ดอกผลจาก “จำนนต่ออำนาจ”

หลายวันที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็น “นักกฎหมายอาชีพ” ที่มีความสามารถพิเศษในการอธิบายและจัดการกฎหมายให้เกิดทางออกเพี่อรัฐจะใช้อำนาจได้ตามที่อยากให้เป็นได้อย่างแหลมคม และทรงประสิทธิผล ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่สื่อมวลชนต่างๆ หยิบยกมาสรุปว่า

“รัฐบาลเตรียมทำให้คำสั่ง คสช. ที่ออกโดย ม.44 เป็นกฎหมายถาวร” หมายถึงบังคับใช้ได้ยาวไป ไม่หมดวาระไปตามอำนาจของ คสช.

เรื่องนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

เนื่องจากในอีกช่องทางหนึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันว่าเป็น “สภาเอกฉันท์” ไม่ว่ารัฐบาลซึ่งมีที่มาจาก คสช.เสนอกฎหมายอะไรเข้ามา ล้วนแล้วแต่ยกมือให้ผ่านเพื่อประกาศใช้ด้วยเสียงเอกฉันท์อย่างรวดเร็ว ชนิดที่น้อยครั้งจะมีปรากฏการณ์ว่า สนช.คนใดคนหนึ่งอภิปรายในทางท้วงติง

ห้วงครอบครองอำนาจรัฐของ คสช.ซึ่งถือว่ามีประกาศใช้กฎหมายจำนวนมาก

และดูจะเป็นไปตามการ “ปฏิรูปประเทศ” ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คิดอ่านไว้ ในแนวทางที่ว่า “อยากปฏิรูปอะไรก็ออกกฎหมายมาบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำตาม” เหมือนจะติดได้แค่ปฏิรูปในรูปแบบให้อำนาจบังคับเอา ไม่มีความคิดรูปแบบปฏิรูปด้วยวธีอื่น

ทุกทิศทางเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ เข้าไปบังคับให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม

เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.นำพาประเทศให้ดิ่งลึกลงไปใน “การควบคุมโดยอำนาจรัฐ”

ในทิศทางนี้

“นายมีชัย ฤชุพันธุ์” มือกฎหมายของฝ่ายนิยมอำนาจเอง เคยประกาศ “สำนึกผิด” ไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า

“ผมฐานะคนทำกฎหมาย วันหนึ่งผมได้คิดว่าที่เราออกไปไม่ได้เป็นอย่างที่คิด หรือตั้งใจไว้ตอนออกกฎหมาย นึกว่าจะทำให้เกิดความสุขสงบ เรียบร้อย เป็นธรรม แต่ความจริงพบว่าการออกกฎหมายนั้นสร้างความไม่เป็นธรรม อึดอัด ต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ผมคงเหมือนหมอบุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ ก่อนหน้านี้เขาชอบเข้าป่าล่าสัตว์ จนวันหนึ่งสำนึกตัวได้ และผันตัวเป็นนักอนุรักษ์ ผมคงคล้ายๆ อย่างนั้น สำนึกบาปว่ากฎหมายที่ออก ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะตกอยู่ในมือคนที่มีภาวะโลภ โกรธ หลง มีพรรคพวกและวัฒนธรรมแบบไทยๆ ซึ่งผมคิดได้มากว่า 20 ปี ว่าการมีกฎหมายควรมีเท่าที่จำเป็น”

“สำนึกบาป” ของ “เนติบริกรมือหนึ่งแห่งแผ่นดิน” ควรจะได้รับความใส่ใจยิ่ง หากผู้มีอำนาจคิดถึง “ชะตากรรมของประชาชน” ที่ต้องไปอยู่ในความควบคุมของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

เป็นไปในทิศทางเดียวกับ “คลิป” ของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่บันทึกอยู่ในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ลุงเนวิน” ซึ่งมีใครต่อใครนำมาแชร์ในโลกออนไลน์กันคึกคัก

“เนวิน” ที่สถาปนาตัวเองเป็น “ลุง” อีกคนหนึ่งของประเทศ หลังจาก “ลุงกำนัน” ประสบความสำเร็จ และ “ลุงตู่” พยายามเดินตาม พูดไว้ในคลิปดังกล่าวว่า

“”อำนาจรัฐ” ที่ควรลดลงบ้าง คนที่ไม่ได้อยู่กับชาวบ้าน ไม่รู้หรอกว่าชีวิตชาวบ้านแย่มาก ที่อำนาจรัฐไปกระทบกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะเรื่องทำมาหากิน ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองเอาอำนาจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว อย่าให้อำนาจมาอยู่ในมือของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่นักการเมืองนี่แหละควรไปเอาอำนาจจากรัฐมาคืนประชาชน”

มีรายละเอียดอีกเยอะในคลิปนั้น ที่ชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของระบบรวมศูนย์อำนาจซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และการทำมาหากินของประชาชน

ความเลวร้ายของ “การรวบอำนาจ” ไม่ใช่ประชาชนไม่รู้ ไม่คิด

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “เพิ่มโทษใบขับขี่” ประชาชนร้อยละ 71.54 ไม่เห็นด้วย โดยส่วนใหญ่เห็นว่าจะเป็นกฎหมายที่เปิดทางทุจริตให้เจ้าหน้าที่รับสินบน โดยร้อยละ 39.41 บอกว่าเป็นการเปิดช่องทางมากที่สุด ร้อยละ 39.69 เห็นว่าเปิดช่องทางรับสินบนมาก ร้อยละ 8.79 เห็นว่าเปิดน้อย ร้อยละ 2.16 เห็นว่าเปิดน้อยที่สุด

มีแค่ร้อยละ 3.60 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่เกิดช่องทางทุจริตรับสินบน

หมายความว่าประชาชนไม่ใช่ไม่รู้ว่า การโหมออกกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่นั้น ผลที่สุดแล้ว ใครได้ประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชน

แต่รู้แล้วจะทำอะไรได้ ตราบที่ “ค่านิยมจำนนต่ออำนาจ” ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นในใจของผู้คนไม่หยุดหย่อน