จั๊กค่าน หมายถึงอะไร ? ในคำเมืองล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จักค่าน” บางท้องถิ่นเรียก “จั๊กค่าน”

หมายถึง สะค้าน หรือ ตะค้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper wallichii (Miq.) Hand.-Mazz. อยู่ในวงศ์ PIPERACEAE เป็นไม้เถาที่เป็นสมาชิกในวงศ์และสกุลเดียวกันกับพริกไทย ดีปลี และพลู มีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น มีกลิ่นหอมของน้ำมันระเหย และมีรสเผ็ดของสารเผ็ดชื่อ piperine ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสกุลพืชในกลุ่มนี้

สะค้านเป็นไม้เถาปีนป่ายแบบเดียวกับพริกไทย แต่ขนาดเถาใหญ่กว่ามาก ใบค่อนไปทางรูปไข่ ฐานใบมักเว้าเป็นรูปหัวใจเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาแบบเดียวกับพริกไทย แต่เป็นดอกแยกเพศออกคนละต้นอีกด้วย

สะค้านจึงเป็นพืชที่มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียซึ่งเกิดจากต้นนั้นผลิดอกเป็นช่อดอกตัวผู้ก็เป็นต้นตัวผู้ ถ้าสร้างดอกตัวเมียก็เป็นต้นตัวเมียซึ่งติดผลได้

ผลของสะค้านก็จะหน้าตาละม้ายกับพริกไทย มีรสเผ็ด แต่กลิ่นไม่เหมือน

คนล้านนาใช้ประโยชน์จากต้นสะค้าน คือส่วนเถามาใช้เป็นเครื่องเทศ ใส่ในแกงแค หรือแกงผักรวมแบบพื้นถิ่น ที่นอกจากจะใส่ผักสารพัดตามฤดูกาลแล้ว ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือการฝานเถาสะค้านใส่ลงไป

สามารถใช้ได้ทั้งเถาสดและเถาแห้ง ใส่ให้กลิ่นและรสเผ็ดร้อนเป็นการชูรสแกง

เถาสะค้านจะมีขายตามท้องตลาดในช่วงฤดูฝน ถ้าเป็นฤดูแล้งจะหันมาใช้เป็นเถาแห้งที่เก็บถนอมไว้ใส่แกงแทน

นอกจากนี้ แกงขนุนก็เป็นอีกเมนูหนึ่งที่นิยมใส่สะค้านด้วยเช่นกัน

ด้วยขนาดเถาของสะค้านที่ค่อนข้างใหญ่ และเนื้อไม้ที่ไม่แข็งจนเกินไป บางคนจึงเรียกว่าจั๊กค่านจิ้น ซึ่งน่าจะหมายความว่ามีเนื้อมีหนัง บางคนก็ว่าเวลากินหรือเคี้ยวสะค้านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเคี้ยวเนื้อสัตว์

ในทางยาถือว่าเถาสะค้านเป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้อง จุกเสียด บำรุงธาตุ ทำให้ผายลม และใช้ปรุงยาธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นตัวยาประจำธาตุลม

และตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุสะค้านเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตัวยา “เบญจกูล”

ซึ่งเป็นตำรับช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้เป็นปกติ