โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ / พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน)

หลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดเชิงเลน

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

 

พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก

หลวงปู่ไข่ อินทสโร

วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน)

“หลวงปู่ไข่ อินทสโร” วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีพลังจิตที่เข้มขลัง ชื่อเสียงโด่งดังมาหลายทศวรรษ เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก ที่มากด้วยพุทธคุณ
ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ในชุดเบญจภาคีพระปิดตา
เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 เป็นต้นมา ซึ่งแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก โดยยึดหลักหมดแล้วทำใหม่ เช่นเดียวกับวัตถุมงคลอื่นๆ ของท่าน องค์พระจึงออกสู่สายตาน้อยมาก
พระปิดตา หลวงปู่ไข่ ใช้เนื้อหามวลสารจากผงอิทธิเจตามสูตรเฉพาะ ประกอบด้วย สมุดข่อยเก่าแก่ที่มีเลขยันต์อักขระเวทมนตร์ต่างๆ ใบลานคัมภีร์เก่าหมดสภาพ นำมาเผาเป็นผง ผสมรวมกับผงที่ท่านเขียนอักขระเลขยันต์แล้วลบเก็บไว้ และไม้มงคลต่างๆ อาทิ ใบมะตูม ใบมะยม ใบมะขวิด เกสรดอกพุทธรักษา ฯลฯ บดผสมรวมกัน แล้วกดแม่พิมพ์เป็นองค์พระ โดยใช้รักเป็นตัวประสาน มีเนื้อหลักอยู่ 2 เนื้อ คือ เนื้อผงคลุกรักและจุ่มรัก
พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ พระพาหาทั้งสองแนบชิด พระหัตถ์ที่ปิดพระพักตร์ทั้ง 2 ข้างไม่แสดงนิ้วพระหัตถ์ พระกรรณทั้งสองติดไม่ชัดเจนนัก พระกัปปะระ (ข้อศอก) ด้านซ้ายต่ำกว่าด้านขวา พระเพลาค่อนข้างแคบสอบ ดูคล้ายๆ องค์พระนั่งชันเข่า องค์พระมีขอบแม่พิมพ์เล็กน้อย เลยจากนั้นจะเป็นส่วนเกินจากการกดแม่พิมพ์ซึ่งไม่มากนัก พิมพ์ด้านหลังเป็นหลังอูมแบบหลังเบี้ย หรือหลังประทุน
แบ่งได้เป็น 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก
นับเป็นพระปิดตาที่ได้รับความนิยม แต่หาได้ยากองค์หนึ่งในวงการทีเดียว

พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลวงปู่ไข่

เป็นชาวแปดริ้ว เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2400 ที่ ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา บิดา-มารดาชื่อ นายกล่อมและนางบัว จันทร์สัมฤทธิ์
อายุ 6 ขวบ บิดานำไปฝากกับหลวงพ่อปาน วัดโสธรฯ เพื่อให้เรียนหนังสือ ต่อมาจึงได้บวชเป็นสามเณร ฝึกหัดเทศน์จนมีชื่อเสียงในทางเทศน์มหาชาติ เมื่อหลวงพ่อปานมรณภาพลง เดินทางไปอยู่กับพระอาจารย์จวง วัดน้อย อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
เมื่ออายุ 15 ปี พระอาจารย์จวงมรณภาพลง จึงเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหงษ์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ เรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 3 ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน จ.สมุทรสงคราม
ศึกษาพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรม จนอายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดลัดด่าน โดยมีพระอาจารย์เนตร วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ภู่ วัดบางกะพ้อม เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากนั้น ท่านได้เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เมืองกาญจน์ แล้วจึงกลับมาอยู่ที่วัดลัดด่านอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ไข่ท่านออกธุดงค์เป็นประจำทุกปี ท่านออกธุดงค์อยู่นาน 15 ปี เวลาท่านธุดงค์ผ่านไปทางใด ถ้ามีผู้คนทุกข์ยากหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ช่วยรักษาให้หายโดยตลอด เกียรติคุณของท่านเป็นที่รู้จัก จนมาถึงกรุงเทพฯ จึงมีผู้มานิมนต์ท่านให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางยี่เรือ 1 พรรษา แล้วท่านก็ออกธุดงค์ไปในป่าอีก
ต่อมา เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเห็นว่าวัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) เป็นวัดที่เงียบสงบดี จึงได้เข้ามาจำพรรษาตลอดมา
ในระหว่างจำพรรษาอยู่วัดบพิตรพิมุข ปฏิบัติธรรมและสร้างการกุศลหลายประการ อาทิ สอนพระกรรมฐานแก่บรรพชิตและฆราวาส ช่วยอนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ บริจาคทรัพย์ส่วนตัวและชักชวนบรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยให้มาร่วมการทำบุญ
เช่น สร้างพระพุทธปฏิมา ซ่อมพระพุทธรูปของเก่าที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น
สร้างพระไตรปิฎก โดยหลวงปู่ไข่ลงมือจารใบลานด้วยตนเองบ้าง ให้ช่างจารขึ้นบ้าง ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิเป็นห้องแถวไม้ขึ้นอีกหลายกุฏิ ทั้งได้สร้างถนน สระน้ำ ถังรับน้ำฝน

ด้านวัตถุมงคล หลวงปู่ไข่สร้างพระเครื่อง พระปิดตาและเหรียญรูปเหมือนไว้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระที่หายากมาก นอกจากนี้ ยังมีพระกลีบบัวอรหัง ซึ่งสร้างไว้ในประมาณปี พ.ศ.2470 จำนวนมาก
เป็นพระที่สมถะใฝ่สันโดษไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ท่านยังมีชื่อเสียงด้านการเทศน์มหาชาติ อีกทั้งยังมีความสามารถทางแพทย์แผนโบราณ ศิษย์ของท่านมีทั้งไทย จีน และชาวซิกข์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะมาหาท่านให้ช่วยรักษา ซึ่งท่านก็จะช่วยรักษาทุกครั้ง ไม่เคยแบ่งแยกชาติ ศาสนา เชื้อตระกูล
ราวปี พ.ศ.2470 หลวงปู่ไข่เตรียมบาตร กลด และย่าม เพื่อจะออกธุดงค์ แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายปรึกษาหารือกันว่า หลวงปู่ไข่ชราภาพมากแล้ว จึงได้นิมนต์ยับยั้งไว้ โดยขอให้หลวงปู่ไข่อยู่สอนวิปัสสนากรรมฐานต่อไป
ต่อมาเริ่มอาพาธด้วยโรคชรา ครั้นวันที่ 16 มกราคม 2475 เวลา 13.25 น. ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 74 ปี พรรษา 54
เล่ากันว่าก่อนเวลาที่จะมรณภาพ หลวงปู่ได้ข่มความทุกข์เวทนาอยู่ในเวลานั้นให้หายไปได้ ประดุจบุคคลที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ แล้วขอให้ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ ประคองตัวให้ลุกขึ้นนั่ง และให้จุดธูปเทียนบูชาพระ เมื่อกระทำนมัสการไหว้พระเสร็จแล้ว เจริญสมาธิสงบระงับจิต เงียบเป็นปกติอยู่ประมาณ 15 นาที จนหมดลมหายใจ
ถึงวาระสุดท้ายศิษย์ผู้คอยเฝ้าพยาบาลอยู่ จึงประคองตัวให้นอนราบลง