เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ทำรายงานกลุ่ม

ก่อนจบการอบรมในหลักสูตร “ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารเมือง” (ผู้นำเมือง รุ่นที่ 1 – ผนม.1) แต่ละกลุ่มต้องรายงานกึ่งวิชาการตามที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มการจราจรและขนส่งมวลชน

2. กลุ่มการจัดการสิ่งแวดล้อม

3. กลุ่มการบริหารจัดการน้ำ

4. กลุ่มการจัดการศึกษา การพัฒนาสังคมและความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน

การจัดแบ่งกลุ่มเริ่มตั้งแต่แรกเข้ารับการอบรม เพื่อประโยชน์ในการไปศึกษาดูงานของแต่ละกลุ่ม และการเดินทางไปต่างประเทศ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) รวมถึงการจัดงานเลี้ยงหลังเลิกการอบรมในแต่ละครั้ง

เมื่อจัดแบ่งกลุ่มแล้ว แต่ละกลุ่มได้ประชุมเพื่อเลือกประธาน รองประธาน เลขานุการ ที่สำคัญขาดไม่ได้คือประธานฝ่ายวิชาการที่ต้องประชุมกลุ่มเพื่อจัดทำรายงาน

การรายงานมิได้เรียงตามลำดับกลุ่ม หากแต่มีการจับสลากเป็นกลุ่มที่ 1 ที่ 2 จนครบ

 

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มชื่อยาว คือการจัดการศึกษา การพัฒนาสังคมและความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่จัดทำรายงานเฉพาะเรื่องการจัดการศึกษาในหัวข้อการศึกษาส่วนท้องถิ่น เพราะการศึกษาส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อประเทศ

ผู้อภิปรายขึ้นบนเวที 4 คน บรรยายความสำคัญและความเป็นไปของระบบการศึกษาไทย หยิบยกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และการบริการการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งเพิ่งปรับเปลี่ยนจากเดิมคือจากการแบ่งเขตการศึกษากลับไปเป็นให้อำนาจการบริหารการศึกษาแก่ศึกษาธิการจังหวัดตามเดิม

ขณะที่การศึกษาส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญ ควรจะมอบหมายให้ท้องถิ่นนำไปจัดการเอง ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการ เช่น ในหลายองค์การบริหารส่วนตำบลรับเอาโรงเรียนขนาดเล็กไปจัดการบริหาร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารจัดการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา คือโรงเรียนเทศบาลได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในเขตนั้น

ด้วยเหตุที่องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายแห่งจัดเก็บภาษีได้มากพอที่จะจัดบริหารการศึกษาให้กับประชาชนในจังหวัดนั้นได้ดีกว่าส่วนกลางคือกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ถึงวันนี้ รัฐบาลคือกระทรวงศึกษาธิการยังไม่ยอมปล่อยให้องค์การบริหารท้องถิ่นจัดการศึกษาได้เอง ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

 

กลุ่มต่อมาเป็นเรื่องการจราจรและขนส่งมวลชนส่วนใหญ่เป็นการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเรื่องของรถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะ ขณะที่หลายจังหวัดต้องการจัดเรื่องการขนส่งมวลชนเนื่องจากการจราจรแออัดขึ้น เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ขณะที่เรื่องของการจราจร มีข้อเสนอแนะให้นำการจราจรมาเป็นภารกิจขององค์การบริหารท้องถิ่น เช่น ที่กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการตามแนวความคิดที่ว่า ให้องค์การบริหารท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานครนำระบบการจราจรมาบริหารเอง ไม่ใช่การโอนย้ายตำรวจจราจรมา

เช่นเดียวกับการดับเพลิงที่โอนสถานีตำรวจดับเพลิงมาขึ้นกับกรุงเทพมหานคร เป็นสถานีบรรเทาสาธารณภัย

ซึ่งในส่วนการบริหารท้องถิ่นกิจการดับเพลิงเป็นของเทศบาล

 

กลุ่มต่อมาเป็นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เจ้าของเรื่องแสดงทัศนะเกี่ยวกับสภาพสวนธารณะและพื้นที่สาธารณะในเมืองว่าควรมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมในสังคมเมืองและสังคมชนบท เช่น การจัดการขยะ การนำขยะมาแปรประโยชน์เป็นพลังงาน ดังกรณีที่ภูเก็ต นำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า แม้เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่สามารถจัดการกับขยะที่เพิ่มปริมาณในวันหนึ่งได้ไม่น้อย

สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญของสังคมเมือง มีทั้งความสำคัญและความสัมพันธ์กับสังคมเมืองที่ขยายตัวออกไปมากขึ้น ทั้งยังในแต่ละเมืองมีโอกาสเชื่อมโยงถึงกันและกัน วันนี้ประเทศไทยแทบว่าจะไม่มีสังคมชนบท เนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนได้รับการศึกษาและศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีโอกาสเรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อมของโลกด้วย

ดังนั้น การที่เมืองแต่ละแห่งจะจัดการกับสิ่งแวดล้อมจึงมีการตื่นตัวมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีคือจังหวัดยะลา มีการจัดเก็บขยะและรักษาสภาพสาธารณะของตัวจังหวัดให้สะอาดได้ดี เป็นตัวอย่างมานานนับสิบปี

 

รายงานกลุ่มสุดท้าย คือการบริหารจัดการน้ำ

จากรายงานในสามกลุ่มแรกเป็นเรื่องที่สืบต่อจากอดีตสู่ปัจจุบันและมุ่งไปในอนาคต แต่รายงานของกลุ่มนี้เป็นปัจจุบันซึ่งเพิ่งผ่านไปหมาดๆ

ผู้บรรยายไม่พูดพล่ามทำเพลง ยกตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ คือ คุณวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด ผู้พิชิตน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ให้อำเภอปากเกร็ดส่วนใหญ่รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม ลดความเสียหายให้กับชาวเมืองปากเกร็ดได้มากทีเดียว

นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ดเริ่มด้วยการวางแผนเมื่อทราบว่าน้ำเหนือเริ่มหลากลงมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะผ่านเข้าจังหวัดปทุมธานี และจะถึงอำเภอปากเกร็ด นนทบุรี ในอีกไม่นาน

ประการสำคัญคือ คุณวิชัยเรียกประชุมชาวปากเกร็ด บอกถึงสถานการณ์ของปริมาณน้ำและภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นกับเทศบาลนครปากเกร็ดแน่นอน ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ผลการประชุมเตรียมตัวรับกับน้ำท่วมคือผู้ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต้องยอมปล่อยให้น้ำท่วมโดยมีการป้องกันเท่าที่จำเป็น แต่การป้องกันส่วนใหญ่คือไม่ให้น้ำท่วมเข้ามาในเมือง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้า ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันจัดกระสอบทรายวางเป็นแนวกั้นน้ำท่วมตลอดริมแม่น้ำ และเริ่มลดปริมาณน้ำในคูคลองรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาท่วมเมือง กระทั่งป้องกันน้ำท่วมและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้มาก

ผลของการประชุมเพื่อการมีส่วนร่วมของชาวปากเกร็ด และความร่วมมือ การเสียสละครั้งนี้ เป็นเหตุให้ภาวะน้ำท่วมปี 2554 ที่นครปากเกร็ดจึงอยู่ในข่ายปลอดภัย ใครต้องการศึกษาเรื่องนี้ติดต่อไปได้ครับ