ว่าด้วย “อะเวย์โกล” กฎเก่าที่อาจล้าสมัย

เมื่อเร็วๆ นี้มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับวงการลูกหนังเกิดขึ้น เมื่อ “จอร์โจ้ มาร์เช็ตติ” ผู้ช่วยเลขาธิการ “สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)” เผยว่า ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของบรรดาโค้ชทั่วยุโรปที่เมืองนียง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อไม่นานมานี้

บรรดาโค้ชชั้นนำของโลกต่างเรียกร้องให้ยูฟ่าทบทวนเรื่องการใช้กฎ “อะเวย์โกล” หรือ “ประตูทีมเยือน” เสียใหม่

กฎอะเวย์โกลดังกล่าวใช้ในการตัดสินเกมการแข่งขันแบบเหย้า-เยือน เมื่อรวมผลประตูที่ทั้ง 2 ฝ่ายยิงได้แล้ว หากจำนวนประตูเท่ากัน จะให้น้ำหนักของประตูที่ทีมเยือนบุกไปยิงอีกฝ่ายถึงถิ่นได้มากกว่าเป็นตัวตัดสินว่าทีมใดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งกรณีเท่ากันอีกก็อาจต่อเวลาหรือยิงลูกโทษต่อไป

สำหรับกฎอะเวย์โกลนี้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกโดยยูฟ่า ในการแข่งขันฟุตบอลถ้วย “ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ” ฤดูกาล 1965-1966 หรือเมื่อ 53 ปีที่แล้ว โดยขณะนั้นทางยูฟ่ามองว่าต้องการหาเกณฑ์อะไรมาเป็นตัวตัดสินก่อนจะไปจับสลากหรือโยนหัวก้อยเสี่ยงดวงกัน

กฎอะเวย์โกลทำให้ 1 ประตูที่เกิดขึ้นอาจมีความหมายเปลี่ยนแปลงบทสรุปของเกมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนัดที่ 2 ได้

ยกตัวอย่างการแข่งขัน “ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก” รอบ 16 ทีมสุดท้าย ปี 2005 ระหว่าง “บาร์เซโลน่า” กับ “เชลซี” โดยนัดแรก บาร์ซ่าเปิดบ้านชนะ 2-1 นัดที่ 2 ที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ เชลซีทำได้ถึง 3 ประตูรวด ทำให้ประตูรวมนำอยู่ 4-2 แต่หลังจากนั้นบาร์ซ่าก็มายิงตีตื้นได้ 2 ลูก สกอร์ในเกมเวลานั้น เชลซีนำ 3-2 ส่วนผลประตูรวมเท่ากัน 4-4 แต่บาร์ซ่าได้เปรียบเนื่องจากประตูเยือนดีกว่า (2 ลูก ต่อ 1 ลูก)

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด เชลซีมายิงได้อีกประตูในช่วงท้าย ทำให้ชนะไป 4-2 และผลรวมประตูชนะ 5-4 ได้ผ่านเข้ารอบต่อไป

แม้ว่าคู่ดังกล่าวจะไม่ได้นำกฎอะเวย์โกลมาใช้ในการตัดสินหาผู้ชนะ แต่กฎนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในการแข่งขันนัดที่สอง เพราะบีบให้เชลซีต้องพยายามบุกทำประตูเพิ่มให้ได้หากต้องการเข้ารอบต่อไป

ไอเดียตั้งต้นของการให้น้ำหนักของประตูที่ยิงได้โดยทีมเยือนนั้น เป็นเพราะเกมฟุตบอลสมัยก่อน เจ้าบ้านมักจะมีความได้เปรียบค่อนข้างมาก ด้วยเสียงเชียร์เอย สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยมากกว่าเอย คำตัดสินของกรรมการที่อาจจะเอนเอียงเข้าข้างเจ้าถิ่นมากกว่าเอย

อีกทั้งการเดินทางสมัยก่อนยังไม่สะดวกนัก กองเชียร์ทีมเยือนอาจจะตามไปให้กำลังใจได้ไม่มาก นักเตะและสต๊าฟโค้ชของทีมเยือนก็อาจมีอาการล้าจากการเดินทาง

1 ประตูที่บุกยิงถึงถิ่นอีกฝั่งได้จึงมีค่าควรแก่การเพิ่มน้ำหนักให้ใช้ในการตัดสิน

อย่างไรก็ตาม วงการลูกหนังยุคนี้ต่างจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วมาก ทั้งมาตรฐานการเล่นที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น

มาตรฐานการตัดสินที่นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้โค้ชส่วนใหญ่คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การยิงประตูของทีมเยือนนั้นไม่ได้ยากเย็นเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว

และเรียกร้องให้ยูฟ่าทบทวนกฎดังกล่าวใหม่ ยกเลิกอะเวย์โกลแล้วหันไปหาวิธีอื่นในการตัดสินหาผู้ชนะแทน

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีโค้ชชื่อดังระดับโลกเข้าร่วมมากมาย อาทิ “โชเซ่ มูรินโญ่, อูไน เอเมรี่, คาร์โล อันเชล็อตติ, โธมัส ตูเคิล, ยูเลน โลเปเตกี, ดีเอโก้ ซิเมโอเน่, มัสซิมิเลียโน่ อัลเลกรี” รวมถึง “อาร์แซน เวนเกอร์”

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของโค้ชเหล่านี้จึงน่าจะมีน้ำหนักมากพอให้ยูฟ่าต้องหันมาทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

ยกตัวอย่างฟุตบอลระดับทัวร์นาเมนต์รายการใหญ่ อย่าง “ฟุตบอลโลก” หนล่าสุด แม้จะไม่มีเกมเหย้า-เยือนเกิดขึ้น แต่ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)” ก็ได้ริเริ่มนำกฎ “แฟร์เพลย์” มาเป็นเกณฑ์ตัดสินหาทีมเข้ารอบน็อกเอาต์กรณีคะแนนและจำนวนประตูได้-เสียของทีมตั้งแต่ 2 ทีมขึ้นไปเกิดเท่ากันขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม กฎแฟร์เพลย์นี้ยังมีจุดบอดเกิดขึ้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเอช เมื่อ “ญี่ปุ่น” ผ่านเข้ารอบด้วยจำนวนใบเหลืองที่น้อยกว่า “เซเนกัล” เนื่องจากสถิติอื่นๆ ของทั้ง 2 ทีมเท่ากัน โดยหลังจากแข้งปลาดิบรู้ผลของเซเนกัลที่เตะพร้อมกันอีกสนามหนึ่ง จนรู้แล้วว่าตัวเองจะเข้ารอบด้วยกฎนี้ จึงไม่เร่งเกม และเล่นประคองตัวเพื่อให้เกมจบแบบไม่เสี่ยงใดๆ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

อีกทั้งกฎแฟร์เพลย์นั้น ปัญหาอยู่ที่คนชี้เป็นชี้ตายคือกรรมการซึ่งเป็นคนนอกอย่างชัดเจน ทำให้ฟีฟ่าต้องรับปากที่จะทบทวนกฎนี้อีกครั้ง

เรียกว่าไม่ว่ากฎไหนก็ยังไม่ถูกใจใครไปเสียหมด คงต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วยูฟ่าและฟีฟ่าจะหาบทสรุปที่ลงตัว พอที่จะยอมรับกันได้ทุกฝ่ายได้เมื่อไรกัน