ยึดคำสอนในหลวง ร.9 เตือนคนไทยรู้คุณค่าพลังงาน

ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ไม่เพียงจะสร้างความโศกเศร้าแก่คนไทยทั้งประเทศ

และอีกมุมหนึ่งก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยปฏิญาณตัวน้อมนำคำสอนของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการดำรงชีวิต

เฉกเช่นเดียวกับกระทรวงพลังงาน…พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในหลวง ร.9 ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านการอนุรักษ์พลังงาน

จะเห็นได้จากพระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียง ซึ่งประจักษ์ในเรื่องการใช้ทรัพยากรทุกสิ่งอย่างรู้คุณค่า

กระทรวงพลังงานได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานซึ่งจัดทำเป็นภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุด “หลอดยาสีพระทนต์พระราชทาน” และชุด “ข้าวผัดอิ่มใจ” ปลุกจิตสำนึกประชาชนรู้คุณค่า และใช้พลังงานอย่างประหยัด

“พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการพัฒนาพลังงานประเทศไทย ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์มาโดยตลอด ทั้งในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้น้อมนำมาสานต่อจนก่อเกิดเป็นแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และแผนอนุรักษ์พลังงานซึ่งถูกบรรจุไว้ในแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ”

พล.อ.อนันตพร กล่าว

 

พระราชกรณียกิจด้านพลังงานที่สำคัญทางด้านพลังงานของประเทศไทยนั้น พบว่า พระองค์ทรงเป็นผู้เปิดประตูสู่การพัฒนาพลังงานไทย

จากการที่ทรงสนับสนุนให้เกิดเขื่อนภูมิพล ปี 2500 ต้นกำเนิดของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย

เพราะแรกเริ่มประเทศไทยมีโรงงานผลิตไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ใช้ฟืนและแกลบเป็นเชื้อเพลิง แต่ไฟฟ้าไม่พอใช้ ทำให้ต้องมีการดับไฟแต่ละเขตทุกวัน

เมื่อมีพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮีในปี 2500 จึงก่อให้เกิดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขึ้น พร้อมกับได้ก่อสร้างเขื่อนยันฮี

แต่ต่อมาได้พระราชทานพระปรมาภิไธยชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล”

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังสนพระราชหฤทัยในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง เพื่อเสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่

ทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้

ตัวอย่าง เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จังหวัดยะลา โดยโรงไฟฟ้านี้พบอุปสรรคใหญ่ คือ มีการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ แต่ก็สามารถดำเนินการจนสำเร็จ

อีกตัวอย่างสำคัญ พระองค์ทรงเริ่มต้นการศึกษาวิจัยพลังงาน เพื่อรองรับภาวะวิกฤตขาดแคลนในอนาคต โดยทรงศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 2528 ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยพระราชทานทุนวิจัยเริ่มต้นจำนวน 925,500 บาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ

กระทั่งปี 2537 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาสามารถขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน 91 ในอัตราส่วน 1:9

เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

 

ปี2526 ในหลวง ร.9 ยังทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

ต่อมาในปี 2528 ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มสาธิตที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทรงมีพระราชดำรัสให้ไปทดลองสร้างโรงงานให้กลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในพื้นที่จริง

และในปีถัดมาทางมหาวิทยาลัยได้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทดลองขึ้นที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่

ต่อมาเมื่อปี 2543 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล

ซึ่งจากการทดสอบ พบว่าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ

หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลได้ตั้งแต่ 0.01% ไปจนถึง 99.99%

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังสนพระราชหฤทัยโครงการผลิตก๊าซจากขยะ และทรงมีพระราชประสงค์ให้โครงการดำเนินอย่างรวดเร็ว จึงทรงพระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนาจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่คณะทำงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งปี 2552 คณะทำงานสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 480,080 ยูนิต พร้อมพระราชทานแนวทางการฝังกลบเพื่อกำจัดขยะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงเข้าใจกลไกธรรมชาติ ทอดพระเนตรประโยชน์ของมูลโคที่หลายคนไม่เห็นค่า ทรงมีพระราชดำริให้มีการทดลองผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลโคด้วยกระบวนการหมัก ทำให้ได้ก๊าซชีวภาพใช้เป็นเชื้อเพลิงส่วนพระองค์และโรงโคนม

ในส่วนของพลังงานทดแทนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง ระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ ล้วนแต่มีตัวอย่างกระจายอยู่ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ

จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์คือ พระบิดาแห่งพลังงานไทย อย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาพลังงานไทยในปัจจุบันที่ยืนอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นพฤติกรรมที่คนไทยใช้พลังงานแบบสิ้นเปลือง โดยเฉพาะพลังงานประเภท น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ตลอดจนไฟฟ้า

เรื่องนี้ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยอมรับว่า สถานการณ์พลังงานช่วง 9 แรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2559) มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 4.8% อยู่ที่ 137 ล้านลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเกือบทุกประเภทตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แม้จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่ราคาเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ คือ ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 26 บาทต่อลิตร ยกเว้นน้ำมันเบนซิน 95 ที่ราคาประมาณ 32 บาทต่อลิตร ทำให้มีความต้องการใช้ในระดับสูง โดยเฉพาะภาคการขนส่ง ส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซินคาดเพิ่มขึ้น 12.1% และน้ำมันดีเซลคาดเพิ่มขึ้น 4.1%

ด้วยสถานการณ์ความสิ้นเปลืองดังกล่าวทำให้ สนพ. ตัดสินใจจัดสรรงบประมาณ 40 ล้านบาทนำโครงการ “รวมพลังหาร 2” ที่เคยประสบความสำเร็จกลับมารณรงค์อีกครั้ง เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานของชาติอย่างจริงจัง

เพราะเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อหลวงทรงพยายามพร่ำสอนคนไทยมาตลอดนั่นเอง…