คำเตือนถึงเมืองฟ้าอมร กำลังจมดิ่งสู่บาดาล

ฝนฟ้ากระหน่ำลงมาหนักบ้างเบาบ้างตามธรรมชาติสภาวะของหน้าฝน ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

หลายจังหวัดของไทยจมน้ำไปหลายสิบเซนติเมตร

ส่วนกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรของคนไทย ก็ตกอยู่ในอาการ “สำลักน้ำ” เป็นพักๆ ตามฟ้าฝนไปด้วย

ตกหนักขึ้นมาเมื่อใด เกิดน้ำขังรอระบายตามมา รถราเป็นอันติดหนึบเป็นบ้าเป็นหลังขึ้นมาเมื่อนั้น

น่าสนใจที่ว่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดสภาพดังกล่าวเมื่อหลายวันที่ผ่านมานั้น กรุงเทพฯ กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (ยูเอ็นเอฟซีซีซี)

ทั้งการประชุมย่อยขององค์คณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เอสบีเอสทีเอ)

และการประชุมคณะทำงานชั่วคราวว่าด้วยความตกลงปารีส (เอพีเอ)

ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีซี) ที่ถนนราชดำเนินนอก ระหว่างวันที่ 4-9 กันยายนนี้

ป่านนี้ตัวแทนของนานาชาติที่เข้าร่วมประชุมคงซาบซึ้งใจเป็นอย่างดีว่า อาการกรุงเทพฯ สำลักน้ำน่ะเป็นอย่างไร

 

โซฟี เดอวิลเยร์ แห่งเอเอฟพี ให้ข้อมูลเอาไว้เมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมาว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุม “เตรียมการ” สำหรับการประชุมยูเอ็นเอฟซีซีซีระดับ “สุดยอด” คือระดับผู้นำประเทศที่จะมีขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ในตอนสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นการถกระดับโลกที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง

เพราะจะเป็นการ “กำหนดกฎเกณฑ์” ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการให้ความช่วยเหลือของประเทศที่ลงนามในความตกลงสำคัญดังกล่าว

เดอวิลเยร์ให้ความเห็นต่อเอาไว้ว่า “ขณะที่อุณหภูมิ (โลก) กำลังเพิ่มขึ้น, ภาวะอากาศผิดปกติ อย่างเช่นพายุไซโคลนรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนหรือสภาพฝนตกหนักยิ่งกว่าฟ้ารั่ว รวมทั้งภาวะแล้งรุนแรงหรืออุทกภัยสาหัส ได้รับการคาดหมายว่าจะยิ่งหนักหน่วงมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป จะกลายเป็นแรงกดดันให้บรรดารัฐบาลทั้งหลายไม่เพียงแค่ไทยเราเท่านั้นยิ่งต้องการให้สนธิสัญญาปารีส 2015 “มีชีวิต” ขึ้นมาจริงๆ มากขึ้นเท่านั้น

ก่อนขยายความต่อว่า กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างอยู่บนที่ราบลุ่ม สูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งใน “เขตเมือง” ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลก “หนักที่สุด” ของโลก เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในเอเชียอย่างจาการ์ตา และมะนิลา

รายงานของธนาคารโลกระบุเอาไว้ว่า ราวต้นปี 2030 “เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์” ของกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำ เพราะภาวะฝนตกหนักระดับ “เอ็กซ์ตรีม” และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศ

เดอวิลเยร์บอกข้อมูลจากกรีนพีซ องค์กรเอกชนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลกไว้ด้วยว่า ทุกวันนี้เมืองหลวงของไทยก็ “จมลงเรื่อยๆ” ปีละ 2 เซนติเมตร ทำให้เสี่ยงต่อการเกิด “มหาอุทกภัย” ขึ้นในอนาคต

ในช่วงเวลาเดียวกัน ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยก็เพิ่มสูงขึ้นปีละ 6 เซนติเมตรทุกปี เป็นระดับการเพิ่มสูงขึ้นที่ “สูงกว่าระดับการเพิ่มเฉลี่ยของระดับน้ำทะเลทั่วโลก”

 

ธารา บัวคำศรี แห่งกรีนพีซ บอกผ่านเดอวิลเยร์ว่า ในเวลานี้กรุงเทพฯ ก็จัดว่า “อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล” ไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกตรงกันว่า การกลายสภาพเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ กับการกัดเซาะพังทลายของชายฝั่ง ทำให้ “เมืองกรุง” และ “คนกรุง” เผชิญกับ “ภาวะวิกฤต” มากขึ้นเท่านั้น

น้ำหนักของตึกระฟ้าที่ผุดขึ้นมาต่อเนื่อง มากขึ้นเรื่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการจมลงเรื่อยๆ ของกรุงเทพมหานคร

 

ศุภกร ชินวรรโณ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของจุฬาฯ ชี้ว่า การถมลำคลองที่เคยมีมากมายใช้เป็นทั้งเส้นทางสัญจรและใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำตามธรรมชาติเพื่อตัดถนนคอนกรีตเป็นเครือข่ายเหมือนใยแมงมุม ยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก

“เวนิสตะวันออก” ในอดีตจึงกำลังจะกลายเป็น “เมืองบาดาล” มากขึ้นและมากขึ้นทุกที

ป่าชายเลนที่ธรรมชาติจัดสรรไว้ให้เป็นแนวป้องกัน “สตอร์มเสิร์จ” หรือที่นักวิชาการเรียกว่า “คลื่นพายุซัดฝั่ง” ก็กลายเป็นฟาร์มกุ้ง และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ศุภกรบอกว่า ทั้งหมดนั้นทำให้กรุงเทพฯ เหมือนถูกกักไว้ตรงกลาง คอยรองรับทั้งน้ำหลากบ่ามาจากทางเหนือในหน้ามรสุม และน้ำที่เอ่อท้นจากการหนุนของน้ำทะเลเข้ามาจากทางใต้ ก่อนตบท้ายว่า

ผู้ชำนัญพิเศษคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้พายุที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จะยิ่งมีปริมาณมากขึ้นและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

นี่แหละครับกรุงเทพฯ ของเรา เมืองที่ตกเป็นเหยื่อการพัฒนาแบบไร้ทิศทางและไม่บันยะบันยังของตัวเองครับ