ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ‘ต้านโกง’ ต้องทำมากกว่าจัดอีเวนต์ต้านโกง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สี่ปีแล้วที่คุณประยุทธ์ยึดอำนาจโดยอ้างว่าทำเพื่อปราบโกง แต่ตลอดสี่ปีกลับมีข่าวเรื่องการใช้อำนาจเพื่อพวกพ้องโดยคนใกล้ตัวคุณประยุทธ์ไม่สิ้นสุด

แม้สังคมจะตรวจสอบรัฐบาลนี้ไม่ได้จนไม่มีทางรู้ว่าคุณประยุทธ์โกงหรือไม่ การห้ามตรวจสอบย่อมเป็นเหตุให้คนสงสัยว่ามีการโกงมากกว่าเชื่อว่าไม่โกง

ด้วยเหตุดังนี้ ทันทีที่ประธานองค์กรต้านโกงระบุว่าให้คะแนนคุณประยุทธ์เรื่องต้านโกง 100% เสียงโห่ฮาจึงอื้ออึงจนองค์กรเป็นจำเลยสังคมไปในที่สุด

โซเชียลขุดคุ้ยเรื่องบริษัทประธานองค์กรนี้เลี่ยงภาษีจนโดนกรมศุลกากรให้จ่ายภาษีคืน 11,667ล้านบาท ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิเสธจนขู่ฟ้องคนพูดเรื่องนี้ก็ตาม

เพื่อความเป็นธรรมกับองค์กรต้านโกง ควรระบุว่าคุณประมนต์ผู้เป็นประธานระบุว่าไม่สบายใจที่การสืบสวนพล.อ.ประวิตร เรื่องนาฬิกาหรูเป็นไปล่าช้า

มองในแง่ดี คุณประมนต์ต่างจากคุณสุเทพ, คุณไพบูลย์, หมอวรงค์ ฯลฯ ที่หุบปากเงียบในเรื่องที่ทุกคนพูดอย่างนาฬิกาหรู ถึงแม้คุณประมนต์จะถูก คสช.ตั้งเป็นสภาปฏิรูปกินเงินเดือนแสนก็ตาม

ปัญหาขององค์กรต้านโกงไม่ใช่การพูดว่าไว้ใจคุณประยุทธ์เรื่องต้านโกง 100% แต่คือการมองไม่เห็นว่าการโกงเป็นเรื่องของการใช้อำนาจโดยตรวจสอบไม่ได้ , การไม่ตรวจสอบรัฐบาลปัจจุบันเท่าที่เคยตรวจสอบรัฐบาลในอดีต และการไม่มีส่วนต่อต้านความไม่สุจริตในประเทศตลอดสี่ปี

หนึ่งในเรื่องที่องค์กรต้านโกงชื่นชมคุณประยุทธ์คือยอมให้ประชาสังคมสังเกตการณ์จัดซื้อจัดจ้างของรัฐ แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นดี

อย่างไรก็ดี การที่ทั้งโลกมีการใช้ข้อตกลงนี้แค่ 15 ประเทศก็ชวนคิดว่าเรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับการปราบโกงจริงๆ ก็ได้ เพราะไม่อย่างนั้นเรื่องนี้น่าจะแพร่หลายกว่าปัจจุบัน

ในเมื่อองค์กรต้านโกงให้คะแนนคุณประยุทธ์ 100% เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนสังเกตการณ์จัดซื้อจัดจ้างของรัฐ องค์กรย่อมมีวิสัยทัศน์พอจะรู้ว่าความโปร่งใสบนการมีส่วนร่วมของประชาชนคือเงื่อนไขป้องกันการโกงที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับควรรู้ต่อไปว่ารัฐบาลนี้ปฏิเสธการตรวจสอบทุกระดับอย่างสิ้นเชิง

ภายใต้กติกาที่คณะรัฐประหารยัดเยียดให้กับประเทศนี้หลังปี 2557 สภาไม่มีการตรวจสอบรัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว กลไกกรรมาธิการที่จะตรวจสอบรัฐมนตรีหรือข้าราชการพินาศไปหมด การยื่นญัตติซักฟอกรัฐมนตรีไม่เคยเกิดขึ้น และสถาบันการเมืองทั้งหมดเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล

หลังรัฐประหาร 2549 นักวิชาการบางคนบอกว่าสถาบันที่มีหน้าที่ตัดสินคดีนั้นยุ่งการเมืองถึงขั้นเป็น Kangaroo Court หรือ ที่ละเลยหลักกฎหมายและความยุติธรรม และเราอาจเรียกสภายุค คสช.ว่าเป็น Kangaroo Parliament หรือ “สภากำมะลอ” ที่ประชาชนไร้ส่วนร่วมจนสภาไม่ตรวจสอบรัฐบาลได้เช่นกัน

องค์กรต้านโกงจะมีคุณูปการต่อสังคมอีกเยอะ หากยกระดับจากการขอมีส่วนร่วมกับรัฐในการสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้างเป็นการผลักดันให้อำนาจรัฐยอมรับการตรวจสอบจากคนทุกฝ่าย

ถ้าไม่ทำแบบนั้น องค์กรก็เสี่ยงจะถูกมองว่าชื่นชมคุณประยุทธ์เพราะเปิดทางให้องค์กรมีบทบาทที่คนกลุ่มอื่นในสังคมไม่มี

องค์กรต้านโกงประสบความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรกับอำนาจรัฐแน่ๆ แต่สี่ปีที่ผ่านมาองค์กรแทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อหยุดยั้งไม่ให้การตรวจโกงของอำนาจรัฐเป็นแค่การตรวจสอบกันเองของคนพวกเดียวกัน

คำอธิบายหนึ่งที่บางคนในองค์กรต้านโกงเคยพูดผ่านสื่อคือองค์กรต้านโกงมีบทบาทแบบนี้ในยุคนี้เพราะเน้นการ “เข้าไปวางรากฐาน” ไม่ให้เกิดการโกงในภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม การวางรากฐานนั้นสามารถทำคู่ขนานกับการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มงวด และองค์กรควรปฏิบัติต่อรัฐบาลคุณประยุทธ์แบบที่ทำกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนปี 2557 เหมือนกัน

องค์การต้านโกงระบุว่าปี 2554-2557 เป็นยุคของการปลุกระดมเพื่อสร้างกระแสต้านโกง แต่ทำไมการปลุกกระแสนี้กับรัฐบาลทหารถึงเงียบหายไปหมด?

ในสายตาคนทั่วไปแล้ว องค์กรต้านโกงเหมือนปลุกกระแสต้านโกงเฉพาะในเวลาที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ทำอะไรเลยในยุคที่กองทัพได้อำนาจรัฐมาด้วยกระบอกปืน?

ทั้งที่ประเทศไม่มีการเลือกตั้งมาแล้วสี่ปี องค์กรต้านโกงก็สื่อสารกับสังคมโดยโจมตี ส.ส.ด้วยวาทกรรม “โจรใส่สูท” ราวทุกคนที่มาจากการเลือกตั้งคือโจรทั้งสิ้น แต่กลับไม่เคยพูดแบบนี้กับรัฐบาลนี้และคนของรัฐบาลในสภาต่างๆ ที่ทุกคนล้วนเป็น “นักการเมือง” ซึ่งมีโอกาสหาประโยชน์จากอำนาจรัฐได้เช่นกัน

การพูดแต่อาชญากรรมของ “โจรใส่สูท” แต่ไม่แตะต้องอาชญากรรมจาก “โจรสีเขียว” หรือ “โจรสีกากี” ทำให้การต้านโกงไม่ต่างจากการเลือกปฏิบัติว่าจะต้านโกงเฉพาะกับบางฝ่าย

แม้แต่โฆษณาประเภท “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม” ก็หายไปจนมีข่าวเลือกตั้งปี 2562 จึงโผล่กลับมาโจมตีนักการเมืองอีกที

พูดตรงๆ นอกจากเรื่องนาฬิกาหรูของคุณประวิตร องค์กรต้านโกงแทบไม่เคยพูดเรื่องที่สังคมสงสัยกรณีหลานคุณประยุทธ์ได้งานกองทัพภาคต่อเนื่อง, การขุดลอกคูคลองขององค์กรทหารผ่านศึก, งบกลาโหมที่สี่ปีเพิ่มขึ้น 18% จนแทบเป็นงบลับ หรือแม้แต่การยกงานรถไฟความเร็วสูงให้จีนโดยไม่มีการประมูล

องค์กรต้านโกงระบุว่ารัฐบาลก่อนปี 2557 ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจนประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ดำเนินคดีต่างๆ อย่างล่าช้า

แต่คำวิจารณ์นี้ไม่ปรากฎเลยในเวลาที่รัฐบาลหลังปี 2557 ทำลายการมีส่วนร่วมทั้งหมดจนเกิดคดีล่าช้าอย่าง GT200 และโรงพักร้างที่อื้อฉาวในปัจจุบัน

ขณะที่องค์กรต้านโกงกระตือรือร้นในการเร่งรัดให้ ปปช.ทำคดีจำนำข้าว องค์กรแทบไม่พูดอะไรเรื่อง ปปช.ทำคดี GT200 ไม่คืบหน้า ทั้งๆ ที่ประธานอนุฯ สอบสวนเคยบอกในปี 2556 ว่ามีหลักฐานพร้อมแล้วจน ปปช.ชุดใหม่เข้ามาพร้อมกับสร้างวาทกรรมว่าสอบสวนช้าเพราะ GT200 เหมือนพระเครื่องในแง่จิตใจ

ไม่มีใครทราบว่าการที่รัฐบาลทหารตั้งประธานองค์กรอย่างคุณประมนต์เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปนั้นส่งผลให้การทำหน้าที่ต้านโกงเบี่ยงเบนหรือไม่ แต่บทบาทองค์กรที่ช่วงก่อนปี 2557 เคยเป็น “พลเมืองตื่นรู้” หรือ Active Citizen กลับเป็นพันธมิตรเฉื่อยชา หรือ Passive Partnership กับผู้มีอำนาจอย่างไม่ควรเป็น

ถ้าไม่อยากให้งานต้านโกงถูกมองว่าเป็นกองเชียร์ สิ่งที่องค์กรต้องสร้างคือระยะห่างกับรัฐบาลทหารอย่างที่เคยมีกับรัฐบาลในอดีต

การเป็นพันธมิตรกับรัฐไม่ควรหมายถึงการรับเงินเดือนในองค์กรการเมืองเฉพาะกิจของรัฐ, การสยบยอมอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ และการไม่ตรวจสอบรัฐบาลทหารแม้แต่นิดเดียว

การร่ำรวยผิดปกติเป็นหนึ่งในเรื่องโกงที่กฎหมายไทยบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์สินของตัวเองนั้นมีที่มาอย่างไร

แน่นอนว่าองค์กรต้านโกงย่อมรู้เหมือนประชาชนรู้ว่าผู้มีอำนาจและ “ข้าราชการผู้ใหญ่” ยุคนี้หลายคนมีทรัพย์สินหลายร้อยล้านจนเกินกว่าเงินเดือนข้าราชการเกษียณอายุทั่วไป

องค์กรต้านโกงอยู่ไหนในการตรวจสอบความร่ำรวยของผู้มีอำนาจยุคนี้?

นายพลที่มีอำนาจรัฐแล้วเคยขายที่ดินกับเจ้าสัวประชารัฐมูลค่าหกร้อยล้านนั้น “ปกติ” หรือไม่?

คำชี้แจงที่ ปปช.ฟังแล้วรับได้นั้นไม่ควรเป็นบรรทัดฐานที่องค์กรต้านโกงยอมรับ เว้นเสียแต่จะเห็นว่าการเข้าถึงรัฐบาลคือเป้าหมายของงานต้านโกง

ต้านโกงแตกต่างจากการปราบโกงจริงๆ, ปฏิบัติการต้านโกงไม่ใช่การจัดอีเว้นท์ต้านโกงให้รัฐ และงานต้านโกงไม่ควรเป็นแค่การถ่ายรูปคู่กับนายกที่คนทั้งประเทศตรวจสอบไม่ได้โดยสิ้นเชิง