บทวิเคราะห์การเมืองไทยล้ำลึก! : ไม่สยบ คือ ‘ศัตรู’

มีสัญญาณแปร่งแปลกทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องแรกคือ ป.ป.ช.ที่เป็น “สิงห์ปืนฝืด” มานาน อยู่ดีๆ ก็ขุดคดี “396 โรงพัก” มาเล่นงาน “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

ตามมาด้วยเรื่องการจำนองที่ดินเกาะสมุย 25 ล้านบาท

ทั้งที่เรื่องแรกใส่ตุ่มฝังดินมายาวนานเพราะเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ก่อนคดีจำนำข้าวยุค “ยิ่งลักษณ์” เสียอีก

แต่อยู่ดีๆ ก็ขุดดินทุบตุ่ม เอาคดีนี้มาเล่น

เรื่องที่สอง “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” หรือ “แรมโบ้อีสาน” ออกมาชนผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย

หอบหลักฐานการเก็บบัตรประชาชนไปเพื่อทำบัตรสมาชิกพรรคและพาไปเที่ยวต่างจังหวัด

เล่นแรงถึงขั้นยื่น กกต.ให้ยุบพรรคภูมิใจไทย

“สุภรณ์” นั้นเป็นอดีตแกนนำ “เสื้อแดง” ที่ประกาศตัวย้ายไปอยู่พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

คำถามก็คือ ทำไมต้องเล่นงาน “สุเทพ”

ทำไมต้องเล่นงาน “ภูมิใจไทย”

เป็นที่รู้กันว่าพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนหลักสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี คือพรรคพลังประชารัฐ

คนขับเคลื่อนคือ 3 ส.

2 ส.เป็นนักการเมืองเก่า

อีก 1 ส. คือผู้มีบารมีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้

แต่ลำพังพรรคพลังประชารัฐ โอกาสที่จะได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของสภายากมาก

ต่อให้มีอำนาจรัฐช่วยมากแค่ไหนก็ตาม

ยุทธศาสตร์ของพลังประชารัฐจึงต้องหาพันธมิตรสนับสนุน

กวาดตาแล้ว พรรคเพื่อไทยนั้นเป็นปลาคนละน้ำอย่างแน่นอน

พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ถึงขั้นเป็นศัตรู แต่คงไม่ง่าย

พรรคขนาดกลางทั้งหลาย จึงเป็น “เป้าหมาย” ของ คสช.

ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา พลังชล ฯลฯ

ในขณะที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา

หวังใช้พลังของ กปปส.มาสนับสนุนพรรค

ท่าทีของ “สุเทพ” ช่วงแรกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจน

แต่ตอนหลังเริ่มมีท่าทีแปร่งๆ

ส่วน “ภูมิใจไทย” ก็เช่นกัน

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคนั้นเป็นที่รู้กันว่าสายสัมพันธ์ของเขาไม่ธรรมดา

ท่าทีของพรรคจึงไม่ได้สยบยอมกับ คสช.อย่างชัดเจน

เกมแสวงหา “มิตร” แบบ “คนเสื้อเขียว” จึงเริ่มต้นขึ้น

ธรรมชาติของเขาไม่คุ้นกับการเจรจา

แต่ชินกับ “รบไป-เจรจาไป” มากกว่า

อย่าลืมว่า ป.ป.ช.ยุคนี้ คนที่เป็นประธานชื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ

เขาเคยได้รับความไว้วางใจจาก คสช.ให้เป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังการรัฐประหาร

ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

หรืออีกนัยหนึ่งคือ เลขาธิการของรองนายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ไม่แปลกที่คดี “นาฬิกาหรู” ของ พล.อ.ประวิตร จึงมีอาการเรื่อยๆ มาเรียงๆ จนถึงวันนี้

และไม่แปลกว่าอยู่ดีๆ ทำไมถึงขุดคดีของ “สุเทพ” มาพิจารณา

เช่นเดียวกับท่าทีของ “แรมโบ้อีสาน”

ทำไมไม่เล่นงานพรรคเพื่อไทย

แต่พุ่งเป้าไปที่พรรคภูมิใจไทย

การเมืองไทยลึกล้ำจริงๆ