การศึกษา/ถอด ‘3 มาตรา’ ปลดชนวน… ขัดแย้ง ‘สภาวิชาชีพ-มหา’ลัย’??

การศึกษา

ถอด ‘3 มาตรา’ ปลดชนวน…

ขัดแย้ง ‘สภาวิชาชีพ-มหา’ลัย’??

ดูเหมือนปัญหาความขัดแย้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ระหว่าง “สภาวิชาชีพ” และ “มหาวิทยาลัย” จะคลี่คลายไปได้เปลาะหนึ่ง หลัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัดสินใจให้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. แจ้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ถอดมาตรา 64, 65 และ 66 ออกจากร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. …
แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกอย่างจะจบแบบถาวร
เพราะ “อธิการบดี” มหาวิทยาลัยหลายคนที่เป็น “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” ได้ส่งสัญญาณถึงสภาวิชาชีพทั้ง 11 แห่งแทบจะในทันทีว่า ในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายของ สนช. ถ้าอธิการบดีที่เป็น สนช. เห็นว่าจำเป็นต้องคงมาตรา 64, 65 และ 66 ไว้ ก็สามารถใส่มาตราเหล่านี้กลับเข้าไปใหม่ได้
“เกทับบลั๊ฟฟ์แหลก” กันเห็นๆ

ถ้าย้อนกลับไปดู 3-4 มาตราในร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ทำให้เกิดการงัดข้อระหว่างสภาวิชาชีพ 11 องค์กร และมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
“มาตรา 64” ให้สภาวิชาชีพมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นประกอบการจัดทำหลักสูตร แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการรับรอง หรือกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หรือสร้างภาระอื่นใดให้กับสถาบันอุดมศึกษา
“มาตรา 65” สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ โดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้
“มาตรา 66” ในกรณีที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาเห็นว่าสภาวิชาชีพใดฝ่าฝืนมาตรา 64 ให้แจ้งให้สภาวิชาชีพทราบ และให้สภาวิชาชีพปฏิบัติตามนั้น
ซึ่งทั้ง 3 มาตรานี้ “สกัด” ไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปเกี่ยวข้อง และไม่ให้อำนาจในการ “รับรอง” หลักสูตรเหมือนที่ผ่านมา
ส่วน “มาตรา 48” สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา
ทางสภาวิชาชีพต้องการให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ออก เพราะเห็นว่าหน้าที่ในการบริการวิชาชีพ “ไม่ใช่” หน้าที่ของมหาวิทยาลัย!!

อย่างไรก็ตาม หลังสภาวิชาชีพ 11 แห่ง ออกมายืนยันจุดยืนให้ ศธ.ถอด 3 มาตราดังกล่าวออก และได้รับการ “ตอบรับ” จาก นพ.ธีระเกียรติ ที่ต้องการให้ปัญหาจบๆ ไป
เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและลดอุณหภูมิที่ระอุอยู่ในขณะนี้ นพ.อุดมจึงประสานไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ตัด 3 มาตราเจ้าปัญหาออก ตามที่สภาวิชาชีพ 11 แห่งเรียกร้อง
โดยจะนำร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ที่ปรับแก้แล้ว เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอีกครั้ง
ซึ่ง นพ.อุดมระบุด้วยว่า แม้จะตัดทั้ง 3 มาตราออก ก็ไม่ได้หมายความว่าสภาวิชาชีพจะมีอำนาจเต็มเหมือนเดิม แต่จะต้องประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย
ทั้งสภาวิชาชีพและมหาวิทยาลัยจะต้อง “เปลี่ยน” มุมมองในการจัดการเรียนการสอนใหม่
แต่ดูเหมือนปัญหาจะไม่จบๆ ไปอย่างที่ นพ.ธีระเกียรติตั้งใจ
เพราะบรรดาอธิการบดีหลายแห่งออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เป็นการยกร่างให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
“การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคง หรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกัน หรือขจัดการกีดกัน หรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา”
ฉะนั้น แม้ ศธ.จะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาถอดมาตรา 64, 65 และ 66 ออกจากร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาแล้วก็ตาม
แต่เมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่าลืมว่าคนที่ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คืออธิการบดี ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ “สนช.” ถ้าเห็นว่า “จำเป็น” จะต้องมี 3 มาตรานี้ ก็สามารถใส่กลับเข้าไปได้อีก
เข้าทำนอง หัวเราะทีหลังดังกว่า…

เรื่องนี้ทำให้ตัวแทนกลุ่มสภาวิชาชีพทยอยออกมาโต้แย้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเด็นต่างๆ โดย ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้เช่นนี้ก็จริง แต่ต้อง “ตีความ” ให้ดี โดยภาพรวมของมาตรานี้ บัญญัติไว้เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ ซึ่งไม่มีปัญหา แต่การรับรองหลักสูตร ยังหมายรวมถึง “การคุ้มครองผู้บริโภค” ด้วย และต้องพิจารณามาตราอื่นๆ ประกอบอีกด้วย
เพราะทั้ง 4 มาตรา เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ และการรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพ ก็หมายถึง “การประกันคุณภาพ” การศึกษา
รวมถึงการคุ้มครอง “ชีวิต” และ “ทรัพย์สิน” ของประชาชน
ดังนั้น หากไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปรับรองหลักสูตร แต่ให้จัดสอบประเมินเพียงอย่างเดียวจะส่งผลกระทบและทำให้มาตรฐานวิชาชีพ “ตกต่ำ” ได้
อาจส่งผลให้มีผู้ปฏิบัติวิชาชีพ “เถื่อน” ทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ “ไม่ผ่าน”
ขณะที่นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่าทั้ง 4 มาตรานี้ ถือเป็นการ “ทำลาย” ระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ด้าน นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ รองเลขาธิการแพทยสภา เป็นห่วงว่าถ้าผู้เรียนหลักสูตรวิชาชีพ แต่สอบรับใบอนุญาตฯ “ไม่ผ่าน” และไปให้บริการทางการแพทย์หรือทำงานด้านสาธารณสุขซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตคน จะเกิดผลกระทบและอันตรายกับผู้รับบริการอย่างแน่นอน
สอดรับกับนางศิริอร สินธุ อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 1 กล่าวว่า ปัจจุบันสภาการพยาบาลดูแลนักศึกษา 210,000 คน ใน 86 สถาบัน มีผู้จบ 12,000 คนต่อปี โดยสถาบันที่มีคุณภาพสูง มีผู้สอบได้ 80-100% แต่กลุ่มสถาบันเปิดใหม่สอบผ่านเพียง 10% หรือต่ำกว่า ดังนั้น ถ้าให้สถาบันมีอิสระในการเปิดรับพยาบาลจำนวนมาก จะยิ่งทำให้ค่าเฉลี่ยของนักศึกษาที่สอบใบอนุญาตฯ ไม่ผ่านลดลงอีก และหากไม่มีการรับรอง อาจเกิดอันตรายต่อประชาชนได้
นายสมชาย วิริยะยุทธกร ประธานอนุกรรมการพัฒนาวิชาการ สภาเทคนิคการแพทย์ บอกว่า ที่ผ่านมาสภาวิชาชีพเข้าไปช่วยในลักษณะกัลยาณมิตร เสนอแนะ ไม่ใช่ใช้อำนาจ มหาวิทยาลัยยังมีอิสระ อีกทั้งหลักเกณฑ์การประเมินยังมาจากการหารือร่วมกับคณบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ
ไม่ใช่การบังคับให้มหาวิทยาลัยทำ…

เพื่อเพิ่มความมั่นใจมากยิ่งขึ้น กลุ่มสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทยได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องการตัดมาตรา 64, 65 และ 66 รวมทั้งแก้ไขมาตรา 48 ซึ่งนายวิษณุ “รับ” จะนำข้อเสนอไปปรับแก้ และเสนอร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบอีกครั้ง
ส่วนประเด็นที่อธิการบดีซึ่งสวมหมวก สนช.อีกใบ ระบุว่า สนช.สามารถใส่กลับเข้าไปในร่างกฎหมายได้อีกหากเห็นว่าจำเป็นนั้น นายวิษณุยืนยันว่า แม้จะใส่กลับเข้าไปได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องส่งให้รัฐบาลดูความเหมาะสม
ท้ายที่สุด นายวิษณุได้ฝากให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกัน และทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ชนวนความขัดแย้งจะถูกปลดไปแล้วเปลาะหนึ่ง แต่หากสภาวิชาชีพและมหาวิทยาลัยยังไม่ลดละ “ทิฐิ” ไม่หันหน้าเข้าหากันหรือพูดคุยกัน โดยยึดประโยชน์ของนิสิตนักศึกษาและส่วนรวมเป็นหลัก
ความขัดแย้งที่ยังกรุ่นๆ อยู่ ก็อาจ “ปะทุ” ขึ้นได้อีกในอนาคต
ซึ่งจะมีแต่ “เสีย” กับ “เสีย”
เพราะจะว่ากันไปแล้ว ทั้ง “สภาวิชาชีพ” และ “มหาวิทยาลัย” ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมและประเทศชาติ!!