ผบ.ทบ.ยุคเปลี่ยนผ่าน : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————-

ผบ.ทบ.ยุคเปลี่ยนผ่าน

—————–

ภาพจำของหลายคน ต่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

คือ นายทหารนักบู๊

ปี 2551 เป็นผู้นำทหาร แถลงข่าวตำหนิพฤติกรรมพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ที่วิพากษ์วิจารณ์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อย่างรุนแรงหลายครั้ง

ปีเดียวกัน เป็นผู้ “กระซิบ” นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ให้หยุดพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน

ปี 2553 เป็นผู้นำกำลังทหารปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม ปทุมธานี จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ปฏิบัติการไม่สำเร็จ และเป็นผู้นำทหารกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ 28 คนบนดาดฟ้าของอาคารที่ทำการสถานี

ปี 2556 เคยพาทหารไปหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แสดงความไม่พอใจที่เขียนข่าวกล่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้น

ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ระยะหลัง ภาพ “บู๊”ของ พล.อ.อภิรัชต์ หายไป

และยิ่งเมื่อ เป็น”ตัวเต็ง”ที่จะขึ้นสู่ หมายเลข1 ของกองทัพบก

มีบทบาทในกองทัพอย่างสูง

แต่ก็ยิ่งลดบทบาท เป็น นายทหารแถวหลัง

จาก บู๊ กลายเป็น บุ๋น

สร้างความประหลาดใจ ให้กับผู้ที่ติดตามบทบาท นายทหารผู้นี้

แต่เป็นไปในเชิงบวก

นั่นคือ มองว่า พล.อ.อภิรัชต์ “อยู่เป็น”

แม้จะนำมาสู่ข่าวลือ ทั้งดีและร้าย มากมายก็ตาม

แต่ที่สุด บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ผงาดขึ้น เป็น ผู้บัญชาการทหาร คนที่ 41 ของกองทัพบกไทย

และก่อนหน้านั้น ไม่กี่เดือน พล.อ.อภิรัชต์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์(ทม.รอ.)

เพียงคนเดียวในกองทัพบก ณ เวลานี้

ภาระกิจของ พล.อ.อภิรัชต์ ทั้งในตำแหน่ง นายทหารพิเศษฯ และผู้บัญชาการทหารบก จึงถูกจับตาเป็น”พิเศษ”

ด้วยเพราะอยู่ในห้วง แห่งการเปลี่ยนผ่าน”สำคัญ” ทุกด้าน

ทั้ง ภาระกิจที่เกี่ยวข้องกับงาน นายทหารพิเศษ

ทั้ง ภาระกิจของ ผู้บัญชาการทหารบก ที่คาดหมายเช่นกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่าง

รวมทั้งภาระกิจที่เกี่ยวเนื่อง กับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะต้องดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช. จะต้องแต่งตั้ง แทนผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ที่เกษียณราชการ

พร้อมกับสวมหมวก เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.)ของ คสช. ที่คุมกำลังของทุกเหล่าทัพ และตำรวจ โดยมีงานที่ต้องดูแลนั่นคือการเลือกตั้งทั่วไป

การเลือกตั้ง ที่คาดหมายว่า “พี่รัก” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกระโดดเข้าไปร่วมเพื่อ สืบทอดงานของคสช.ต่อไป

แม้ จะมีการมองว่า ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.อภิรัชต์ คือ “เนื้อ”เดียวกัน

แต่ บทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ ก็คงไม่อาจ นำกองทัพไปเป็นเครื่องมือสนับสนุนใครได้

นี่จึงท้าทายว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะวางจุดยืนของตนเอง และของกองทัพอย่างไร

ยิ่งกว่านั้น หลังการเลือกตั้ง คสช. จะต้องสลายไป

คนที่จะคุมกำลังต่อไปก็คือ พล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งมีคำถาม ในเชิงท้าทายว่า ต้องวางบทบาทอย่างเหมาะสมอย่างไร

จะบู๊ จะบุ๋น เป็นสิ่งที่น่าจับตามองยิ่ง

พล.อ.อภิรัชต์จะประคองตัวผ่านยุค”เปลี่ยนผ่าน”และ”พิเศษ” นี้อย่างไร ต้องติดตาม

————–