สมชัย ศรีสุทธิยากร : เลือกตั้งยุคดิจิตอล – ใครจะวิ่งตามใคร ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัวกลายเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ว่า โฉมหน้าการเลือกตั้งของไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยีอย่างไรบ้างทั้งในด้าน กกต.ในฐานะคนจัดการการเลือกตั้ง และในด้านการหาเสียงและกลยุทธ์ของพรรคการเมือง

ในฝั่งของ กกต. เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนั้นมาพร้อมกับคำว่าทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

การจะเลือกใช้เทคโนโลยีอะไรขึ้นอยู่กับความรอบรู้ของ กกต.เองว่าอะไรจะมาทดแทนอะไรได้

ประกอบกับความพร้อมในเชิงงบประมาณในการดำเนินการ

และความมุ่งมั่นตั้งใจกล้าได้กล้าเสียของบรรดาเหล่า กกต.เป็นหลัก

ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มประเภทการใช้เทคโนโลยีในการเลือกตั้งได้เป็นประเภทต่างๆ เช่น

ก.เทคโนโลยีในการลงคะแนน เช่น การใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (Voting machine) การใช้เครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (Counting machine) และการลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต (Internet voting) เป็นต้น

ซึ่งในการเลือกตั้งของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจำนวนหนึ่งได้ใช้วิธีการดังกล่าวแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

โดยอเมริกาใช้เป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถเลือกได้ระหว่างจะใช้เครื่องหรือจะใช้บัตรเลือกตั้ง (ballot) แบบเดิม และเครื่องลงคะแนนก็ยังมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่แล้วแต่ความทันสมัยและความสามารถในการจัดหาเครื่องของท้องถิ่น

โดยคำตอบของการใช้เครื่อง คือการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและความรวดเร็วถูกต้องในการรายงานผล แต่ก็ยังประสบปัญหาความเชื่อถือจากสื่อมวลชนบ้าง

สำหรับอินเดีย เนปาล และภูฏาน ใช้เครื่องลงคะแนนร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเป็นเครื่องที่ค้นคว้าพัฒนาเองโดยประเทศอินเดีย เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

และยังง่ายต่อการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไม่ต้องพิมพ์บัตรและสามารถประมวลรายงานผลได้รวดเร็ว โดยสามารถสร้างการยอมรับจากประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง

สำหรับไทย เรื่องราวการพยายามใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 หรือประมาณ 16 ปีที่ผ่านมา

โดย กกต.ให้บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเป็นผู้พัฒนาเครื่องลงคะแนน โดยระยะแรกใช้เครื่องต้นแบบจากอินเดีย และมีการพัฒนาต่อเนื่องปรับปรุงแก้ไขมาเรื่อยจนเป็นเครื่องรุ่นที่ 4 ในปี 2556 ในสมัย กกต.ชุดที่ 3 ใช้งบประมาณในการดำเนินการโดยรวมเฉียดร้อยล้านบาท

แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปได้เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย

เครื่องจึงถูกในไปใช้ระดับการสาธิตและการหยิบยืมจากหน่วยราชการไปใช้ในการเลือกตั้งเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเลือกกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ ตัวแทนครู กรรมการนักเรียน เป็นต้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้มีข้อความที่ระบุให้สามารถเลือกตั้งโดยบัตรหรือวิธีการอื่นตามที่ กกต.กำหนด ถือเป็นการเปิดช่องในการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

แต่ในระดับกฎหมายลูกกลับระบุข้อความที่เป็นเงื่อนผูกให้ยุ่งยาก เช่นจะใช้ได้ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ประหยัดกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า และป้องกันการทุจริตได้ดีกว่าการลงคะแนนแบบเดิม

ซึ่งหากระบุเช่นนี้ คงไม่มีทางได้เห็นการใช้เครื่องในประเทศไทย

จนท.เตรียมบัตรลงคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาในวันที่ 29 ก.ค.2561 / AFP

ส่วนเครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีใช้ในสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศที่มีบัตรเลือกตั้งที่มีความซับซ้อน

เช่น มีการเลือกตั้งหลายประเภทในการเลือกตั้งครั้งเดียว เช่น ฟิลิปปินส์ มีการเลือกประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ส.ส. ส.ว. นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาท้องถิ่นในวันเดียวกัน บัตรเลือกตั้งจึงค่อนข้างยาวและซับซ้อน การนับคะแนนด้วยมือเป็นอุปสรรค จึงให้มีการใช้เครื่องนับคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แทน

ในขณะที่ญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลขนาดบัตรเลือกตั้งเป็นแบบต้องเขียนชื่อผู้สมัครด้วยลายมือ แต่ก็มีเครื่องนับคะแนนที่สามารถอ่านลายมือของผู้ลงคะแนนได้

เรื่องเครื่องนับคะแนน จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของไทย หากจะมีการออกแบบการเลือกตั้งใหม่ ให้รวมการเลือกตั้งหลายประเภทให้สามารถจัดการได้ในวันเดียว ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณ และลดภาระประชาชนในการเดินทางมาใช้สิทธิ์

ที่ทันสมัยล่าสุดคือการเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้สูงสุด เพราะอยู่ที่ไหนก็เลือกตั้งได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง (polling station)

ระบบนี้มีใช้ในบางประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เอสโทเนีย และออสเตรเลีย

โดยผู้ประสงค์จะใช้สิทธิ์ต้องมีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์และจะได้รับรหัสลับที่เป็นส่วนบุคคลในการใช้สิทธิ์

การลงคะแนนเสียงสามารถลงได้ก่อนวันเลือกตั้งและยังสามารถแก้ไขได้จนถึงก่อนการปิดลงคะแนน โดยระบบต้องออกแบบให้มีการรักษาความลับและมีความปลอดภัยจากการถูกแก้ไขจากบุคคลภายนอก

การเข้ารหัส (encrypt) เมื่อลงคะแนน และการถอดรหัส (decrypt) เมื่อจะนับคะแนนของทุกคะแนนเสียงจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่เพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบการเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ตถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ดังนั้น ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่ห่างไกล (remote area) ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือไม่สามารถเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้งด้วยความพิการทางร่างกาย (disable person) หรือกรณีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ในต่างแดน (oversea voters) เป็นต้น

โดยเพียงแค่บุคคลเหล่านั้นมีอุปกรณ์ในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ ก็สามารถลงคะแนนโดยไม่ยาก

ระบบที่รองลงมาจากระบบเต็มคือการออกแบบให้มีการเชื่อมข้อมูลการใช้สิทธิ์เลือกตั้งออนไลน์ (online) โดยผู้เลือกยังต้องเดินทางไปที่หน่วย แต่จะเป็นหน่วยใดก็ได้ในประเทศ เพราะข้อมูลของทุกหน่วยจะเชื่อมโยงถึงกันหมด

กรณีดังกล่าวหากใช้ควบคู่กับเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ยิ่งเป็นผลดี เนื่องจากไม่ต้องมีปัญหาในการพิมพ์บัตรหรือประมาณการว่าหน่วยนี้คนจะมาใช้สิทธิ์มากน้อยเพียงไร

แต่ยังควรต้องมีระบบการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการจัดการ

สำหรับประเทศไทย กกต.ชุดที่ 4 ได้พัฒนาระบบการเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ตสำหรับคนไทยในต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย และวางแผนจะใช้กับการเลือกตั้งครั้งต่อไปสำหรับคนไทยที่จอร์แดน นอร์เวย์ และญี่ปุ่น (เฉพาะโอซาก้าและจังหวัดใกล้เคียง)

แต่ไม่ทราบว่า กกต.ชุดที่ 5 จะเดินต่อในเรื่องนี้หรือไม่ คงต้องรอดู

ข.เทคโนโลยีในการประมวลและรายงานผลการเลือกตั้ง เป็นกระบวนการถัดไปจากการลงคะแนน โดยการใช้เทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยในการทำให้การประมวลผลเป็นไปอย่างถูกต้อง การรายงานผลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการใช้เทคโนโลยี การประมวลผลเป็นการรวมคะแนนด้วยมือหรือเครื่องคิดเลข ตรวจทานด้วยคน ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดและเป็นไปด้วยความล่าช้า การรายงานผลต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เช่น ส่งคนเข้าไปเก็บผลการเลือกตั้งในแต่ละหน่วย ใช้งบประมาณจำนวนมากหากต้องการรายงานในเวลาที่รวดเร็ว

ในปัจจุบันการประมวลผลหรือการรวมคะแนนไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของผู้จัดการเลือกตั้ง เพราะมีความพร้อมในด้านเครื่องมือที่คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของการทำงานที่ทุกคนใช้เป็นและการเขียนโปรแกรมไม่ใช่เรื่องซับซ้อนหรือยาก แม้ว่าโจทย์การเลือกตั้งใหม่ของไทยหมายเลขผู้สมัครของพรรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละเขตก็ตาม การเขียนโปรแกรมก็ยังเป็นสิ่งที่เดินตามหลักการพิสดารนี้ได้โดยไม่ยาก

ส่วนโจทย์เกี่ยวกับการรายงานผล ผู้จัดการเลือกตั้งควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในการรายงานผล โดยให้กรรมการประจำหน่วยมีส่วนในการส่งรายงานคะแนนจากหน่วยผ่านแอพพลิเคชั่น (applications) เพื่อให้เกิดความรวดเร็วถูกต้องในการรายงานซึ่ง กกต.ชุดที่ 4 ได้เคยใช้อย่างได้ผลเป็นที่พอใจในการออกเสียงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 แล้ว

คงต้องรอว่าจะเกิดการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไรใน กกต.ชุดใหม่

ค.การใช้เทคโนโลยีในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้ง โดยหัวใจของการดำเนินการคือการสร้างการรับรู้และให้เขามีส่วนร่วม ถ้าประชาชนรู้และเข้าใจการเลือกตั้ง รู้จักพรรคการเมืองผู้สมัคร จะช่วยให้การลงคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ มิใช่เลือกตามกัน หรือเลือกตามหัวคะแนนบอกมา ถ้าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองก็จะมีส่วนช่วยในการกำกับตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ผู้จัดการเลือกตั้งจึงต้องสร้างช่องทางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับ กกต. สามารถส่งเรื่องราวการทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่รายงานมายังกรรมการการเลือกตั้งที่ทั้งรวดเร็ว ทั้งปลอดภัย และน่าเชื่อถือ เพื่อให้ กกต.ไปจัดการกับคนโกงได้อย่างมีประสิทธิผล

เรื่องราวของการใช้เทคโนโลยีกับการเลือกตั้งยังไม่จบ ยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครและพรรคการเมือง ที่จะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร การรณรงค์หาเสียงสร้างคะแนนนิยมหรือแม้กระทั่งใช้เป็นวิชามารในการทำร้ายคู่แข่ง เช่น การใช้สื่อสังคมต่างๆ (social media)

ซึ่งจะได้นำเสนอให้เห็นว่า ใครจะวิ่งตามใคร ในตอนต่อไป