ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า Selamat datang di indonesia ตอนที่ 2 “โรงเรียนเต็มไปหมด”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ถนนแทบทุกสาย ร.ร.กระจายเต็มไปหมด

เปิดฉากตอนแรกผมก็เดินตกท่อเสียแล้วใช้ภาษาอังกฤษผิด ไปเอาคำว่า Salamat ในภาษาตากาล็อก ฟิลิปปินส์ ซึ่งแปลว่าขอบคุณ มาใช้แทน Selamat ในภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งแปลว่ายินดีต้อนรับ

เกรงเด็กน้อยจำไปเขียนผิดๆ ต้องขออภัยในความผิดพลาดอย่างแรง ที่ถูกต้องเป็น Selamat datang

ครับ สับสน ชุ่ย เชย สบถกับตัวเองพร้อมแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ผิดเป็นครู ถูกเป็นครู การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ก่อนตามคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไปเยี่ยมครูรางวัลพระราชทานกันต่อ

 

ระหว่างรอครูรางวัลอีกสองคนจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมาสมทบ ที่ร้านฟาสต์ฟู้ดในสนามบิน อาหารแต่ละอย่างล้วนน่าลองลิ้น ราคาต่ำสุด 49 รูเปีย เทียบค่ากับเงินบาทไทย 1,000 รูเปีย เท่ากับ 3 บาท ขนมปังพร้อมเครื่องดื่มแค่ 49 รูเปีย ทำไมถูกจัง

ที่ไหนได้ ราคาเต็ม 49,000 รูเปีย เขาไม่เขียนเลขศูนย์อีกสามตัวต่อท้าย เพราะเป็นที่รู้กันว่าเวลาจ่าย ต้องเติม 000 เข้าไป อาหารชุดนั้นก็ตกราว 150 บาท

เทียบราคาในเมนูที่โรงแรม Fitra First choice of stay มาจาเลงกา ค่ำวันเดียวกัน รายการ Mie tom yam seafood, Fish ficatta Lamon grass 30,000 รูเปียเท่ากัน เทียบเงินไทย ชามละ 100 บาท

แสดงว่า ราคาอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคไล่เลี่ยกัน เพียงแต่สกุลเงินคนละอย่าง ธนบัตรรูเปียใบที่มูลค่าสูงสุด 50,000 รูเปีย แลกเงินไทย 3,000 บาท ได้ 900,000 รูเปีย อินโดนีเซียนเข้าศูนย์การค้าซื้อของไม่เท่าไหร่ จ่ายเป็นแสน เป็นล้าน

นักเดินทางต่างชาติยังไม่คุ้นเคย ควักจ่ายทีละแสน ทีละล้าน ทำให้รู้สึกว่าข้าวของถูก แต่จริงๆ แล้วพอๆ กับบ้านเรา

ถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า รายได้ของแต่ละคน กับความพอใจของคนซื้อ-คนขาย สำคัญที่สุด ใจที่รู้จักใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นและพอเพียงแค่ไหน

 

ที่น่าสนใจ ตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชากรต่อปีเทียบระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย รายงานของธนาคารโลกปี 2560 ระบุว่าไทย 5,990 เหรียญสหรัฐ อินโดนีเซีย 3,540 เหรียญสหรัฐ ไทยสูงกว่า แต่พอมาดูรายได้ในส่วนของเกษตรกร ตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรของไทยกลับตรงกันข้าม รายงานว่า เกษตรกรอินโดนีเซียมีรายได้ 3,280 เหรียญสหรัฐ เกษตรกรไทย 3,014 เหรียญสหรัฐ เกษตรกรอินโดนีเซียรายได้สูงกว่า

ความแตกต่างของตัวเลขพวกนี้จึงเป็นเรื่องปกติของวิธีคิดและการจัดเก็บ เดินทางแต่ละครั้งจะได้บรรยากาศทำนองนี้ ชวนให้คิดเล่นสนุกดี

ค่ำวันแรกผู้อำนวยการส่วนการศึกษา หัวหน้าฝ่ายประถมศึกษา และหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ จังหวัดมาจาเลงกา ทีมล่วงหน้ามาพบประธานมูลนิธิและคณะฝายไทย เล่าว่าภารกิจของพวกเขารับผิดชอบดูแลโรงเรียนและครูทั้งหมดของจังหวัด มีราว 12,000 คน

ราตรีกาลผ่านไป บทสนทนาใกล้จบ ฝ่ายประสานงานแจ้งข่าวทางการกรณีเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ทางทิศเหนือของเกาะลอมบอก มีศูนย์กลางลึกลงไป 13 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงเกาะบาหลี มี aftershock เป็นระยะๆ ส่งผลให้มีอาคารเสียหายจำนวนมาก

ล่าสุดทางการอินโดนีเซียได้ประกาศเตือนภัยสึนามิแล้ว ขอให้นักท่องเที่ยวไทยในพื้นที่ใช้ความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ทางทะเล

ล่าสุด 20.34 น. ทางการยกเลิกประกาศเตือนภัยสึนามิแล้ว การสื่อสารทันท่วงที ทำให้ผู้คนหายตื่นตระหนก คลายวิตกกังวล ความโกลาหลก็ไม่เกิด

จังหวัดมาจาเลงกาอยู่ไกลจากเกาะลอมบอกและบาหลีมาก ทุกคนแยกย้ายกันเข้าพักด้วยความโล่งใจ

 

ทีมผู้บริหารการศึกษามาจาเลงกาขอให้พวกเรานอนพัก หลับสบาย เพื่อพรุ่งนี้จะได้พบกับผู้ว่าราชการเมืองรอต้อนรับอย่างเป็นทางการแต่เช้า ก่อนคณะจะเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนที่สองของอินโดนีเซีย ประจำการอยู่ ครูเป็นใคร ผลงาน วิธีคิด การปฏิบัติกับเด็กของครูเป็นอย่างไร โปรดคอยตอนต่อไป

เช้าวันใหม่ เสียงสวดมนต์ดังผ่านลำโพงได้ยินมาแต่ไกล ผ่านไปไม่นาน เสียงไก่โก่งคอขัน เอ้ก อี๊ เอ้ก เอ้ก ขันแล้วขันเล่า นานกว่าจะหยุด ให้บรรยากาศบ้านทุ่งกลางชุมชนเมือง สดชื่น แจ่มใส ลมโชยพัดมาจากเชิงเขาเย็นสบาย

โรงแรมที่พักทันสมัยเลือกใช้สุขภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ล้ำยุค โถถ่ายอุจจาระออกแบบให้ที่กดน้ำล้างก้นติดกับตัวโถ ไม่ต้องต่อสายโยงยาวสิ้นเปลือง น้ำไม่พุ่งกระจาย เลอะเทอะเปียกพื้น สะดวกต่อการทำความสะอาดอัตโนมัติตามหลังญี่ปุ่นติดๆ โถนั่งส้วม น้ำร้อน น้ำเย็น ระบบสัมผัสหมด ทันสมัยก้าวหน้า

แต่ปัญหาเวลาเสียต้องจ่ายเยอะเพราะซ่อมยากกว่า นวัตกรรมใหม่ก็หนีไม่พ้นเหรียญสองด้าน มีทั้งผลดีและผลเสีย

 

ฝั่งตรงข้ามหน้าโรงแรมเป็นโรงเรียนอนุบาลระดับแถวหน้าของจังหวัด รถยนต์ส่วนตัว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กระบะสาธารณะ วิ่งมาหยุดจอดส่งนักเรียนยาวเป็นแถว เลยไปถึงหน้าวงเวียนใหญ่ติดป้ายการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์บอกให้ทุกคนรับรู้ว่าต้องร่วมกันแสดงความเป็นเจ้าภาพที่ดี

ติดๆ กันเป็นป้ายมหาวิทยาลัยเชิญชวนให้สมัครเข้าเรียน ย้อนกลับมาอีกทางไม่ไกลกันเท่าไร เป็นโรงเรียนมัธยมทั้งสองฝั่งถนน

รถวิ่งผ่านไปไหนๆ แทบทุกถนนจะพบโรงเรียนตั้งกระจายทั่วไปหมด เช่นเดียวกับมัสยิด

ความที่มีประชากรมาก การบริการทางการศึกษาจึงต้องทำให้ทั่วถึง มีโรงเรียนจำนวนมาก ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีนักเรียน หรือนักเรียนน้อยกว่าครู คงไม่รุนแรงเท่าบ้านเราเพราะมีเด็กเยอะนั่นเอง

บ้านเรือนที่พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นตึกสองชั้นทั้งเก่าและใหม่ พื้นที่ว่างข้างบ้านไม่ปล่อยทิ้งร้างให้ว่างเปล่า ปลูกพืช ปลูกผักนานาชนิด บางแปลงห่างจากโรงแรมหรูไม่ถึงร้อยเมตรเป็นนาข้าวย่อมๆ ใช้ประโยชน์แทบทุกตารางวา

 

ก่อนรถเคลื่อนตัวพาคณะออกไปตามรายการนัดหมาย สัญญาณโทรศัพท์ แอพพ์ไลน์ขึ้นข้อความ “ข่าวร้อนๆ ในเมืองไทย”

รายละเอียดเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ยอดนิยมของอินโดนีเซีย The Jakarta Post หน้า 3 อังคาร 31 กรกฎาคม 2018 คอลัมน์ Commentary เขียนโดย Kornelius Purba ชื่อเรื่อง Don”t let Thai junta chief chair ASEAN next year แสบๆ คันๆ สะท้อนถึงพัฒนาการของเสรีภาพสื่ออินโดนีเซียปัจจุบันได้ดีทีเดียว

นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ วิจารณ์การเมือง สื่อสามารถวิพากษ์ผู้นำรัฐบาลในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น

หากเป็นสมัยเมื่อยี่สิบปีก่อน มีหวังถูกหักปากกาห้ามเขียน หรือไม่ก็ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แรงหนักขึ้นก็ถูกดำเนินคดีจับเข้าคุก ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะผู้มีอำนาจ บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติเรียบร้อยโรงเรียนอินโดไปแล้ว

อ่านจบ อดคิดถึงบ้าน คิดถึงสื่อไทยไม่ได้จริงๆ