองเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญสร้างกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ แต่โบราณของชาวมอญ

ช่วงเวลานี้จะมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับหนุ่มๆสาวๆ พวกเขาจะมีโอกาสได้พบปะพูดคุย ได้ละเล่นหาความสนุกสนาน หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำนามาเกือบ 9 เดือน

ใกล้สงกรานต์ราวๆวันที่ 8 – 9 เมษายน ทุกคน จะเตรียมตัวกันแล้ว ทำความสะอาดบ้าน เตรียมของไปทำบุญ อาหาร และของหวานตามประเพณีมอญก็จะมี ข้าวแช่ กวันฮะกอ หรือกะละแม ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว

จะ มีบ้าน 3-4 หลังที่รับทำข้าวแช่ อาหารคาว อาหารหวาน ให้พระฉันท์ก่อนสวดมนต์ทำวัตรเช้า สำหรับวัดมอญ จำนวน 12 วัด เรียกว่า ประเพณี เปิงสงกรานต์ หรือ ส่งข้าวสงกรานต์ จะเริ่มทำวันแรกตอนเช้ามืดวันที่ 13 เมษายน จะมีหนุ่ม สาว 12 คู่ เป็นคนเอาสำรับอาหารไปส่งที่วัด

“ตอน นี้ละเป็นโอกาสให้สาวๆได้เจอหนุ่มๆเพราะสำรับไปวัดเยอะ จากบ้านไปวัดก็เดินคุยกัน เรียนรู้กัน ว่าคนนี้ถูกใจเรารึเปล่า พอตอนกลางวันก็ไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เล่นรดน้ำกันในหมู่ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน กลางคืนก็เข้าบ่อนเล่นสะบ้า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสเดียวช่วงเดียวที่หนุ่มสาว จะได้พบหน้าพูดคุยกัน”ยายเจียดเล่าไปอมยิ้มไปสีหน้าแววตาเป็นสุข เมื่อนึกถึงช่วงเวลานั้น

“เราเล่นกันสุภาพมาก ไม่มีการฉวยโอกาสเอาแป้งมาประหน้าลูบจมูกเหมือนตอนนี้ ก็คิดดูนะ เดินเล่นมาจากท่าโน้นมาท่านี้ น้ำแก้วเดียวยังใช้ไม่หมดเลย เราประพรมกันคนละนิดละหน่อย หนักไปทางพูดคุย หยอกล้อ ไม่มีถึงเนื้อถึงตัวกันเด็ดขาด”

“สมัย นี้ เด็กๆหนุ่มๆสาวๆเค้ากลัวจะหกล้ม ยืนคนเดียวนิ่งๆไม่ได้ ต้องเกาะต้องจูง ต้องเดินโอบกัน สมัยโน้น คนแก่เท่านั้นถึงจะเกาะจะจูง จะถูกใครโอบ หนุ่มๆสาวๆแข็งแรง ยืนคนเดียวได้”พูดจบยายเจียดก็หัวเราะดังลั่น คนฟังพลอยหัวเราะตามไปด้วย

ตกกลางคืน บ้านไหนที่ทำเป็นบ่อนสะบ้าก็จะ ตกแต่งบ้านตกแต่งบ่อนสวยงาม ซึ่งจะหนักไปทางใบมะพร้าว กาบกล้วย และดอกไม้ดอกไร่ ที่หาได้แถวนั้น นอกจากนี้ก็จะมีเสาปักขี้ใต้ ติดไว้รอบบ้าน และข้างทาง บ้านจะสว่างไสวทั้งคืน หนุ่มต่างบ้านก็จะตระเวนเล่นสะบ้าตามบ่อน ที่มีสาวที่ตัวเองหมายตาเอาไว้

“คู่ไหนถูกใจกันก็จะเล่นกันทั้งคืน ถามว่าง่วงนอนกันไม๊ ไม่ง่วงเลย นานๆจะได้มีโอกาสแบบนี้ปีละครั้ง แต่เราก็เล่นกันในประเพณี ไม่มีหรอก ที่จะทำทะลึ่งตึงตัง นอกลู่นอกทาง เล่นสะบ้า ก็คือ เล่นสะบ้า นั่งคุยกันทั้งคืน ก็คุยกันทั้งคืนของจริง คู่ไหนถูกใจกัน ก็ตบแต่งกันตามประเพณี มีหลายคู่เลยหละ”

แล้วมีมากไม๊ที่เล่นสะบ้าอยู่ 3-4 ปี แต่ไม่เจอใครถูกใจเลย คนช่างสงสัยถาม

คุณยายทำท่าคิด คิดอยู่นาน ก่อนจะบอกพร้อมเสียงหัวเราะชุดใหญ่

“มีสิ ก็ยายนี่แหละ เลยอยู่คนเดียวมาจนป่านนี้ไงอีหนู”

หนุ่ม สาวๆสมัยก่อนจะเตรียมตัวและพีถีพิถันเรื่องเครื่องแต่งกาย เสื้อ ผ้า หน้า ผม ในประเพณีสงกรานต์กันมาก จะไปวัดหนุ่มต้องใส่ผ้าม่วง สาวๆต้องนุ่งซิ่น พร้อมสะไบเฉียง ปัดแป้งหน้าเนียน ยายเจียดบอกว่า แกมีเคล็ดลับ เอาดินสอพองมาตำกับใบมะลิพอกหน้าตอนกลางคืน เช้าขึ้นมาหน้าจะผ่องเป็นยองใย แต่ไม่มีเงินซื้อลิปสติก ต้องเอาสีแดงจากก้านธูปมาป้ายปากให้ดูระเรื่อเข้าไว้ ซึ่งก็เข้าที ดูดีไม่แพ้ลิปสติกเหมือนกัน

เจ้าของบ้าน ยายแมว เอากะละแม สูตรชาวมอญแท้ดั้งเดิมมาให้ชิม

เหนียวหนืด หอม หวานกลมกล่อมกำลังดี

คุณตาประพันธ์พงศ์ เทวคุปต์ ผู้นำชุมชนทรงคะนอง ที่มาสมทบตอนหลัง บอกว่า สงกรานต์ชาวมอญ ไม่เคยขาดขนมกะละแมร์ เพราะเป็นขนมสำคัญเอาไว้สำหรับรับแขก และกินเล่น หรือกันหิวขณะเล่นสะบ้ากันตอนกลางคืน

“เราพยายามปลูกฝังประเพณี วัฒนธรรมการละเล่นเหล่านี้ให้ลูกหลานชาวมอญที่เหลืออยู่ เพื่อมันจะได้ไม่หายไปในคนรุ่นต่อๆไป มันต้องทำงานกันหนักเอาการทีเดียว ยังพอมีเด็กๆรุ่นใหม่ที่ยังใส่ใจเรื่องแบบนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่า พวกเขาจะมีภูมิต้านทานกับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาบั่นทอนประเพณีอยู่เรื่อยๆและมากขึ้น ได้แค่ไหน”

พูดจบคุณตาก็แอบถอนใจเบาๆ

ปีหน้า ปีหน้าโน้น หรือปีหน้า โน้น โน้น ลูกหลานชาวมอญพระประแดงจะมีแรงต้านทาน สงกรานต์สายเดี่ยว สาดน้ำจากท้ายรถกระบะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และจุดมุ่งหมายการเล่นสงกราต์ของชายหนุ่มบางคนอยู่ที่การได้ลามปามถึงเนื้อถึงตัวหญิงสาว ฯลฯ ได้มากแค่ไหน