ที่ประชาชนเลือก คือ ไม่เลือกนักการเมือง?

แม้ผู้มีอำนาจยังย้ำว่า การเมืองจะเดินไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ คือ กลับคืนสู่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

โดยที่ยืนยันไว้คร่าวๆ คือ จะมีการเลือกตั้งทั่วไปปลายปี 2560 และหลังจากนั้นอำนาจรัฐจะกลับสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพียงแต่ยังไม่แน่ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคการเมือง หรือมาจากคนนอกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถเข้ามาเป็นได้ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

เป็นสัญญาณว่ากองทัพจะปล่อยมือจากอำนาจให้ประชาชนเลือกกันเอาเองว่า จะให้ใครมาเป็นคณะผู้บริหารประเทศ

มองเผินๆ เหมือนว่ารัฐบาลจะกลับสู่นักการเมือง โดยพรรคการเมืองจะเข้ามาเป็นสถาบันที่มีบทบาท

แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดอย่างเกาะติดความเป็นไป อาจจะสัมผัสได้ถึงบางแง่บางมุมที่สะท้อนความเป็นไปบางอย่างที่มีนัยยะชี้ทิศบอกทางการเมืองในอนาคตอยู่ไม่น้อยใน 2 เรื่อง

 

หนึ่ง นักการเมืองยังดิ้นไม่หลุดจากภาพลักษณ์ที่ตกต่ำ

ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่พลิกตัวขึ้นมาได้จากความหวาดระแวงของประชาชน

นักการเมืองยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เพียงขาดความรู้ความสามารถ

ยังเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม เป็นความเลวร้ายของการอยู่ร่วมกันในสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

ที่สำคัญคือยังไม่มีนักการเมืองคนไหน หรือใครลุกขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขศรัทธาประชาชนให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย

 

สอง ภาพลักษณ์ของผู้มีอำนาจที่มาจากกองทัพ ที่ก่อนหน้านั้นเชื่อกันว่ายึดอำนาจเข้ามาได้ แต่การจะอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องยาก ถึงวันนี้กลับกลายเป็นนับวันผู้นำประเทศที่มาจากกองทัพจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่กระแสชาตินิยมพุ่งสูง ภาพลักษณ์ที่เชื่อว่าvยากประคับประคองอำนาจกลับสร้างกระแสไปอีกทาง

ถ้าถามว่าหากเลือกตั้งกันวันนี้ แล้วถึงช่วงที่จะต้องเลือกผู้นำประเทศ

เชื่อว่าไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่จะแฮปปี้นักกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

 

อย่างผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” ที่ถามถึงสิ่งที่ประชาชนเชื่อใจในรัฐบาลชุดนี้ ร้อยละ 74.36 บอกว่าเชื่อใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 72.57 เชื่อในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จัดระเบียบสังคม

ที่สำคัญคือมีมากถึงร้อยละ 61.85 ที่เชื่อมั่นเพราะเป็นรัฐบาลทหาร ไม่มีนักการเมืองเข้าร่วม

หากเป็นผลโพลที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ย่อมหมายความว่า ภาพลักษณ์ของนักการเมืองกลายเป็นความย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่ไม่มีนักการเมืองเข้าร่วมจึงได้รับความเชื่อมั่นถึงเพียงนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแม็ป แต่ที่ชวนติดตามอยู่ที่ ระหว่างนักการเมืองทั่วไป กับทหาร หรือนักการเมืองที่ประกาศชัดว่าพร้อมที่จะให้อำนาจกับคนในกองทัพ ประชาชนจะเลือกใคร

คำตอบนั้นเชื่อว่านักการเมืองทุกคนรู้ดี ยิ่งในกระแสความรักชาติท่วมทวีเช่นนี้ ยิ่งทำให้น้ำหนักของความคิดที่ว่า “ที่สุดแล้วประชาชนจะเลือกทหาร ไม่เลือกนักการเมือง” มีความเป็นไปได้สูงขึ้นเรื่อยๆ

ไทยจะเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบ “ประชาชนส่วนใหญ่เลือกทหารขึ้นมามีอำนาจ ไม่เลือกนักการเมือง”