การศึกษาไทย ข้อมูลความรู้มีหนึ่งเดียว : สุจิตต์ วงษ์เทศ

การศึกษาไทย

ข้อมูลความรู้มีหนึ่งเดียว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

การศึกษาไทย “ไม่ 4.0” มีเหตุสำคัญอันหนึ่งมาจากสถาปนาการผูกขาดข้อมูลความรู้ถูกต้องแน่นอนมีเพียงหนึ่งเดียว
“ครูอาจารย์ต้องปรับกระบวนการทางความคิด จะสอนด้วยหลักสูตรแบบเดิม การเรียนการสอนแบบเดิม จะไม่ตอบโจทย์”
นพ. อุดม คชินทร รมต.ช่วยศึกษา (ศธ.) กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งในงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 (มติชน ฉบับวันพุธที่ 12 กันยายน 2561 หน้า 12)
“การศึกษาในปัจจุบันและอนาคต ยิ่งต้องให้ความสำคัญแก่การปลดปล่อยให้เหนือกว่าการครอบงำ” นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนในมติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2561 (ก่อนหน้ารัฐมนตรีช่วย ศธ.วันเดียว) จะเลือกยกเฉพาะข้อความสำคัญ ดังนี้
“ต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลอย่างหนาแน่นบนโลกออนไลน์ แต่ ‘รู้เท่าทัน’ ไม่ควรมีความหมายแต่เพียงรู้ว่าใครผิดใครถูก แต่ควรรู้ไปถึงว่า ที่ว่าถูกหรือจริงนั้นในเงื่อนไขอะไร และที่ว่าผิดหรือไม่จริงนั้นในเงื่อนไขอะไร”
“ความรู้ในโลกปัจจุบันต้องการสมรรถภาพเชิงวิเคราะห์มากกว่าผิด-ถูก, จริง-เท็จ เพราะสมรรถภาพเชิงวิเคราะห์ที่แคบเพียงเท่านั้น เปิดโอกาสให้เกิดการครอบงำได้ง่าย”
“ข้อมูลและความเห็นที่ไม่ตรงกันนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างความรู้ในโลกปัจจุบัน เพราะความรู้ไม่จำเป็นต้องมีด้านเดียวและเด็ดขาด (absolute)”
“ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดในโลกนี้ที่ผูกขาดความรู้ข่าวสารข้อมูลได้”, “ความคิดที่ว่าควรมีความรู้ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว…เป็นความคิดที่ตกยุคไปแล้วในปัจจุบัน และที่จริงควรตกไปก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้วด้วย”
[จากบทความเรื่อง “วนลูปปฏิรูปการศึกษา” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน มติชน รายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2561 หน้า 16]
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ควรถูกผูกขาดข้อมูลความรู้อยู่ที่หน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาแห่งเดียว
ดังนั้น “ทวารวดี” มีคำนิยามอื่นๆ ที่แตกต่างได้ ไม่จำกัด ไม่ควรถูกผูกขาดด้วยคำนิยามชุดเดียวของหน่วยงานแห่งเดียว