นิธิ เอียวศรีวงศ์ : จากสุมาตราตะวันตก

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ทางช่วงสุดท้ายก่อนจะไปถึงหุบฮาเรา (Harau Valley) ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเรา รถโขยกเขยกจนผมเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าจะไปทำไมวะ กะอีแค่ที่พักแบบรีสอร์ตกลางหุบเขาแห่งหนึ่ง ท่ามกลางฝนตกปรอยๆ ตลอดเวลา คงมีเพื่อนร่วมทางอีกบางคนที่ตั้งคำถามแบบเดียวกับผม

แต่เมื่อรถนำเราไปจอดหน้าบ้านพักซึ่งเขาจัดให้เราทั้งคณะอยู่ร่วมกัน ผมก็ตื่นตะลึงกับน้ำตกที่ตระหง่านอยู่ข้างเรือนที่พัก ไม่ใช่น้ำตกมหึมาที่มีเสียงดังลั่น แต่เป็นทางน้ำสายเล็กๆ ที่ตกลงจากหน้าผาสูงชันขนาดคอตั้งบ่า มีความกว้างไม่น่าจะถึงสองฟุต และน้ำก็ไม่แรงพอจะพุ่งเลยออกมานอกหน้าผา คงเรี่ยติดหินลงมาจากจุดเริ่มต้นจนลงมาถึงอ่างน้ำเล็กๆ ที่อยู่ข้างเรือนของเรานั่นเอง

เป็นวิวที่ดูไม่เบื่อเลย หากแดดออกถูกทิศทางในบางวัน ละอองน้ำที่เกิดจากการเสียดสีกับหินมาตลอดทางคงทำให้เกิดสายรุ้งคลอเคลียกับน้ำตก จะเป็นแนวขวางหรือแนวตั้งผมก็นึกไม่ออก แต่เชื่อว่าคงยิ่งทำให้น้ำตกนี้ดูไม่เบื่อขึ้นไปอีก

รีสอร์ตแห่งนี้มีเรือนพักกระจายไปตลอดทางน้ำเล็กๆ ไปหลายหลัง ส่วนใหญ่ของลูกค้าเป็นฝรั่ง แต่พวกเขาไม่ได้มาพักผ่อนชมวิวเฉยๆ เขาเดินต่อจากรีสอร์ตไปอีกชั่วโมงกว่า เพื่อไปเล่นน้ำตกอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ไม่ไกลจากรีสอร์ตเท่าไร ยังเป็นชุมชนเล็กๆ ของชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางเดินป่ายาวไกลได้แห่งหนึ่ง ฉะนั้นรีสอร์ตจึงให้บริการทั้งสองอย่าง ได้แก่ การมาพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามและไม่ถูกปรุงแต่งมากนัก กับการผจญภัยขนาดเล็กและขนาดใหญ่

พวกเราเลือกนั่งคุยกันและนอนเล่น โดยไม่ไปไหนทั้งสิ้น ผมสังเกตเห็นด้วยความประหลาดใจว่าไม่มีชาวบ้านโผล่เข้ามาในรีสอร์ตเลยสักคน นอกจากคนทำงานในรีสอร์ต แสดงว่ารีสอร์ตไม่ได้อยู่ใกล้ชุมชนชาวบ้านที่พอจะเดินมาหาเห็ดหาหน่อไม้ในแถบนี้ได้ ผมไม่รู้ว่าเจ้าของรีสอร์ตเข้ามาทำกิจการบนพื้นที่ดินของใคร ตรงไหนสวยดีก็หาทุนมาทำรีสอร์ตได้เลย หรือต้องไปขอเช่าจากรัฐ

(ซึ่งอาจหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่น เพราะอินโดนีเซียมีการกระจายอำนาจมากกว่าเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว)

ในเมืองไทย ผมยังไม่เคยอยู่ในรีสอร์ตไหนที่ไกลจากชุมชนของชาวบ้าน รีสอร์ตบ้านเราแบ่งทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับผู้ใช้มาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นลำธาร, น้ำตก, ป่า หรือชายหาด หากจะกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้ทรัพยากรเหล่านั้น นอกจากต้องลงทุนสร้างรั้วรอบขอบชิดแล้ว ยังต้องติดสินบนใครต่อใครอีกมาก เพื่อหวงทรัพยากรสาธารณะไว้ใช้คนเดียว จึงมักเป็นรีสอร์ตหรือที่พักซึ่งแพงเกินกว่าผมจะเข้าไปซื้อบริการได้

ผมประหลาดใจ เพราะแถบที่เป็น “จังหวัด” สุมาตราตะวันตกนั้น ประชากรค่อนข้างหนาแน่นมาแต่โบราณแล้ว เหตุใดจึงไม่มีชุมชนแถบหุบฮาเรามาก่อน แต่หลังจากนั่งนึกอยู่นาน

ในที่สุดก็คิดว่าได้พบคำตอบแล้ว

“จังหวัด” สุมาตราตะวันตก (ซึ่งใหญ่กว่า “จังหวัด” ในประเทศไทยหลายเท่าตัว) เป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกกันว่ามินังกะเบา อันเป็นสังคมสืบสายแม่ (matrilineal society) ที่ใหญ่สุดในโลกปัจจุบัน ซ้ำยังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่โลกสมัยใหม่ (ซึ่งมักเป็นวัฒนธรรมสืบสายพ่อ – patrilineal – และยังเป็นปิตาธิปไตยหรือ patriarchial อย่างสุดโต่งเสียด้วย) มาโดยยังรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมแบบสืบสายแม่ต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน

มินังกะเบาแบ่ง “โลก” ของเขาออกเป็นสองส่วน ที่เป็นแกนกลางเรียกว่าดาเรก (darek ตรงกับคำว่า darat ในภาษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย แต่มีความหมายเฉพาะมากกว่า คือไม่ได้แปลว่าบกหรือดินแดนส่วนในเท่านั้น) ตั้งอยู่ส่วนในของแผ่นดินอันมีลักษณะเป็นหุบห้วยเหวเขาและมีเส้นอาณาเขตชัดเจน พ้นจากเส้นเขตนี้ออกมาข้างนอกเรียกว่า rantau – รันเตา

ผมหมั่นถามคนขับรถหลายครั้ง ระหว่างที่เราเดินทางจากเมืองปะดังซึ่งอยู่ในเขตรันเตา ไปยังบูกิตติงกีซึ่งอยู่ในเขตดาเรก ว่าเราเข้าสู่เขตดาเรกหรือยัง เมื่อเข้าเขตแล้ว ก็เป็นไปอย่างแผนที่ในตำราที่ผมเคยเห็น คือรถต้องไต่ขึ้นลงไปตามหุบห้วยเหวเขา มีที่นาผืนไม่ใหญ่นักในหุบเขาเกือบทุกแห่ง พร้อมทั้งระบบชลประทานโบราณที่ชาวมินังกะเบาทำไว้เพื่อควบคุมสายน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา

ชาวมินังกะเบาช่างเหมือนคนไต-ไทที่ผมเคยเห็นในสิบสองจุไท, ลาว, ล้านนา และรัฐชาน คือทำนาอยู่ตามหุบเขา และเก่งในการจัดการน้ำในภูมิประเทศอย่างนั้น จนสามารถเปิดที่นาบนพื้นราบของหุบเขาได้ทั่วไป ทำให้กระจุกประชากรได้มากกว่าเพื่อนบ้าน และในที่สุดก็มีอำนาจทางการเมืองเหนือเพื่อนบ้านซึ่งอาศัยอยู่บนเขา

ประชากรในเขตดาเรกหนาแน่นมาแต่โบราณ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นเพราะเป็นสังคมสืบสายแม่ ทำให้ผู้หญิงและเด็กได้รับการปกป้องคุ้มครองดีกว่าชนเผ่าอื่นในสุมาตรา จึงเพิ่มประชากรได้เร็วกว่ากันมาก ด้วยเหตุดังนั้น จึงมีความจำเป็นมาแต่โบราณแล้วที่ชาวมินังกะเบาต้องออกมาหากินนอกเขตดาเรก การออกมาสู่เขตรันเตานั้น เขาเรียกว่าเมอรันเตา (merantau แปลตรงๆ คือเดินทางออกมาสู่เขตรันเตา) แต่ไม่ได้ออกมาเพื่อหาพื้นที่ทำเกษตรเพียงอย่างเดียว ในเขตรันเตายังมีโอกาสทางเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง เช่น มีเมืองท่า เช่นเมืองปะดัง ซึ่งทำให้สามารถค้าขายได้ด้วย และชาวมินังกะเบาจำนวนมากเมื่อออกมาสู่เขตรันเตาแล้วก็หลุดออกไปจากอาชีพเกษตรด้วย

และนี่คือเหตุผลที่ไม่มีชุมชนใกล้รีสอร์ตในหุบเขาฮาเราซึ่งเราไปพัก เพราะบริเวณนั้นอยู่ในเขตรันเตา และไม่มีใครก่นถางทำไร่นาขึ้นในแถบนั้น จึงไม่มีชุมชนชาวบ้านอยู่ในละแวก ผิดจากพวกไต-ไทซึ่งไม่ว่าจะอพยพไปไหนก็ไม่ทิ้งอาชีพเกษตรเสียทีเดียว จึงมักมีชุมชนเกษตรอยู่ทั่วไป แม้ในพื้นที่ใกล้เคียงรีสอร์ตซึ่งมักเป็นพื้นที่ห่างไกล

เมืองบูกิตติงกีที่เรากำลังมุ่งหน้าไปจากเมืองปะดังที่เราลงเครื่องบิน ไม่ใช่เมืองโบราณอะไรนัก เป็นเมืองป้อมปราการที่พวกดัตช์เพิ่งสร้างขึ้นในต้นศตวรรษที่ 19 ท่ามกลางหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวมินังกะเบา ให้ชื่อตามชื่อของผู้ว่าการใหญ่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในสมัยนั้นว่า Fort de Kock จากป้อมปราการบนยอดเนินนี้ก็ขยายตัวเป็นเมืองในเวลาต่อมา เพราะพวกดัตช์สร้างถนนเชื่อมป้อมปราการของตนกับฝั่งทะเลด้านตะวันตก เพื่อสะดวกในการส่งทหาร จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจเกษตรของแถบนี้พัฒนาไปสู่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ คงใช้ชื่อเมืองตามชื่อป้อมตลอดมา เพิ่งเปลี่ยนเป็นบูกิตติงกี (เขาสูง) หลังจากได้เอกราช

เพราะเป็นเมืองในเขตที่สูงจึงมีอากาศเย็นสบาย ชาวบ้านเรียกเมืองนี้ว่า Kota Sejuk แปลว่าเมืองเย็นหรือเมืองหนาว ถูกใช้เป็นที่พักผ่อนของข้าราชการอาณานิคม คล้ายกับเมืองโบกอร์ในชวาตะวันตก แต่เล็กกว่ามาก และถูกใช้เป็นเมืองหลวงและศูนย์บัญชาการของกองกำลังทั้งญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย และ “กบฏ” อินโดนีเชียในเวลาต่อมา ฉะนั้น บูกิตติงกีจึงเป็นเมืองประวัติศาสตร์

อันที่จริง เมื่อพวกดัตช์ยกกำลังขึ้นมาสร้างป้อมขึ้นนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะรุกรานหรือผนวกเอาโลกของมินังกะเบาทั้งหมดไปเป็นอาณานิคม เพราะยังนึกไม่ออกว่าจะเอาส่วนในของสุมาตราไปทำกำไรได้อย่างไร แต่ที่ต้องยกขึ้นมาก็เพราะชนชั้นนำของมินังกะเบา (หมายถึง penghulu ของ nagari-นครี – ประมาณสัก “ตำบล” คือมีหมู่บ้านอยู่ตั้งแต่ 6 ถึง 20) ถูกกระแสปฏิรูปของมุสลิมกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่า Paderi รบกวนอย่างหนัก จึงไปขอให้ดัตช์ส่งทหารมาช่วยปราบมุสลิมกลุ่มนี้ พวกดัตช์เองก็วิตกว่ากระแสปฏิรูปอิสลามอาจระบาดไปถึงเมืองท่าในฝั่งตะวันตกของสุมาตรา ซึ่งตกเป็นของดัตช์แล้ว (เช่น ปะดัง) และทำให้เกิดวุ่นวายขึ้น จึงยอมส่งทหารขึ้นมา

ไม่เฉพาะแต่ในสุมาตราตะวันตกเท่านั้น แต่ผมคิดว่าทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจมุสลิมนั้นเป็นมรดกของระบอบอาณานิคมตะวันตก เพราะมองว่ามุสลิมเป็นกลุ่มเดียวที่มีความพร้อมในการต่อต้านระบอบอาณานิคมมากกว่ากลุ่มอื่น พร้อมทั้งด้านอุดมการณ์, การจัดองค์กร, ความเชื่อมโยงกับอำนาจภายนอก และผู้นำ

ชาวมินังกะเบาเองก็เป็นมุสลิม ซ้ำยังเชื่อว่าตนเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดกว่ามุสลิมอินโดนีเซียอื่นๆ อีกหลายกลุ่มด้วย แต่มินังกะเบาอยู่ในวัฒนธรรมสืบสายแม่ จึงมีกฎหมายประเพณีหลายอย่างที่ขัดกับกฎหมายอิสลาม (เช่น การสืบมรดกผ่านผู้หญิง) กระแสปฏิรูปอิสลามซึ่งพยายามรื้อฟื้นทั้งคำสอนและกฎหมายให้มุสลิมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเป็นศัตรูของชนชั้นนำมินังกะเบา จนในที่สุดก็ใช้กำลังในการขจัดอำนาจสืบสายแม่ของชนชั้นนำ

ผมสังเกตเห็นว่า ทั่วทั้งบูกิตติงกี มองไม่ค่อยเห็นร่องรอยที่เป็นอนุสรณ์ของความเคลื่อนไหว Paderi ดูเหมือนมีรูปใบหน้าของหัวหน้ากบฏนี้บนเสาหินที่ตั้งอยู่ในป้อมเพียงแห่งเดียว แต่เราได้อยู่ที่บูกิตติงกีเพียงไม่กี่วัน อีกทั้งไม่มีโอกาสไปคุยกับครูศาสนาซึ่งอยู่ตามสุเหร่า-มัสยิดด้วย (ทั้งๆ ที่ในกลุ่มของเรามีคุณรหัสร่วมอยู่ด้วย คุณรหัสสามารถพูดภาฮาซาได้คล่องขนาดเล่าเรื่องตลกกับคนท้องถิ่นได้เลยทีเดียว) ผมจึงอาจประเมินผิดก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็พอเข้าใจความอึดอัดของคนท้องถิ่นในการ “จัดการ” กับความทรงจำเรื่อง Paderi ได้ เพราะเขาภูมิใจที่เป็นทั้งมินังกะเบาและเป็นมุสลิมที่ดีไปพร้อมกัน ที่น่าอึดอัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในยุคสมัยแห่งเอกราชเช่นปัจจุบัน บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นผู้ไปเชิญให้ดัทช์เข้ามาสถาปนาอำนาจอาณานิคมขึ้นในบ้านของตนเอง

ในประวัติศาสตร์ของทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นแต่สองประเทศคือไทยและติมอร์ตะวันออก ต่างล้วนเป็นปฏิปักษ์กับระบอบอาณานิคมอย่างเข้มข้น แต่แหล่งท่องเที่ยวที่ขายแก่นักท่องเที่ยวปัจจุบันมักเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคมเสียกว่าครึ่ง ซ้ำมรดกเหล่านั้นก็ไม่แสดงความเลวร้ายของระบอบอาณานิคมเสียด้วย นักท่องเที่ยวที่ไปดูทำเนียบของข้าหลวงใหญ่ฮอลันดาในจาการ์ตา ไม่ได้ถูกบอกเล่าว่า ตรงลานข้างหน้านั้น ข้าหลวงใหญ่บางคนเคยออกมานั่งที่ชานตึกจิบกาแฟสูบไปป์เพื่อดูการประหารนักโทษชาวพื้นเมืองเป็นของว่าง ดูเหมือนจะมีอยู่ประเทศเดียวที่มีอนุสรณ์อันแสดงความเลวร้ายของระบอบอาณานิคมคือเวียดนาม เขาเก็บคุกซึ่งจำขังนักต่อสู้เพื่อเอกราชไว้โดยไม่ทำลาย และเปิดให้นักท่องเที่ยวซื้อตั๋วเข้าชม (หากจำไม่ผิดอยู่ที่เมืองซอนลา)

คุกเป็นเอกสารที่บันทึกความจริงของระบอบปกครองได้ดีกว่าเอกสารราชการทุกชนิด คุกจึงมักมีกำแพงกันมิให้คนภายนอกเห็น หากเลิกใช้เมื่อไร ก็มักรื้อทิ้งเพื่อทำสวนสาธารณะ

บูกิตติงกียังมีบทบาทในประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซียต่อมาอีกหลายครั้ง

เมื่อญี่ปุ่นยึดครองอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้ ญี่ปุ่นแยกสุมาตราให้มาอยู่ภายใต้กองบัญชาการเดียวกับสิงคโปร์และมลายู ครั้นปลายสงคราม เมื่อสิงคโปร์ถูกฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดหนักขึ้น ญี่ปุ่นก็ย้ายศูนย์บัญชาการจากสิงคโปร์มาอยู่ที่บูกิตติงกี เพราะหากญี่ปุ่นสู้ศึกไปจนถึงที่สุด บูกิตติงกีอยู่ท่ามกลางทิวเขาสูงจะเป็นปราการป้องกันการเข้ายึดของฝ่ายพันธมิตรได้ดี

ครั้นเมื่อเสร็จสงคราม อินโดนีเซียประกาศเอกราช แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากฮอลันดาซึ่งส่งทหาร (ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษ) กลับเข้ายึดครอง เกิดการสู้รบกันทั่วไป ฝ่ายอินโดนีเซียต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ยกยาร์ แต่ก็ถูกฝ่ายฮอลันดาปิดล้อมและยึดได้อีก ผู้นำการกู้เอกราชจึงต้องอพยพหนีมาอยู่ที่บูกิตติงกี และประกาศให้เป็นที่ตั้งฉุกเฉินของรัฐบาลปฏิวัติ แต่ก็ถูกฮอลันดายึดได้ในเวลาไม่ถึงเดือน หลังจากนั้นฮอลันดาก็ต้องจำนนต่อแรงกดดันของสหรัฐ และยอมปล่อยอินโดนีเซียเป็นเอกราช ฉะนั้นกองทัพของสาธารณรัฐจึงกลับมายึดเอาบูกิตติงกีคืนไปอีกจนได้

ภายใต้สาธารณรัฐอินโดนีเซีย บูกิตติงกีเป็นเมืองหลวงของจังหวัดสุมาตรากลาง (ซึ่งรวมสุมาตราตะวันตก, เรียว และจามบีในปัจจุบัน) ฉะนั้น ใน ค.ศ.1958 เมื่อเกิดการกบฏในอินโดนีเซีย ฝ่ายกบฏจึงประกาศแยกตัวจากอินโดนีเซียที่เมืองบูกิตติงกี แต่การกบฏนั้นก็ถูกปราบปรามลงจนได้ในที่สุด

บทบาทของบูกิตติงกีในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียจึงมีหลากหลาย เคยเป็นฝ่ายเดียวกับนักปฏิวัติซึ่งกู้ชาติได้สำเร็จ และเคยเป็นฝ่ายที่ต่อต้านนโยบาย “รัฐเดี่ยว” ของอินโดนีเซีย เพราะต้องการให้อินโดนีเซียเป็นสหพันธรัฐมากกว่า จนต้องประกาศแยกตัวในที่สุดและถูกตราว่าเป็น “กบฏ” ต่อชาติ

ที่เมืองบูกิตติงกีมีสวนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เราได้เข้าชม ตรงด้านหน้าเลย เขาปั้นใบหน้าของคนมินังกะเบาซึ่งเคยมีบทบาทในทางการเมืองและสังคมของอินโดนีเซียไว้ เรียงเป็นแถวๆ ทั่วทั้งแผ่นปูนขนาดใหญ่เหมือนกระดานดำ เพราะในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของอินโดนีเซียนั้น จะหากลุ่มใดที่มีบทบาททางสังคมและการเมืองเท่าชาวมินังกะเบาได้ยาก ผมพบว่ามีใบหน้าของหัวหน้า “กบฏ” ที่ต้องการแยกตัวออกจากอินโดนีเซียเมื่อ 1958 อยู่ด้วย เดินลึกเข้าไปด้านใน ยังมีแท่งปูนเป็นอนุสรณ์แก่เหตุการณ์ในครั้งนั้น (ดูเหมือนเป็นที่ซึ่งฝ่าย “กบฏ” ประกาศแยกตัว)

ผมไม่คิดว่าความทรงจำทางประวัติศาสตร์อินโดนีเซียไม่ถูกกำกับควบคุมเลย แต่พื้นที่ซึ่งเปิดให้แก่ความทรงจำเสรี (โดยเฉพาะของท้องถิ่น) นั้นมีกว้างกว่าประวัติศาสตร์ไทยเป็นอันมาก ผมเคยเดินตามหาอนุสรณ์ของหะยีสุหรงทั่วปัตตานีมาแล้ว แต่ไม่พบ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้เป็น “กบฏ” ต่อรัฐไทยด้วยซ้ำ ถ้าคนปัตตานีต้องลืมหะยีสุหรง จะเหลือใครในท้องถิ่นทั่วประเทศให้จดจำอีกเล่า