คนมองหนัง / “ขุนพันธ์ 2”: เรื่องราวของ “พระเอกแบบไทยๆ”

คนมองหนัง

ในแง่ความสนุก ความลงตัว ความลื่นไหลของการเล่าเรื่อง การกำกับการแสดง ตลอดจนเทคนิคพิเศษต่างๆ “ขุนพันธ์ 2” นั้นดีกว่าหนังภาคแรกแน่ๆ และมากๆ

จุดนี้ต้องชื่นชมผู้กำกับฯ อย่าง “ก้องเกียรติ โขมศิริ”

ในภาพยนตร์ภาคสอง ตัวละคร “ขุนพันธ์” เดินทางจากชายแดนใต้มาสู่ชุมโจรเมืองสุพรรณบุรี และต้องปะทะ/ผูกสัมพันธ์กับ “เสือฝ้าย-เสือใบ”

ตามกระแสความนิยมหรือกรอบความคิดในการผลิตภาพยนตร์ ตลอดจนงานวรรณกรรมยุคหลังๆ เรื่องราวเกี่ยวกับคาถาอาคม/ความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ และชุมโจรที่ปล้นคนรวยมาช่วยคนจน มักถูกตีความใหม่ในฐานะเรื่องเล่าของความเชื่อ วิถีชีวิต หรือชุมชน “ทางเลือก” ซึ่งต่อต้าน/ขัดขืน/หลีกลี้จาก “อำนาจรัฐ”

อย่างไรก็ดี “ขุนพันธ์ 2” กลับมีลักษณะ “โอลด์ สกูล” กว่านั้น ด้วยการพยายามอธิบายหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่แนวคิดกระแสหลักว่าด้วย “อำนาจ-บารมี” แบบไทยๆ

ณเบื้องต้น หนังวางบุคลิกลักษณะของบรรดาตัวละครนำไว้อย่างมีมิติ และเต็มไปด้วยความคลุมเครือ

ไล่ตั้งแต่ภาวะกลืนกลายทับซ้อนระหว่าง “โจร” กับ “ตำรวจ” ระหว่าง “อำนาจทางการ” กับ “บารมีที่ไม่เป็นทางการ”

จนกระทั่งถึง “ขบวนการเสรีไทย” ที่ถูกหนังระบาย “สีเทา” ไว้ให้อย่างน่าสนใจ

“เสรีไทยแบบเทาๆ” ในหนังบู๊แอ๊กชั่นไทยสไตล์เรื่องนี้ เป็นขบวนการที่มีองค์ประกอบสองด้านอันก้ำกึ่ง-ย้อนแย้งกัน ด้านหนึ่งคือ ความรักชาติ/อุดมการณ์ต่อต้านญี่ปุ่น อีกด้านคือ ความเป็นคนนอกกฎหมาย หรือการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม โดยคนในระบบกฎหมาย

น่าเสียดายที่ในช่วงท้ายๆ ของภาพยนตร์ อาการลักลั่นกำกวมเหล่านั้น ค่อยๆ ถูกลบเลือนหายไป แล้วแทนที่ด้วยการแบ่งขั้วแยกข้างอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

คนดูจึงได้เห็นเพียง “อดีตเสรีไทยหนุ่ม” ที่เกรี้ยวกราด ก้าวร้าว อยากสร้างชื่อเสียง ทว่าขาดประสบการณ์, ได้เห็นนักการเมืองหรือชนชั้นนำท้องถิ่นที่ปรารถนาไขว่คว้าอำนาจรัฐ จนฉ้อฉล หักหลังมิตรสหาย ได้เห็นการเลือกตั้งหลังยุคสงครามโลกอันสุดแสนสกปรก ไร้ซึ่งความหวัง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ได้เห็นข้าราชการจำนวนมาก ผู้เลวทราม หวังผลประโยชน์ส่วนตน

สภาวะอัปลักษณ์-พิกลพิการทั้งหลายดังกล่าวจำเป็นจะต้องถูกขจัดชำระทิ้ง ด้วยคุณอำนาจแห่ง “ความดี-ความศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ตัวละครนำคือ “ขุนพันธ์”

ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าก้องเกียรติและทีมงานผู้สร้างหนังได้พยายามสกัดแยกชีวิตจริงของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” ออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก ได้แก่ ภาพลักษณ์มือปราบตงฉิน-จอมขมังเวทย์-ท่านขุน (ข้าราชการจากระบอบเดิมเพียงรายเดียวของสังคมตำรวจจำลองในภาพยนตร์เรื่องนี้) ซึ่งถูกนำไปประกอบสร้างเป็นตัวละคร “ขุนพันธ์”

ส่วนที่สอง คือ ภาพลักษณ์นอกเหนือจากนั้นของท่านขุนมือปราบหนังเหนียว ที่ถูกเกลี่ยกระจายหรือผลักภาระไปยังตัวละครรายอื่นๆ โดยเฉพาะพวกผู้ร้าย

“ตัวละครขุนพันธ์” ในหนังได้รับการจัดวางให้ต้องยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตัวละคร “หลวงธำมรงค์” และ “เสือฝ้าย” ที่ทะเยอทะยานฝักใฝ่อำนาจทางการเมือง (ผ่านระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง)

ทว่า “ขุนพันธ์ตัวจริง” อาจไม่ได้แอนตี้นักการเมืองและการเลือกตั้งขนาดนั้น เพราะอย่างน้อย อดีตข้าราชการตำรวจท่านนี้ก็เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อยู่หนึ่งสมัย

เอาเข้าจริง “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” จึงมีชีวิตบางด้านที่ไม่แตกต่างจาก “หลวงธำมรงค์-เสือฝ้าย” ในหนัง

ชีวิตที่เริ่มต้นด้วยการเป็นข้าราชการ-คนท้องถิ่น ซึ่งค่อยๆ สั่งสม “อำนาจ-บารมี” ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในพื้นที่ แล้วจึงหัน (แวะ) ไปลงเล่นการเมือง

เช่นเดียวกัน แม้ “ขุนพันธ์ 2” จะสร้างภาพ “ตัวละครขุนพันธ์” ให้มีลักษณะ “ไม่เป็นเนื้อเดียว” กับ “ด้านลบของขบวนการเสรีไทย” อย่าง “เสือฝ้าย” และ “ร.ต.อ.อัศวิน”

แต่ในชีวิตจริง ชื่อเสียงในฐานะยอดมือปราบของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” กลับขจรขจายในยุค “หลวงอดุลเดชจรัส” ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ

หลวงอดุลฯ ซึ่งมีอีกสถานะเป็นรองหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ผู้เชื่อมประสานขบวนการดังกล่าวเข้ากับกลไกของระบบราชการยุคนั้น

เท่ากับว่าเวลาผู้ชมนั่งดูตัวละคร “เสือฝ้าย” “หลวงธำมรงค์” หรือกระทั่ง “ร.ต.อ.อัศวิน” โลดแล่นในโรงหนัง

ก็ปฏิเสธมิได้ว่าเงาทอดยาวบางส่วนเสี้ยวของ “ขุนพันธ์ตัวจริง” กำลังทาบทับปกคลุมตัวละครเหล่านั้นอยู่

ไปๆ มาๆ ตัวร้ายดิบๆ ทื่อๆ และซื่อตรงอย่าง “ร.ต.อ.อัศวิน” คือตัวละครที่ผมแอบเห็นใจมากที่สุดในหนังเรื่องนี้

ด้วยความรู้สึกว่าคนหนุ่มเยี่ยงเขาไม่ควรถูกลงโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ดังปรากฏบนจอภาพยนตร์

ตำรวจหนุ่มผู้นี้อาจชอบทำงานแบบ “เอาหน้า” อยู่บ้าง แต่นี่ก็ไม่ต่างกับพฤติกรรมของตัวละคร “รองเผด็จ” หรือ “สารวัตรอิศรา” โดยสองคนหลังมิต้องรับโทษ/กรรมหนักเท่า “อัศวิน”

เพียงแค่ “อัศวิน” เชื่อมั่นในหลักการวิทยาศาสตร์และไม่เชื่อในไสยศาสตร์ เขาก็ถึงกับต้องเกือบตายและเสียโฉม

ครั้นจะหัดแก้แค้นคู่กรณี/ปราบปรามผู้ร้ายด้วยวิธีการ “ชกใต้เข็มขัด” บ้าง หนังก็วาดภาพว่านั่นคือความวิปริตโหดเหี้ยมต่อผู้หญิง ขณะที่ภาพตอน “อัศวิน” โดนตำรวจด้วยกัน (ซึ่งแฝงตัวไปเป็นโจร) อย่างขุนพันธ์ยิงกรอกปาก กลับถูกนำเสนอออกมาด้วยท่าทีที่ไม่โหดร้ายสักเท่าไหร่

และพอท้ายสุด “อัศวิน” หันไปเชื่อ ศึกษา และยอมรับในไสยศาสตร์อย่างสนิทใจ หนังก็ลงทัณฑ์เขาอย่างสาหัสและเจ็บปวดเกินบรรยาย

ภาพยนตร์ “ขุนพันธ์” สร้างมาแล้วสองภาค ในแต่ละตอน ตัวละคร “ขุนพันธ์” มีโอกาสเติบโต เรียนรู้ เคี่ยวกรำวิทยาคม และเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตตำรวจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (เหมือนที่ “รองเผด็จ” พูดจาเยาะเย้ยพระเอกของเรา ตอนท้ายหนังภาคสอง ว่า “ให้ไปเรียนมาใหม่นะ”)

ตรงกันข้ามกับอดีตเสรีไทยหนุ่มไฟแรงอย่าง “ร.ต.อ.อาคม” ซึ่งคนที่ไม่ได้มีนิสัยเลวร้ายโดยกมลสันดานเช่นเขา กลับมีเวลาในการศึกษาเรียนรู้อะไรสั้นเหลือเกิน!