15 กันยายน 2561 “วันศิลป์ พีระศรี” 126 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

หลังแต่งงานกับ Fanni Vivani จนมีบุตรสาว อิสเบลลา (Isbela Vivani)อายุ 1 ขวบ Prof.Corrado Ferroci ในวัย 31 ปีได้ออกเดินทางจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (Florence-Italy) มายังประเทศไทยพร้อมภรรยาสาว และลูกน้อยถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2466

เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง

เป็นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ได้รับเงินเดือน 800 บาท ค่าเช่าบ้าน 80 บาท

แต่ก็พอจับจ่ายใช้สอยได้อยู่ในสมัยนั้น

 

อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ (เสียชีวิต) อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนไว้ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ท่อนหนึ่งว่า

“–ในปี พ.ศ.2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ศิลป์ก็ยังดำรงตำแหน่งอาจารย์ ช่างปั้น และเป็นผู้บริหารโรงเรียนศิลปากร (แผนกช่าง) ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นความสำคัญของโรงเรียนนี้ โดยตัวท่านนายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้มาดูกิจการ และซักถามถึงความเป็นมาจากท่านศาสตราจารย์ด้วยตนเองจึงได้ให้ปรับปรุงหลักสูตร และประกาศพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2486–”

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามายังประเทศไทยเป็นเวลา 20 ปี ได้เป็นผู้วางรากฐานกระทั่งสถาปนาเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ท่านได้ทุ่มเทกำลังกายจิตวิญญาณ ทุกสิ่งอย่างให้กับการเรียนการสอนวิชาทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ฯลฯ “ศิลปะร่วมสมัย” โดยเฉพาะงานประติมากรรม

ท่านเป็นอาจารย์ที่รักและห่วงใยศิษย์ทุกคน ซึ่งศิษย์ก็เช่นกันที่รักและเทิดทูนอาจารย์เป็นอย่างยิ่งจากหัวใจ เสียดายท่านปลุกปั้นสั่งสอนศิษย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เพียงแค่ 20 ปี มีอันต้อง “เสียชีวิต” ลงอย่างไม่น่าเป็นไปได้ เรียกว่าแทบไม่มีใครเชื่อเมื่อได้กลับไปอ่านเรื่องราวการเจ็บป่วย และเข้ารับการผ่าตัดรักษา

ท่านจึงจากไปในวัย 70 ปีเท่านั้น

 

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เกิดวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (Florence-Italy) ซึ่งลูกศิษย์ชาวศิลปากรที่ได้ศึกษา ได้สัมผัสกับอาจารย์โดยตรงขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ มักเรียกท่านว่า “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์” ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ

ไข่มุกด์ ชูโต (ประติมากร-เสียชีวิต) ลูกศิษย์รุ่นท้ายๆ ของท่าน เขียนเล่าเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลศิริราชในค่ำคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ไว้ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ตอนหนึ่งว่า

“–ที่หน้าห้องของอาจารย์มีเราเพียงสองคนเท่านั้นที่ร่วมรู้เห็นในเหตุการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ คุณมาลินีบีบมือทั้งสองข้างของเธอแน่นจนขาวซีดซุกไว้ใต้คางซึ่งแหงนเงย เปลือกตาปิดสนิท หน้าผาก จมูก ปาก และผมที่สยายยาว มองจากด้าน Profile นั้นรับกันหมดจากเรือนร่างที่ระหง ฉันเห็นอาการหายใจเหมือนจะขาดอยู่รอนๆ ทำให้ฉันนึกถึงโจน ออฟ อาร์ก คงจะมีความรู้สึกเช่นนี้ในขณะที่ถูกจับเผาทั้งเป็น และไฟเริ่มจะลามเลียมาถึงตัว

อนิจจา…เธอเพิ่งแต่งงานกับอาจารย์ได้ไม่กี่ปีมานี้เอง

เราทั้งสองคงจะมีความคิดตรงกันว่า อาจารย์คงจะมีลมหายใจอยู่เพียงน้อยนิดแล้ว แพทย์สองสามคนวิ่งผ่านเข้าไปก็ไม่ทำให้จิตใจของเรากระเตื้องขึ้นได้เท่าใดนัก หมออาจจะมาสายเกินไปก็ได้ เจ้าประคู้น ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงดลบันดาลให้หมอและพยาบาลช่วยชีวิตอาจารย์ไว้ทันสักครั้งเถิด ฉันจะไม่ขออะไรอีก

เวลาผ่านไปในความรู้สึกของฉันมันนานชั่วกัปชั่วกัลป์ทีเดียว นายแพทย์คนหนึ่งเปิดประตูออกมา ทั้งคุณมาลินีและฉันถลันไปที่ประตูทันที เขาเปิดประตูกว้างและหลีกทางให้เราทั้งสองคนผ่านเข้าไปข้างในด้วยท่าทีที่ไม่เหมือนหมอในหนังโทรทัศน์ของไทย เขาพูดเบาๆ ว่า—

หมดลมแล้วครับ ผมเสียใจ เราพยายามเต็มที่แล้ว–“?

 

นิพนธ์ ขำวิไล (เสียชีวิต) บรรณาธิการหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” เขียนไว้ท้ายเล่มอีกตอนหนึ่งเช่นเดียวกันว่า

“–พุทธศักราช 2466 ฝรั่งชาวอิตาเลียน 3 คน พ่อ แม่ ลูกสาว ลงเรือเดินสมุทรจากท่าเรือเมืองเจนัวมาประเทศสยาม– 39 ปีต่อมา คอร์ราโด เฟโรจี ผู้เป็นพ่อทิ้งเถ้าถ่านธุลีของร่างกายไว้ในแผ่นดิน แผ่นน้ำของสยามประเทศ แฟนนี ผู้เป็นแม่สิ้นชีวิตที่บ้านในนครฟลอเรนซ์ เมื่อต้นปีพุทธศักราช 2532 ท่านมีอายุยืนยาวถึง 96 ปี อิสเบลลา ลูกสาวแต่งงานมีลูกหลานตั้งครอบครัวอยู่ที่เมืองมิลาน เธอและสามีเคยกลับมาเยี่ยมห้องทำงานและอนุสาวรีย์ของพ่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อพุทธศักราช 2530 ลูกชายชื่อ โรมาโน เกิดในประเทศสยาม เป็นศาสตราจารย์ทางสถาปัตยกรรม อยู่ดูแลแม่ที่เมืองฟลอเรนซ์จนวันสิ้นชีวิต ก่อนนั้นเขาและซิลเวียลูกสาวเป็นตัวแทนของแม่ผู้ชราภาพ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งพระองค์เสด็จเยือนยังเมืองฟลอเรนซ์ ในปีพุทธศักราช 2531–”

บ้านหลังแรกที่ทางราชการได้เช่าให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พำนักเมื่อแรกเดินทางเข้ามาเมืองไทย พ.ศ.2466 นั้น ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ราชการ เป็นสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งกรุงเทพฯ ได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์ เปิดเป็นร้านกาแฟชื่อ “บ้านอาจารย์ฝรั่ง” เมื่อปี พ.ศ.2559

ตกแต่งได้บรรยากาศศิลปะ เป็นอาคารประวัติศาสตร์ สามารถจินตนาการถึงเรื่องราวของอาจารย์ฝรั่ง

และเล่ากันว่า โรมาโนบุตรชายคนเล็กของท่านถือกำเนิดที่บ้านหลังนี้ กาแฟรสชาติหอมหวนชวนชิมพร้อมอาร์ต แกลเลอรี่ (Arts Gallery) จิบกาแฟในบรรยากาศของศิลปะยามบ่ายๆ ไม่เลวเลย

 

มาถึงเรื่องที่ต้องเขียนบอกกล่าว คือ “งานวันศิลป์ พีระศรี” (Silpa Bhirasri Day) วันที่ 15 กันยายน เป็นวันเกิดของท่าน ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเจ้าภาพดำเนินการติดต่อกันตลอดมาทุกๆ ปี จนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปสำหรับ “ศิษย์เก่าศิลปากร” ณ ลานอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ บริเวณคณะจิตรกรรม ประติมากรรมฯ

โดยจะมีพิธีทางศาสนา และสักการะอนุสาวรีย์ เพื่อรำลึกนึกถึงอาจารย์ผู้มีพระคุณต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมถึงวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และต่อด้วยรายการปาฐกถาพิเศษ นิทรรศการศิลปะ และการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ รวมทั้งงานรื่นเริงในบรรยากาศเก่าๆ ของชาวหน้าพระลาน

แต่งาน “วันศิลป์ พีระศรี” ได้ย้ายไปจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม มาอย่างน้อย 2 ปีแล้ว ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องย้ายสถานที่จัดงานเพราะเหตุว่ามหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งได้งบประมาณมาทำการปรับปรุงซ่อมแซม (Renovate) ยังก่อสร้างไม่เสร็จทั้งๆ ที่เวลาผ่านเลยมาเกินกว่า 2 ปี นักศึกษาที่เรียนอยู่ที่นี่ต้องไปเช่าตึกเอกชนเพื่อใช้เรียนกัน จึงไม่มีพื้นที่สำหรับจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี”

แต่นักศึกษาเก่าๆ ศิษย์เก่าจำนวนมากไม่เดินทางไปยังจังหวัดนครปฐม โดยบอกว่ามันมีความรู้สึกว่าขาดจิตวิญญาณ ไม่มีบรรยากาศเก่าๆ ที่จะได้รำลึกนึกถึง “อาจารย์ฝรั่ง”

 

สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ สถาปัตย์, โบราณคดี, มัณฑนศิลป์ และคณะดุริยางศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ (กรมศิลปากร) และหอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อ) ร่วมกันจัดงานขึ้น ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เหมือนเดิม โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

มีพิธีวางช่อดอกไม้ ณ ลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ทำบุญอัฐิอุทิศส่วนกุศล สักการะอัฐิอาจารย์ รับประทานอาหารร่วมกัน การบรรเลงดนตรีของชาวศิลปากร ฟังเพลงไพเราะ ตามแบบต้นฉบับของชาวศิลปากร พบปะสังสรรค์สนทนากันตามอัธยาศัย และมีพิธีจุดเทียน ร่วมร้องเพลง Santa Lucia บริเวณหน้าห้องอดีตคณบดีประติมากรรม (ห้องอาจารย์ศิลป์)

วันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2561 พบกันที่ลานอนุสาวรีย์ โรงหล่อ “วังท่าพระ” เหมือนเดิม