ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (13)

ในตอนก่อน เราได้ทราบถึงกำเนิด พัฒนาการ และลักษณะของระบบรวมอำนาจการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะหรือรูปแบบยุโรป (European Model) ไปแล้ว

ในตอนนี้จะพิจารณาถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบนี้

ระบบรวมอำนาจการตรวจสอบไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีจุดอ่อนที่ถูกวิจารณ์ได้ในเรื่องที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ดี เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่ระบบศาลที่มีอยู่โดยทั่วไปตามปกติ

ดังนั้น กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงแตกต่างไปจากผู้พิพากษาอาชีพในศาลอื่นๆ

รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศอาจกำหนดองค์ประกอบ ที่มา และคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างกันไป

เช่น ต้องมาจากผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ หรือกระทั่งไม่กำหนดคุณสมบัติใดๆ ไว้เลยดังเช่นประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่ มักกำหนดให้รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชน หรือรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร เป็นผู้เลือก

กระบวนการได้มาในลักษณะดังกล่าวนี้เอง เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเลือกบุคคลที่เป็นฝักฝ่ายเดียวกับตนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้

ยิ่งบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อชีวิตทางการเมืองมากเท่าไร การเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็กลายเป็น “เดิมพัน” อันสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

 

เราอาจสังเกตได้จากประเทศที่พึ่งเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง

ประเทศเหล่านี้ต่างก็รับเอารูปแบบศาลรัฐธรรมนูญที่พัฒนาแล้วในยุโรปตะวันตกไปใช้ในฐานะเป็นองค์กรผู้รับประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และตรวจสอบการใช้อำนาจของเสียงข้างมาก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยสภาพที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากและมีบทบาทสำคัญ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา

เช่น พรรคการเมืองแก่งแย่งแข่งขันกันเข้าครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจขัดขวางการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งชนะการเลือกตั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจของตนเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำหรือปกป้องอุดมการณ์ของรัฐ และต่อต้านเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกเข้ามา เป็นต้น

ความขัดแย้งเหล่านี้อาจลุกลามจนอาจกลายเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่หาทางออกไม่สำเร็จ ก็อาจจบลงด้วยวิธีการอันเลวร้าย เช่น กองทัพก่อรัฐประหาร หรือความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประชาชนจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย

 

นอกจากการเปิดโอกาสให้การเมืองครอบงำศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของระบบรวมอำนาจการตรวจสอบไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คือ ความล่าช้าในการพิจารณาคดี

ในกรณีที่เกิดประเด็นกฎหมายที่จะใช้แก่คดีนั้นมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลในคดีนั้นไม่อาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไม่ได้ แต่ต้องระงับการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งประเด็นนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ศาลแห่งคดีจึงสามารถพิจารณาคดีได้ต่อ

กรณีเช่นนี้ อาจทำให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไป และเปิดโอกาสให้คู่ความใช้ช่องทางนี้ในการประวิงเวลาการตัดสินของศาลได้

ในส่วนของจุดแข็งนั้น ระบบรวมอำนาจไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเอกภาพและเป็นที่สุด

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายนั้นย่อมสิ้นผลไป

นอกจากนี้ การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นการเฉพาะอาจช่วยทำให้ได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ในขณะที่หากให้ศาลทุกศาลมีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีผู้พิพากษาที่ไม่มีความชำนาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ได้ตัดสินคดีรัฐธรรมนูญ

 

ต่อไป เราจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ ทั้งกรณีฝ่ายการเมืองพยายามแข่งขันกันครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจขัดแย้งกับเสียงข้างมากจนกลายเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ

ในโปแลนด์ เมื่อปลายปี 2015 ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 7 ใกล้จะหมดวาระและต้องกลับไปเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม

ปรากฏว่าพรรค Civic Platform ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรรีบฉวยโอกาสชิงการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน โดยมี 3 คน ที่เข้าไปแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปีแล้ว

ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คนนั้น ยังไม่ครบวาระ แต่จะครบวาระ 9 ปี ก็หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนตุลาคม

พรรค Civic Platform อ้างว่า การเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนนี้ได้ดำเนินการตามกฎหมายซึ่งพึ่งแก้ไขเมื่อมิถุนายน 2015 โดยเสียงข้างมากจากพรรค Civic Platform นั่นเอง

กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้สภาชุดที่ 7 เลือกตุลาการที่จะครบวาระ 9 ปี ได้ก่อนที่สภาชุดที่ 7 จะพ้นไป โดยมีเหตุผลเพื่อรับประกันความต่อเนื่องในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ

หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งไป 5 คน และต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 8 เลือก ก็อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบองค์ประชุม จนไม่สามารถพิจารณาคดีได้

 

อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน โดยเสียงข้างมากจากพรรค Civic Platform นี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรค Civic Platform ฉวยโอกาสเพราะคาดว่าตนจะแพ้การเลือกตั้งในเดือนตุลาคมและต้องกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร

พรรคฝ่ายขวา-อนุรักษนิยมซึ่งมีแนวโน้มจะได้เสียงข้างมาก จะกลายเป็นพรรคที่มีโอกาสเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทน

ตรงกันข้าม หากพรรค Civic Platform ทำสำเร็จ เท่ากับว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 14 จาก 15 คนมาจากการเลือกในสมัยที่พรรค Civic Platform เป็นเสียงข้างมาก

หากกล่าวในแง่เหตุผลของอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว ฝักฝ่ายการเมืองที่มีความคิดไปในทางเสรีนิยม ไม่ต้องการให้ฝ่ายขวาอนุรักษนิยมเข้าไปยึดครองศาลรัฐธรรมนูญได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนหันไปนิยมความคิดแบบอนุรักษนิยมมากขึ้น อาจเกิดกรณีที่เสียงข้างมากจากพรรคฝ่ายขวาอนุรักษนิยมตรากฎหมายลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและมีลักษณะถอยหลัง

และศาลรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบไปด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแนวอนุรักษนิยมที่พรรคฝ่ายขวาคัดเลือกเข้ามา ก็ยินยอมปล่อยให้กฎหมายเหล่านี้มีผลใช้บังคับ

เช่นนี้ย่อมอาจเป็นอันตรายต่อระบอบเสรีประชาธิปไตยได้

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีเสียงข้างมากจากพรรค Civic Platform เสนอชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน แล้ว ปรากฏว่าประธานาธิบดีซึ่งมาจากพรรคอนุรักษนิยมได้ขัดขวางทันที โดยไม่ยอมให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่ง

เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 25 ตุลาคม 2015 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคกฎหมายและยุติธรรม (PiS) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา-อนุรักษนิยม ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล

สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 8 เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่ยังค้างอยู่ ด้วยการตรากฎหมายพิเศษกำหนดให้มีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและรองประธานศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วย

กฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2015 จากนั้นประธานาธิบดีก็รีบชิงลงนามประกาศใช้ทันทีในวันรุ่งขึ้น

 

ความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากในสภากับศาลรัฐธรรมนูญปะทุรุนแรงขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสองคดีสำคัญ ได้แก่

คดีแรก วินิจฉัยให้การเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2015 นั้น มีผลสมบูรณ์ 3 คน ไม่สมบูรณ์ 2 คน

ส่วนคดีที่สอง วินิจฉัยให้กฎหมายที่เสียงข้างมากจากพรรคกฎหมายและยุติธรรมให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2015 นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายกรัฐมนตรีประกาศท้าชนกับศาลรัฐธรรมนูญทันทีด้วยการไม่ยอมนำคำวินิจฉัยประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษา เพื่อไม่ให้คำวินิจฉัยมีผล

เมื่อเป็นเช่นนี้ อัยการสูงสุดจึงเดินเรื่อง เตรียมดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายนายกรัฐมนตรียอมถอย และประกาศคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญลงในรัฐกิจจานุเบกษา

 

เสียงข้างมากจากพรรคกฎหมายและการยุติธรรม กลับมาตั้งหลักและท้าชนกับศาลรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งด้วยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น ดังต่อไปนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาคดีเรียงตามลำดับคำร้องที่เข้ามาสู่ศาล ไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่

2. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจถูกดำเนินการทางวินัยได้ภายใต้การจัดการของประธานาธิบดี และรัฐมนตรียุติธรรม

3. องค์ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ คือ 13 จาก 15 และคำวินิจฉัยให้ถือตามมติ 2 ใน 3 ของ 15 (10 เสียงขึ้นไป) จากเดิมที่ใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา

การแก้ไขกฎหมายในสามประเด็นนี้ คือ การลดทอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง

ต่อมา ในเดือนมีนาคม 2016 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญและให้สิ้นผลไป

แต่รัฐบาลก็สู้ต่อด้วยการประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และถือว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายใดๆ

 

การใช้อำนาจตอบโต้กันระหว่างเสียงข้างมากในสภาและรัฐบาลกับศาลรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล

ในขณะที่สหภาพยุโรปได้ลงมติไปแล้วสองครั้งให้รัฐบาลโปแลนด์ยุติการขัดขวางการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบัน

วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงได้อย่างไร

ตอนต่อไป จะกล่าวถึงกรณีตุรกี