หนุ่มเมืองจันท์ เขียน ในมืดมีสว่าง กับ ความทรงจำ และเรื่องราวบน กระดาษ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เมื่อเมฆหมอกแห่ง “ความเศร้า” ปกคลุมไปทั่วประเทศ

ไม่แปลกที่บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยจะซบเซาลง

ไม่เว้นแม้กระทั่ง “หนังสือ”

งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติเพิ่งจบไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เงียบมากเลยครับ

เงียบแรก คือ คนเดินในงานน้อยมาก

น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 30%

เงียบที่สอง คือ ในงานไม่มีเสียงตามสาย หรือเสียงตะโกนขายหนังสือตามบู๊ธต่างๆ

เงียบกว่าเดิมมากเลยครับ

หนอนหนังสือเดินซื้อและอ่านหนังสืออย่างมีความสุข

เพราะมีพื้นที่ว่างพอที่จะแทรกตัวเข้าไปอ่านหนังสือที่เราสนใจ

และมีเวลามากพอแบบไม่ต้องเกรงใจคนที่ยืนเบียดอยู่ด้านหลังเหมือนปีก่อนๆ

นอกจากนั้น การได้ชื่นชมหนังสือมากมายโดยไม่มีเสียงตะโกนจากบู๊ธต่างๆ หรือเสียงประชาสัมพันธ์ตามสายตลอดทั้งงาน

เป็นบรรยากาศที่สุนทรีย์มากเลยครับ

หนอนหนังสือมีความสุข

แต่คนขายเศร้า…

เพราะงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ คือ “ออกซิเจน” ถังใหญ่สำหรับคนในวงการหนังสือ

โดยเฉพาะวันที่ “ความเปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่มาเยือน

ระบบการขายหนังสือปกติ ผู้จัดจำหน่ายจะหักค่าดำเนินการไป 40-45%

เล่มละ 100 ก็เข้ากระเป๋าสำนักพิมพ์แค่ 60

และกว่าจะได้เงินก็ประมาณ 3-6 เดือน

แต่งานมหกรรมหนังสือฯ สำนักพิมพ์มาเปิดบู๊ธขายเอง

ถ้าลด 15% ราคาเล่มละ 100 ก็เข้ากระเป๋า 85 บาท

มากกว่าขายในระบบปกติ

ที่สำคัญเป็น “เงินสด” ด้วย

ไม่ต้องรออีกหลายเดือน

นั่นคือ ความสำคัญในเชิงธุรกิจของงานมหกรรมหนังสือฯ

 

แต่ท่ามกลาง “ความมืด” ก็มี “แสงสว่าง”

หนังสือในงานที่กล่าวถึง “ในหลวง” ในมุมต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นพระราชอารมณ์ขัน หรือประสบการณ์การตามรอยพระยุคลบาท

หรือหนังสือพระราชนิพนธ์ของ “ในหลวง”

ขายดีมากครับ

บู๊ธไหนที่มีหนังสือกลุ่มนี้ จะเห็นคนยืนมุงแน่น

หนังสือพิมพ์และหนังสือฉบับพิเศษที่มีภาพเสด็จสู่สวรรคาลัย ของ “ในหลวง” ยิ่งแล้วใหญ่

ขายดิบขายดีราวกับแจกฟรี

“เดลินิวส์” ที่นำร่องพิมพ์ซ้ำฉบับวันสวรรคต

คนไปรอที่โรงพิมพ์เลย

“มติชน-เนชั่น” ก็ทำฉบับพิเศษขึ้นมา

ที่บู๊ธมติชน หนังสือเล่มพิเศษพอวางปั๊บ

ก็หายไปในพริบตา

นิตยสารหลายเล่มพอประกาศว่าจะพิมพ์ฉบับ “ในหลวง”

ยอดจองก็ถล่มทลาย

เชื่อไหมครับ บางเล่มยอดจองจากเว็บถึงหลักแสน

เมื่อรวมยอดจองจากเอเย่นต์ด้วย

นิตยสารเล่มนั้นยอดพิมพ์สูงถึง 2 แสนกว่าเล่ม

ในขณะที่คนบอกว่า “สิ่งพิมพ์” กำลังจะตาย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เหมือนจะบอกว่า “สิ่งพิมพ์” ยังมีความพิเศษบางอย่าง

คิดดูสิครับ หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม

ทุกฉบับให้โหลดฟรีทางเว็บ

ภาพเหตุการณ์วันนั้นในอินเตอร์เน็ตมีเต็มไปหมด

แต่ทุกคนกลับต้องการ “ความทรงจำ” ที่เป็นภาพและเรื่องราวบน “กระดาษ” มากกว่า

ทำไม?

นี่คือ “คุณค่า” ของ “หนังสือ” ที่สื่ออื่นไม่มี

ครับ ใน “มืด” มี “สว่าง”

 

ผมไปลงอาคมในหนังสือ “เราต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน” ในงาน 4 วัน

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ชอบมากเลยครับ

ได้คุยกับคนอ่านแบบสบายใจ

ไม่ต้องเกรงใจคนที่รอคิวอยู่ด้านหลัง

ถ้าใครที่มาเป็นประจำจะสังเกตว่า “อาคม” ของผมครั้งนี้จะอ่านง่ายกว่าครั้งก่อน

ไม่เหมือนลายมือ “คุณหมอ” ตอนสั่งยาคนไข้

เพราะมีเวลาบรรจงเขียนมากขึ้น

แต่ที่ยังเหมือนเดิมก็คือ จำชื่อแฟนหนังสือไม่ได้สักที

อย่างเช่น “ป้อม” ที่มาประจำทุกครั้ง

เธอเป็นคนหนึ่งที่ผมพยายามท่องชื่อทุกครั้งหลังงานหนังสือ

รู้สึกผิดครับ

ตั้งใจว่าครั้งหน้าจะไม่ต้องถามชื่อเธออีกแล้ว

แต่พอถึงวันงานกลับลืมทุกครั้ง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน

“ป้อม” คงทำใจแล้ว

ตอนกำลังจะลงอาคม ผมเงยหน้ามองเธอ

ยิ้มให้

“ป้อม” ยิ้มตอบแบบเข้าใจ

“ป้อมค่ะ”

เธอชิงบอกชื่อก่อนจะถาม

แล้วเราก็หัวเราะให้กัน

ตามปกติของการเซ็นชื่อ ผมจะถามชื่อเล่นของน้องๆ

แต่เนื่องจากเสียงในงานจะดังมาก

หรือน้องพูดเบามาก

ผมจะทวนชื่อซ้ำตามแบบของผมเพื่อจะได้เขียนชื่อให้ถูกต้อง

เช่น บอกว่าชื่อ “จอย”

ผมต้องย้ำว่า “จ.จาน” ใช่ไหมครับ

เพราะบางทีเขาบอกว่า “ปอย”

แต่ผมฟังผิดเป็น “จอย”

หรือบอกว่าชื่อ “พัด”

ผมจะถามว่า “พัด-ทะ-นา” ใช่ไหมครับ

หมายถึง “พัฒ” ที่เขียนแบบ “พัฒนา”

ไม่ใช่ “ภัทร” ที่มาจาก “ภัทระ”

…ประมาณนี้

มีน้องผู้ชายคนหนึ่งมากับเพื่อน

“ชื่ออะไรครับ” ผมถาม

“เดียวครับ”

ผมถามทวนตามสไตล์ของผม

“เดียวดาย ใช่ไหมครับ”

น้องพยักหน้า แต่เพื่อนแทรกขึ้นมา

“อันเดียวครับ”

ผมหัวเราะลั่น

ครับ เขียนเหมือนกัน

แต่อธิบายเสริมบทต่างกัน

ความรู้สึกเปลี่ยนไปเลย

“เดียวดาย” ดูเหงาๆ

แต่ “อันเดียว” มันเป็นพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมของ “ความเหงา” อีกระดับหนึ่ง

ดู X ขึ้นมาทันที

“ชอบๆ” ผมบอก

“งั้นพี่เขียนชื่อว่า…อันเดียวก็แล้วกัน”