เศรษฐกิจ/พลิกวิกฤตโมบายแบงกิ้งล่ม… โอกาสสร้างความเชื่อมั่น สู่การเป็น ‘Cashless Society’

เศรษฐกิจ

พลิกวิกฤตโมบายแบงกิ้งล่ม…

โอกาสสร้างความเชื่อมั่น

สู่การเป็น ‘Cashless Society’

ทุกวันนี้สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทย จากการผลักดันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนโดยรวมของประเทศจากการใช้เงินสดและยังทำให้การบริหารจัดการเงินมีความโปร่งใสตรวจสอบได้อีกด้วย
ซึ่งปัจจัยหนุนสำคัญให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นได้เร็วคือ เทคโนโลยีดิจิตอลที่เข้ามา ขณะประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อย่างนอร์เวย์ เริ่มประสบผลสำเร็จ
ขณะที่จีนและอินเดียก็เริ่มมีพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับไทย ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 รัฐบาลพยายามผลักดันยุทธศาสตร์ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์
โดยปรับเปลี่ยนการรับชำระเงินจากประชาชนของภาครัฐจากเงินสด เป็นผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบคิวอาร์โค้ดสำหรับการรับชำระเงินจากโมบายแบงกิ้งหรือจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลท) และระบบพร้อมเพย์
ให้สามารถโอนเงินหรือรับเงินได้สะดวกผ่านหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์

ขณะที่ภาคเอกชน อย่างธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็ได้พัฒนาโมบายแบงกิ้งออกมารองรับการใช้งานของประชาชน โดยเปรียบเทียบโมบายแบงกิ้งมีความสามารถในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ เรียกว่าเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์แบบย่อมๆ ในมือเลยก็ว่าได้ และยังสะดวกสบายใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา
อีกทั้งยังสามารถใช้บริการชำระเงิน โอนเงิน เติมเงิน ผ่านอีวอลเลทที่บริษัทต่างๆ พัฒนาขึ้น เช่น แรบบิท ไลน์เพย์ ทรูมันนี่ วอลเลท บลูเพย์ แอร์เพย์ เป็นต้น ได้ ด้วยความสะดวกสบายทำให้ช่องทางเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้งานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเชื่อมั่นที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ในส่วนช่องทางในการทำธุรกรรมหลักยังเป็นช่องทางโมบายแบงกิ้งของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพราะเป็นทั้งบัญชีเงินเดือน หรือบัญชีที่ไว้ใช้สำหรับการรับเงินในการขายสินค้าของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ทั้งการขายผ่านหน้าร้านและการขายออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีการทำธุรกรรมอื่นๆ เกิดขึ้นหลากหลายในแต่ละวัน ดังนั้น การทำธุรกรรมโดยที่ไม่เกิดการสะดุดจึงจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไร้เงินสด

อย่างไรก็ดี จะพบว่าช่วงสิ้นเดือนมักเป็นช่วงที่จะมีการทำธุรกรรมกันหนาแน่น
ส่วนหนึ่งจากเงินเดือนเข้าในช่วงสิ้นเดือน และจะต้องมีการชำระค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่างวดบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ โอนเงินให้พ่อแม่ หรือจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าต่างๆ
ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ธุรกรรมล้นจนระบบธนาคารพาณิชย์รับไม่ไหว จะต้องมีการแก้ไข รองรับจำนวนการทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ประกาศยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
และล่าสุดธนาคารพาณิชย์ ยังมีแนวคิดที่จะขยายวงเงินในการโอนผ่านช่องทางพร้อมเพย์ให้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้การใช้งานช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นไปอีก
แต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนนี้ เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น โดยช่วงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน ระบบโมบายแบงกิ้งของหลายธนาคารล่ม ไม่สามารถทำธุรกรรมได้
โดยสาเหตุเกิดจากการขัดข้องเป็นปัญหาจากระบบเน็ตเวิร์กภายในธนาคารกสิกรไทย
แต่ปัจจุบันระบบของธนาคารพาณิชย์มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับการบริการที่รวดเร็วและการรักษาความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุขึ้นก็ทำให้กระทบไปยังธนาคารอื่นได้
ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้เร่งดำเนินการแก้ไขจนระบบสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยจากช่วงเวลา 06.30 น. มาแล้วเสร็จในเวลา 11.00 น.
ส่วนธนาคารที่ได้รับผลกระทบก็มีการแก้ไขตามมา

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับมาตรฐานสากลที่เกิดเหตุขึ้นจะต้องแก้ไขให้รวดเร็วในระยะเวลา อาจจะต้องเร่งดำเนินการให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบและประชาชนผู้ใช้บริการเกิดความเดือดร้อน
หลังจากนั้นในวันถัดมาหรือในวันที่ 1 กันยายน โมบายแบงกิ้งของธนาคารต่างๆ ก็ไม่สามารถใช้งานได้อีก โดยเฉพาะการโอนจากธนาคารอื่นไปยังบัญชีของธนาคารกสิกรไทย เพราะถูกผู้ดูแลระบบกลาง หรือเนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ตัดออกจากระบบ เนื่องจากพบธุรกรรมที่มีการโอนผิดใส่หมายเลขโทรศัพท์แทนเลขบัญชี เพราะมี 10 หลักเท่ากัน ในหลักหมื่นธุรกรรมจึงต้องป้องกันระบบกลางไว้ก่อนจากนั้นจึงได้เร่งตรวจสอบและแก้ไขก่อนจะกลับมาใช้ได้ในช่วงบ่ายวันเดียว
ฟากธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมธนาคารไทย เรียกผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของธนาคารสมาชิกเข้าถกปัญหาด่วนและหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขร่วมกัน
รวมทั้งตัวแทนไอทีเอ็มเอ็กซ์ และจาก ธปท. เข้าร่วมสังเกตการณ์และให้เสนอแนะ
ซึ่งหากตัดปัญหาที่เกิดจากการกระทำของคน (Human Eror) จึงได้มีแนวทางออกมาเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาซ้ำ
หรือเมื่อเกิดเหตุขัดข้องขึ้นจะสามารถแก้ไขจัดการให้ระบบกลับมาให้บริการได้เร็วที่สุด ได้แก่ เพิ่มการรองรับปริมาณการใช้บริการเพื่อขจัดปัญหาคอขวด โดยแต่ละธนาคารจะต้องพัฒนาระบบให้รองรับได้อย่างน้อย 2-3 เท่าของช่วงเวลาที่มีปริมาณธุรกรรมสูงสุด (พีก)
ทั้งนี้ ให้แต่ละธนาคารมีการจัดการระบบภายในของแต่ละธนาคารเองและให้เพิ่มมาตรการควบคุมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบและมีการจัดการที่รัดกุมมากขึ้น

สําหรับระบบกลาง ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ให้เพิ่มความสามารถการรองรับธุรกรรมอย่างน้อย 2 เท่าของระบบปัจจุบัน หรือจากการรองรับธุรกรรมได้ 500 ธุรกรรมต่อวินาทีเพิ่มเป็น 1,000 ธุรกรรมต่อวินาที ภายในปี 2561 นี้ เพื่อรองรับธุรกรรมข้ามธนาคารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งยังตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างธนาคารและไอทีเอ็มเอ็กซ์ ในการกำหนดเงื่อนไขและแนวทางที่ชัดเจนในการตัดธนาคารที่ระบบขัดข้องออกจากระบบกลางชั่วคราว เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนส่งผลกระทบต่อโครงข่ายบริษัทกลางและธนาคารอื่น และสามารถเชื่อมต่อกลับทันทีเมื่อมีการจัดการระบบให้สามารถบริการได้ตามปกติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะกำหนดเกณฑ์การตัดอย่างไรบ้าง และระยะเวลาที่ขัดข้องนานเท่าไรจึงต้องตัด รวมทั้งสร้างความสามารถในการติดตามการทำงานของระบบในภาพรวม โดยให้ไอทีเอ็มเอ็กซ์พัฒนาหน้าจอแสดงการเตือนเมื่อเกิดปัญหาขึ้น (Dash board) ที่จุดใดและจอจะแสดงสถานะระบบของแต่ละธนาคารให้ธนาคารสมาชิกทราบหากเกิดปัญหาขึ้นเพื่อความรวดเร็วในการเตรียมการและแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ให้ทบทวนการออกแบบระบบโมบายแบงกิ้ง และการแสดงข้อความสถานะของธุรกรรมให้ชัดเจน เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้โดยไม่สับสน เช่น หากใส่เลขบัญชีถูกต้องแต่ใส่ผิด ธนาคารก็จะต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วย เพราะหากแจ้งเพียงว่าไม่สามารถทำธุรกรรมได้ อาจจะเกิดการทำธุรกรรมซ้ำๆ จนกระทบระบบได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบกับการโอนเงิน การชำระเงินของประชาชนจำนวนมาก สะท้อนผ่านการออกมาพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย มีการเข้าไปสอบถามธนาคารในช่องทางต่างๆ เหล่านี้สะท้อนถึงจำนวนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้งว่าเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้งาน และแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะแนะนำให้ไปทำธุรกรรมผ่านทางสาขาหรือเครื่องเอทีเอ็มได้ แต่ขณะนี้การเลือกไปใช้งานทั้งสองช่องทางนี้ลดลง ประชาชนต้องการที่จะทำธุรกรรมเองและทำทันทีมากกว่า แม้ว่าอาจจะมีช่วงที่โมบายแบงกิ้งล่มจนต้องกลับไปใช้เงินสดบ้างก็ตาม
ขณะนี้ความพร้อมของประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีการพัฒนาระบบการชำระเงินให้มีเสถียรภาพมากขึ้น
ยอมรับว่าไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบ 100% แต่โอกาสที่จะเกิดระบบล่มต้องน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งหมดตามมา
ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ยากในยุคที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยี ที่จะผลักดันสังคมไทยไปสู่สังคมไร้เงินสดได้ในที่สุด!!!