บทวิเคราะห์ : อิทธิพล ‘ความเป็นอเมริกัน’ ต่อพัฒนาการมหาวิทยาลัยไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ก่อนจะมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สถาบันการศึกษาไทยได้เผชิญและตอบสนองกับกระแสและอิทธิพลอันเชี่ยวกรากอย่างโลดโผน

พัฒนาการสถาบันการศึกษาไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ด้วยมองโลกในแง่ดี จับภาพตั้งแต่ในช่วงยุคสงครามเวียดนาม ต่อเนื่องมาถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทย (โปรดพิจารณา “เหตุการณ์สำคัญ” ประกอบบทความ) มีความสัมพันธ์กับเรื่องราวและบริบทสังคมธุรกิจไทยอย่างเหลือเชื่อ

 

กระแส MBA

อิทธิพลสหรัฐอเมริกาต่อสังคมไทยมีมากจริงๆ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนที่แล้ว กรณี MBA กับสังคมธุรกิจและการศึกษาไทย

กรณีธนาคารกสิกรไทยและเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี เป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างอย่างมากๆ กับมาตรฐานและกติกาของโลกตะวันตก

ธนาคารกสิกรไทยเป็นกรณีธุรกิจไทยแห่งแรกๆ ให้ทุนการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ณ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2509 ในยุคบัญชา ล่ำซำ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น American Connection คนสำคัญอีกคนหนึ่ง

โดยเฉพาะมีความเชื่อในระบบการศึกษาและการจัดการแบบอเมริกัน

ธนาคารกสิกรไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคบัญชา ล่ำซำ (ปี 2505-2535) เริ่มต้นขยายสาขาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และเป็นธนาคารแห่งแรกๆ ที่ให้ความสำคัญเปิดสาขาโลกตะวันตกเป็นพิเศษ ทั้งที่ลอนดอน และนิวยอร์ก (ปี 2512)

ขณะที่เป็นช่วงเดียวกันที่ธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำได้ขยายเครือข่าย ด้วยแผนร่วมทุนกับธุรกิจตะวันตกอย่างคึกคักมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับเครือข่ายธุรกิจอเมริกัน

ส่วนเอสซีจีเริ่มให้ทุนเรียน MBA ในสหรัฐตามมา ในราวปี 2515 เป็นช่วงต่อเนื่องกับเหตุการณ์สำคัญ มีความสัมพันธ์กับโครงการเงินกู้ก้อนใหญ่จากสหรัฐ (ผ่านหน่วยงานธนาคารโลก-International Finance Corporation หรือ IFC) ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยน สร้างโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

นอกจากนั้น ในปี 2522 เอสซีจีได้เปิดหลักสูตรเป็นการเฉพาะในโครงการฝึกอบรมผู้บริหาร โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ในช่วงเวลานั้นมหาวิทยาลัยไทยมีความพยายามปรับตัวตามกระแสอย่างคึกคัก (โปรดพิจารณา “เหตุการณ์สำคัญ” ช่วงปี 2502-2530)

ทั้งธนาคารกสิกรไทยและเอสซีจีคงดำเนินแผนการข้างต้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามสมควร

ธนาคารกสิกรไทยยุค บัณฑูร ล่ำซำ (ตั้งแต่ปี 2535) นักเรียนทุนตามโปรแกรมเดิม ภาพที่ปรากฏตั้งแต่ปี 2536 มีการเปลี่ยนแปลงไปเรียนที่ยุโรปและญี่ปุ่นด้วย ที่เคยเน้นศึกษาด้านการบริหารทั่วไป บัญชีและการเงิน ได้ปรับให้กว้างขึ้น มุ่งไปสู่ด้านการตลาดและธุรกิจระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับที่เอสซีจี โครงการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศ ให้ภาพสะท้อนมุมมองที่กว้างขึ้นอย่างมากๆ ทั้งสาขาวิชาได้เพิ่มเติมจาก MBA อย่างหลากหลาย ทั้งสถาบันการศึกษาไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่สหรัฐเท่านั้น

 

โรงเรียนนานาชาติ

การปรากฏขึ้นของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอย่างคึกคักในช่วง 2 ทศวรรษ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งของระบบการศึกษาไทย จากโรงเรียนนานาชาติที่อยู่อย่างเงียบๆ ในวงแคบๆ กว่าครึ่งศตวรรษ สู่การก่อตั้งอย่างครึกโครม

ถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์อย่างหนึ่งในสังคมไทย ในฐานะเป็นแห่งแรกในโลกก็ว่าได้ มีโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นอย่างมากมาย และเป็นแห่งแรกในโลกเช่นกัน

โรงเรียนเอกชนชั้นนำของอังกฤษมากกว่า 5 แห่งเข้ามาเปิดเครือข่ายในประเทศซึ่งไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และเป็นสังคมซึ่งมิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

“สังคมซึ่งมีระบบการศึกษาภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่ 2 ที่ประสบความล้มเหลวอย่างมากด้วย” ผมเคยนำเสนอทำนองนี้มากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ซึ่งยังเชื่อเช่นนั้นอยู่

โรงเรียนนานาชาติโดยเฉพาะหลักสูตรภาษาอังกฤษเติบโตอย่างมากมายในสังคมไทย ในช่วงเวลาประมาณสองทศวรรษ (ระหว่างปี 2535-2555) เกิดขึ้นมากกว่า 70 แห่ง ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นในช่วงกว่า 50 ปีของการเกิดขึ้นของโรงเรียนนานาชาติ มีในประเทศไทยประมาณ 10 แห่ง

ศักราชใหม่เริ่มต้นในปี 2534 อันเนื่องมาจากนโยบายเปิดเสรี โดยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2 มีนาคม 2534 – 22 มีนาคม 2535) ผู้มีประสบการณ์ในฐานะนักเรียนประจำ Dulwich College แห่งอังกฤษเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว Dulwich College กลายเป็นโรงเรียนอังกฤษรายแรกของโลกที่มาเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยเลือกประเทศไทย

แต่น่าเสียดาย กลายเป็นกรณีแรก เผชิญปัญหาความขัดแย้งกับนักลงทุนไทยจนต้องถอนตัวออกไป

 

ความหมายในมุมกว้างยุคอานันท์ ปันยารชุน นโยบายรัฐมีความสัมพันธ์ยุทธศาสตร์สังคมธุรกิจไทยอย่างมากยุคหนึ่ง ในมิติสำคัญ ด้วยมุมมองเชื่อมโยงว่าด้วยอิทธิพลสังคมธุรกิจระดับโลก

การเปิดเสรีโรงเรียนนานาชาติในมิติ ทั้งเปิดกว้างผู้เรียนคนไทย ผู้พร้อมแบกรับต้นทุนการศึกษาที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผู้คนมีความสามารถในการสะสมความมั่งคั่ง ฐานขยายกว้างออกไป อีกมิติหนึ่ง เปิดต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ในธุรกิจใหม่ โรงเรียนนานาชาติใหม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะกรุงเทพฯ ทั้งในเมือง ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ หรือเมืองที่มีชุมชนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลตะวันออก เชียงใหม่ และภูเก็ต

กระแสโรงเรียนนานาชาติขยายวงไปอย่างไม่คาดคิด โรงเรียนมัธยม โดยเฉพาะของรัฐ และโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จำนวนมากตามแห่ตามความเป็นไปได้ของแต่ละโรงเรียน ด้วยการเปิดหลักสูตรใหม่ที่เรียกกันว่า “สองภาษา” อย่างขนานใหญ่ในช่วงเวลานั้นเช่นกัน

กระแสนั้น เวลานั้น สืบเนื่องมาถึงปรากฏการณ์หลักสูตรนานาชาติในระบบมหาวิทยาลัยไทย

เป็นเรื่องมหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน มหาวิทยาลัยไทยเปิดฉากหลักสูตรนานาชาติ (ระบบการเรียนการสอนที่สื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ) อย่างเป็นขบวนจำนวนมาก จากหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ สู่อย่างอื่นๆ อย่างหลากหลาย

ปรากฏการณ์ด้วยพลังแรงเหวี่ยงอันน่าทึ่ง ชักนำสถาบันการศึกษาไทยเข้าสู่วังวนและมิติสังคมธุรกิจอย่างเข้มข้น

 

เหตุการณ์สำคัญ
จากอิทธิพลสหรัฐ
2502 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) หรือเอไอที สถาบันการศึกษาที่มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งโดยความร่วมมือจากกลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO หรือ สปอ.) ในชื่อโรงเรียนวิศวกรรม สปอ. (SEATO Graduate School of Engineering) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสถาบันอิสระในชื่อปัจจุบัน ต่อมาในปี 2510 เปิดสอนระดับอุดมศึกษา (ปริญญาโท และปริญญาเอก) โดยเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี

2509 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration) หรือนิด้า (NIDA) เปิดสอนเฉพาะระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และถือเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดการสอนหลักสูตร MBA เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

2525 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตร Mini MBA ตามมาด้วยเปิดหลักสูตร MBA สำหรับผู้บริหาร (2528)

2526 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตร MIM (ภาษาอังกฤษ) ทางการตลาด ร่วมมือกับ IHM Business School และ Gothenburg University of Sweden

2529 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตร MBA สำหรับนักบริหาร

2530 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอน MBA (ภาษาอังกฤษ) โดยความร่วมมือกับ The Kellogg School of Management, Northwestern University และ Wharton School, University of Pennsylvania

สู่โลกาภิวัตน์

2532 วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดขึ้นเป็นวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งแรก เริ่มด้วยหลักสูตรบริหารอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและหลักสูตรสาขาวิชาเคมี ต่อมาปี 2535 เพิ่มขึ้นอีก 2 วิชาคือ บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

2533 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญก่อตั้งขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ใช้ภาษาอังกฤษแห่งแรก ยกระดับจากวิทยาลัย

2535 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งโครงการวิศวกรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ (Engineering English Program – EEP) ต่อมาปี 2537 ได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Keidanren) โดยใช้ชื่อว่าสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (International Institute of Technology – IIT) และปี 2539 เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (Sirindhorn International Institute of Technology – SIIT)

— มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดโครงการปริญญาตรีบริการธุรกิจ (ภาษาอังกฤษ)

2539 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรนานาชาติหลักสูตรแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีในจุฬาฯ

— มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรม ลักษณะโปรแกรมร่วม ด้วยความร่วมมือกับ University of Nottingham, England ต่อมาในปี 2549 ขยายความร่วมมือกับ University of New South Wales, Australia

— จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรม ลักษณะโปรแกรมร่วม ด้วยความร่วมมือกับ University of Warwick, England