รู้จัก ‘โบโก ฮาราม’ เข้าใจ ‘ไนจีเรีย’

คุยกับทูต อาห์เมด นูฮู บามัลลี ไทย-ไนจีเรีย กับความร่วมมือข้ามภูมิภาค (3)

หลายคนคงจำได้ดีว่า มีกลุ่มก่อการร้ายในไนจีเรียก่อคดีสุดแสนอุกอาจและป่าเถื่อนที่สุด ด้วยการบุกไปลักพาตัวเด็กนักเรียนมัธยมหญิงชาวไนจีเรียเกือบสามร้อยคนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองชีบ็อก (Chibok) ตอนเหนือของประเทศเมื่อกลางเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2014 เพื่อลงโทษที่พวกเธอบังอาจไปเรียนหนังสือ ซึ่งถือเป็นบาปมหันต์ในสายตาของมุสลิมสุดโต่ง

ทำให้ชื่อของ “โบโก ฮาราม” (Boko Haram) โด่งดังไปทั่วโลก

โบโก ฮาราม ยอมปล่อยตัวนักเรียนหญิง ที่ถูกลักพาตัวไปบางส่วน

และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนักเรียนหญิงอีก 110 คนหายตัวไป ภายหลังกลุ่มอิสลามิสต์โบโกฮารามโจมตีโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อหลายวันก่อนหน้านี้

ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม รัฐบาลไนจีเรียเปิดเผยว่า นักเรียนหญิงส่วนหนึ่งได้รับการปล่อยตัว

แต่มีบางคนเสียชีวิตระหว่างการลักพาตัวและบางคนก็ยังถูกจับตัวอยู่

ถือเป็นการโจมตีโดยพวกนักรบญิฮาดครั้งเลวร้ายที่สุด นับแต่ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ขึ้นสู่อำนาจ

โดยอิสลามิสต์กลุ่มนี้มักเลือกเป้าโจมตีโรงเรียนที่สอนหลักสูตรทางโลก ตามหลักการที่พวกเขาใช้ตั้งเป็นชื่อโบโก ฮาราม

ซึ่งแปลว่า “การศึกษาแบบตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้าม”

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้คนหวนระลึกถึงการลักพาตัวนักเรียนหญิงเกือบสามร้อยคนจากโรงเรียนในเมืองชีบ็อค เมื่อปี ค.ศ.2014 ซึ่งผ่านมาร่วม 4 ปี ก็ยังไม่ทราบชะตากรรมเด็กสาวอีกกว่า 100 คนแม้จะมีบางคนที่หลบหนีออกมาได้

ชื่อของกลุ่มติดอาวุธโบโก ฮาราม จึงแพร่หลายไปทั่วในฐานะเป็นกลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่ใช้ความรุนแรง เพื่อสถาปนารัฐอิสลาม (Islamic State) ที่ปกครองภายใต้กฎหมายอิสลาม (Sharia Law) ทั้งๆ ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจากเผ่าฮัวซา (Hausa) ในรัฐบอร์โน (Borno) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย

มีเป้าหมายหลักมุ่งต่อต้านชาวคริสต์และอารยธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลอย่างแพร่หลายในประเทศ ตลอดจนปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย และเนื่องจากความขัดสนและยากจนที่แอฟริกากำลังประสบอยู่ ทำให้มักเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้าย

โมฮัมหมัด ยูซุฟ (Mohammed Yusuf) นักเทศน์ของศาสนาอิสลามที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายในรัฐบอร์โน ได้ก่อตั้งกลุ่มโบโก ฮาราม “แนวร่วมประชาชนเพื่อแบบแผนแห่งการเป็นสาวกทางวัฒนธรรมและญิฮัด” เมื่อปี ค.ศ.2002 และได้ปลูกฝังความต้องการก่อตั้งรัฐอิสลามทางภาคเหนือโดยสันติวิธี ไม่ได้เริ่มการเคลื่อนไหวด้วยการใช้ความรุนแรงในทันทีทันใด

หากเริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในการบริหารบ้านเมือง จนได้รับความนิยมจากชาวบ้านที่ยากจนในรัฐบอร์โนและรัฐเพื่อนบ้านทั้งชาดและแคเมอรูน

ต่อมา ได้เกิดความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างกลุ่มโบโก ฮาราม และตำรวจในปี ค.ศ.2009 เมื่อสมาชิกจำนวนหนึ่งของกลุ่มนี้เสียชีวิต

มูฮัมมัด ยูซุฟ จึงเลือกวิธีการตอบโต้อย่างรวดเร็ว ด้วยอาวุธและทำลายอาคารต่างๆ ของรัฐแต่ก็ถูกฝ่ายรัฐบาลตอบโต้อย่างรุนแรง ในที่สุด ยูซุฟถูกทางการจับกุมและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อบูบาการ์ เชเกา ขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มโบโก ฮาราม คนใหม่ ที่ใช้วิธีรุนแรง เหี้ยมโหด อุกอาจ เริ่มจากลักพาตัวและสังหารชาวตะวันตก จากนั้นได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มโบโก ฮาราม ซึ่งมีฉายาว่า “อัลกออิดะห์แห่งแอฟริกาตะวันตก” ได้กล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุวินาศกรรมครั้งสำคัญหลายครั้งภายในประเทศไนจีเรีย

กลุ่มนี้ได้สังหารชีวิตผู้คน แล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 คนและมากกว่า 2.6 ล้านคนไร้ที่อยู่

นายอาห์เมด นูฮู บามัลลี (H.E. Mr. Ahmed Nuhu Bamalli) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า

“โบโก ฮาราม เป็นขบวนการของกลุ่มคนที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไนจีเรียโดยอ้างชื่อศาสนาอิสลาม การนับถือศาสนาของกลุ่มโบโก ฮาราม มีการปฏิบัติในลักษณะที่ต่างไปจากคำสอนและการปฏิบัติของอิสลามในภาคเหนือของไนจีเรีย ซึ่งผู้คนจากภูมิภาคนั้นยอมรับการศึกษาแบบตะวันตกในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา”

“ดังนั้น จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับใครก็ตามในวันนี้ที่ออกมาบอกว่า การศึกษาตามแบบตะวันตกเป็นสิ่งต้องห้าม”

“อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่น่าตระหนกตกใจ ที่มีผู้ออกมาแนะนำวิธีการปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม แนวใหม่ด้วยมุมมองที่รุนแรงและคำสอนที่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้คนในรัฐบอร์โน (Borno) ได้ปฏิบัติมานานกว่า 1000 ปีแล้ว”

“นอกจากนี้ การรายงานข่าวของสื่อจากสำนักข่าวต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการรายงานข่าวทั้งที่เกินความเป็นจริง คลาดเคลื่อน หรือเป็นข่าวเท็จ”

“ดังตัวอย่าง สื่อในประเทศและต่างประเทศรายงานข่าวว่า ชาวมุสลิมเข่นฆ่าชาวคริสเตียน ต่อมาก็ได้รับการพิสูจน์ว่า ผิดพลาด เพราะคนส่วนใหญ่ที่ถูกสังหารโดยโบโก ฮาราม เป็นชาวมุสลิม”

“อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของประธานาธิบดีไนจีเรียคนปัจจุบันคือ นายมูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการเรียกคืนพื้นที่ที่มีภัยคุกคามซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงมากกว่า 800 กิโลเมตร โดยกองกำลังความมั่นคงของไนจีเรียสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกโบโก ฮาราม ครอบครองคืนกลับมาได้สำเร็จ”

“ในปัจจุบัน จึงไม่มีพื้นที่ใดตกอยู่ภายใต้การควบคุมของโบโก ฮาราม สมาชิกของโบโก ฮารามถูกจับกุม บางคนถูกทหารสังหารในสนามรบ และทหารยังคงตามไล่ล่าผู้ที่หลบหนี”

“แม้ว่ากลุ่มโบโก ฮารามจะพยายามโจมตีสถานที่ต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ แต่โดยทั่วไปในวันนี้กลุ่มโบโก ฮารามได้ถูกทหารปราบปรามและลดระดับลงไปมากแล้ว”

จากตัวเลขระบุว่าทั้งประเทศมีผู้พลัดถิ่นมากถึง 1.7 ล้านคน และรัฐบาลไนจีเรียเองก็ได้ประกาศชัยชนะที่กองทัพมีต่อกลุ่มก่อการร้าย

“ครอบครัวในค่ายพักพิงของผู้พลัดถิ่นซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลไนจีเรีย ก็เริ่มกลับคืนสู่ชุมชนของตน เนื่องจากการเสริมสร้างสันติภาพแบบบูรณาการ”

ถึงแม้เศรษฐกิจของไนจีเรียจะมีการเติบโตที่ค่อนข้างมาก และมีหลายปัจจัยเกื้อหนุนให้ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

นอกเหนือจากกลุ่มก่อการร้ายและการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศแล้ว

ภาวะความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ความแตกต่างทางศาสนา

ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี ผู้นำไนจีเรีย ( REUTERS- Afolabi Sotunde)

ความหลากหลายชาติพันธุ์ของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ภูมิหลัง อัตลักษณ์ ภาษากว่า 550 ภาษา จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีประชากรที่ยากจนจำนวนมากที่สุดในทวีปแอฟริกาและอัตราการว่างงานที่สูงมาก

ถือเป็นปัญหาหรือข้อจำกัด และอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไนจีเรียมาอย่างยาวนาน

สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไนจีเรียกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการรักษาความเป็นเอกภาพทางสังคมและเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเต็มไปด้วยความซับซ้อนและมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น แม้ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี จะให้สัญญาแก่ประชาชนก็ตาม