Exvclusive : ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ ตอบให้! เศรษฐกิจดีจริงหรือไม่? และ สภาวะของ “ผู้นำ” คืออะไร ?

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดที่แล้ว ตอบทันทีที่ถาม “เศรษฐกิจตอนนี้ดีจริงหรือ?” ว่าใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าประเทศเราหรือว่าประเทศไหนก็ย่อมพยายามบอกว่าผลงานที่ตัวเองทำมันดีกว่า ดีขึ้นเป็นเรื่องปกติ

ฉะนั้น ที่รัฐบาลนี้พยายามบอกว่าเศรษฐกิจดี ในฐานะที่เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์เรารู้ว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” ปัจจัยตัวเลขขยายตัวเป็นเพียง 1 ใน 3 ปัจจัยที่บอกว่าเศรษฐกิจดี

คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์จะรู้ดีว่ายังมีอีก 2 ปัจจัยสำคัญ (มากกว่า) คือเรื่องของการกระจายรายได้ จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเม็ดเงินต้องไม่ไปตกอยู่กับรายใหญ่อย่างเดียว แต่รายกลางรายเล็กไม่ค่อยได้ ซึ่งนั่นมันอาจจะทำให้ตัวเลขเฉลี่ยของเศรษฐกิจสูงได้ ถึงได้มีการใช้คำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” มาเป็นคำอธิบายในช่วงเวลานี้

ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของเสถียรภาพราคา

คือถ้าเศรษฐกิจโต มีการกระจายรายได้ที่ดี สินค้าต่างๆ ต้องมีราคาค่อนข้างทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงแบบหวือหวา

ฉะนั้น ถ้าเราจะพูดว่าเศรษฐกิจดีแล้วใช้เพียงมิติเดียวมองมันไม่ครอบคลุมในเชิงภาพรวม

: เรียกได้ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยพ้นโคม่า?

ผมมองว่าในด้านการกระจายรายได้มันไม่มีสัญญาณว่าดีขึ้นเลย ตัวเลขที่นานาชาติวัดเราเขาให้ประเทศเราเป็นอันดับ 3 จากสุดท้ายในโลกนี้ที่มีความแตกต่างรายได้ของคนที่รวยที่สุดและจนมากที่สุด

ผมมองว่าความรุนแรงตรงนี้ยังมีอยู่และอาจจะมากขึ้นด้วย

ในสภาวะเช่นนี้ คนระดับล่างๆ ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจระดับเชิงนโยบายได้ ทั้งที่คนข้างล่างมีจำนวนมากกว่ามหาศาล เขาจะมีโอกาสสำคัญและมีสิทธิ์เท่ากับคนระดับบนคือ “วันที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง” เขาสามารถใช้อำนาจตรงนั้นตัดสินใจได้ ว่าเขาจะเลือกใครมาบริหารประเทศ ในนโยบายแบบไหน

วันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยสูง คนระดับล่างจะได้รับการเอาใจใส่มาก จนบางครั้งมีวาทกรรมในเชิงการเมือง โดยการใช้คำว่า “ประชานิยม” แต่บางคนก็พยายามทำให้คำนี้มีความหมายในเชิงติดลบ

สภาวะที่มีประชาธิปไตยน้อยหรือมีคนใช้คำว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่ไม่มีใครมีโอกาสไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร โอกาสที่เขาจะได้รับความใส่ใจอาจจะมีอยู่น้อย

แต่ช่วงนี้อยู่ใกล้โรดแม็ปสู่การเลือกตั้ง ดูเหมือนท่าทีของฝ่ายบริหารประเทศ หรือผู้ที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาเริ่มมีการพูดจาเห็นใจประชาชนผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น หรือถ้าพูดอย่างหยาบๆ คือ “เขาเริ่มเห็นหัวแล้ว” เพราะใกล้การเลือกตั้ง

ผมอยากสรุปว่า การกระจายรายได้ยังอยู่ในขั้นโคม่า ในทางเศรษฐศาสตร์วันนี้ต้องใช้ทฤษฎี Positive sum Game คือการที่คนข้างล่างได้มากขึ้นจะส่งผลให้คนที่อยู่ข้างบนได้รับผลพลอยได้ไปด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ผู้มีรายได้น้อย ถ้าเขาได้มากขึ้นเขาจะไปทำให้ร้านอาหารหรูขายหูฉลามดีขึ้นด้วยได้อย่างไร?

คำตอบคือ ถ้าคนระดับล่างมีรายได้มากขึ้นเขาสามารถไปบริโภคลูกชิ้นปิ้ง ไปซื้อรองเท้าแตะ ซื้อเสื้อยืดไปฝากลูกที่บ้าน ซื้อสิ่งของต่างๆ ได้มากขึ้น

คนที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ (คนชั้นกลาง) ก็มีรายได้มากขึ้น สามารถจ้างลูกจ้างได้มากขึ้นเศรษฐกิจก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงชั้นบนๆ พอเศรษฐกิจหมุนหลายๆ วงรอบเขามีผลพลอยได้ สามารถไปภัตตาคารหรูๆ ได้ มันเกิดขึ้นจากการดูแลข้างล่างให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมานิดหนึ่ง

ผลสุดท้าย เศรษฐกิจจะหมุนไปถึงระดับบน

: เท่าที่เห็น “รัฐบาลปัจจุบัน” ก็พยายามดูแล “คนข้างล่าง” มากขึ้น?

รัฐบาลบอกว่ากำลังทำโครงการประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน

ผมก็เพิ่งสังเกตเห็นว่าเพิ่งจะมาตื่นตัวในระยะหลังๆ เพราะว่ากลิ่นอายของประชาธิปไตยเริ่มมา ก็เริ่มเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้มากขึ้น

จากโครงการที่เกิดขึ้นบวกกันแล้ว สมการนี้จะเท่ากับ ประชานิยม = ประชารัฐ+ไทยนิยม หรือเปล่า เพราะว่ามีคำเดิมอยู่ครบ โดยมีคำใหม่มาแทรกเล็กน้อย ถ้าทำโครงการโดยไม่ได้คำนึงอย่างละเอียดถึงประสิทธิภาพหรือประโยชน์อย่างเต็มที่ โครงการนี้ก็เป็นเพียงแค่ “การแจก” การกำหนดร้านค้าที่มีสิทธิ์ในการนำบัตรที่คนระดับล่างไปขึ้นะเบียนไว้ พบว่ามีสินค้าอยู่ไม่มากรายการ

ยิ่งถ้านับจำนวนโรงงานที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเราเห็นว่ามีรายใหญ่อยู่ไม่กี่เจ้าที่ได้เงินจากตรงนั้นไป จำนวนรอบในการหมุน จะสังเกตเห็นได้ว่ามันไปถึงข้างบนรวดเร็ว มันไม่สามารถหมุนหลายๆ รอบ อย่างที่ผมยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ได้

: จนถึงวันนี้ 4 ปีมาแล้ว คนในรัฐบาลนี้ยังบอกว่าต้องมาแก้ปัญหาของรัฐบาลก่อน?

ความจริงรัฐบาลทุกรัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาจากรัฐบาลในอดีตทั้งนั้น แต่เรามักจะไม่ค่อยได้ยินนายกรัฐมนตรีในอดีตเขาพูดแบบนี้

แต่การที่นายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบันพูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างครั้งแล้วครั้งเล่า ผมไม่คิดว่าผมจะเข้าใจท่านได้ จะพูดเพราะว่ามีทัศนคติอะไรเป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่าน ผมคิดถึงพุทธศาสนา มโนกรรม คือ ความคิดในความคิดของท่านไม่มีใครรู้ว่าท่านคิดอะไร อาจจะรู้ของท่านเองคนเดียว กายกรรม คือการปฏิบัติ แต่พอมันออกมาเป็น วจีกรรม การที่ท่านพูดบ่อยๆ ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่

ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดที่แล้ว บอกว่าปัญหามาจากอดีต ผมก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์ในการทำงานง่ายขึ้นของท่าน

เช่น ผมกับท่านยิ่งลักษณ์ทำระบบในการชำระหนี้สาธารณะวางไว้ หลังจากหนี้ตัวนี้ไม่เคยถูกชำระมาเลย (หนี้เกิดตั้งแต่ปี 2542) รัฐบาลผ่านๆ มาต้องมาจ่ายดอกเบี้ยปีละ 7 หมื่นล้านทุกปี เงินต้นไม่ลด ผมไม่เห็นท่านเคยพูดเรื่องนี้ว่าผมทำงานจนสามารถสร้างกลไกในการชำระหนี้ได้แล้ว และปัจจุบันหนี้สาธารณะก้อนนั้นเงินต้นน่าจะลดลงมาประมาณ 3 แสนล้านแล้ว ผมก็ไม่เคยเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์จะไปอวดอ้างสรรพคุณเรื่องนี้ที่ไหน

ผมเคยพูดคำหนึ่งระหว่างไปบรรยายให้นักศึกษาฟังว่า ทุกคนสามารถคิดว่าตัวเองเป็นคนเก่งคนดีได้โดยไม่ต้องทำให้คนอื่นดูเหมือนว่าเป็นคนเลว

: ชวนสนทนาเรื่อง “สภาวะผู้นำ”

การเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร เดี๋ยวนี้ทุกคนสามารถใช้ Google เข้าไป Search คำว่า leadership ก็จะมีการแสดงผลว่าการเป็นผู้นำมีอยู่ 9 ประเภทที่โลกนิยมจะแบ่งกัน

ผมอยากยกตัวอย่างของ transitional leadership คือการที่ผู้นำสามารถทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างและจูงใจให้คนเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในสิ่งที่ดีขึ้น ดีกว่าเดิม และเป็นผู้นำที่จะนำพาไปสู่จุดนั้นได้ สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์เป็น เป็นคำที่อยู่ในนั้นเลย คือการเป็น Servant leadership คือเป็นผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ เป็นภาวะการนำที่มาจากกลไกของประชาธิปไตย

คุณยิ่งลักษณ์มีหน้าที่รับใช้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ออกคะแนนเสียงทั้งผู้ที่เลือกและผู้ที่ไม่ได้เลือกท่าน เพราะฉะนั้น คุณยิ่งลักษณ์ต้องมีหน้าที่เป็นผู้รับใช้ประชาชนทุกคนในหลักการของการเป็นผู้รับใช้คือต้องการ มีความเข้าใจปัญหาของ “นาย” ซึ่งคือประชาชน

ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ทำอะไรที่ไม่ถูกใจ ไม่ทันใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำการสื่อสารหรืออภิปรายได้ สื่อมวลชนสามารถวิจารณ์ได้ ท่านก็ต้องไปปรับปรุงการทำงาน

สิ่งที่ผมสังเกตเห็น เช่น เวลาท่านเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ปกติผู้นำจะนั่งเก้าอี้ตัวแรก 1a การเดินทางยังยาวๆ ผู้ร่วมโดยสารเหนื่อยล้าปิดไฟนอนทั้งหมด ผมสังเกตเห็นคุณยิ่งลักษณ์เปิดไฟ เตรียมงาน พยายามดูประเด็นต่างๆ ให้รอบคอบ เพราะว่าในโต๊ะเจรจาการค้าแม้ว่าจะมีคณะ มีรัฐมนตรีนั่งประกบข้าง แต่ผู้ที่นำต้องเป็นผู้นำสนทนา ผมสังเกตเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำงานหามรุ่งหามค่ำราวกับเป็นคนรับใช้ จากความคุ้นเคยที่เราอาจจะคิดว่าเจ้านายต้องนอนสบาย ผมมองว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำงานหนักจริงๆ

ส่วนนายกฯ คนอื่นหรือคนปัจจุบันจะเป็นแบบไหน ผมไม่คุ้นเคย แต่ด้วยกลไกในเรื่องภาวะผู้นำ 9 แบบที่ผมบอก 1 ใน 9 ประเภทนี้ มีคำว่า autocratic leadership เราเปิดต่อได้เลยใน Google แปลว่าผู้นำเผด็จการ หมายถึงการนำโดยไม่จำเป็นจะต้องคำนึงว่าประชาชนจะมาหย่อนหรือไม่หย่อนบัตรให้เรา การที่จะเปิดใจรับฟังใครไม่เหมือนกับผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ ประชาชนคงสังเกตเอาเองได้ว่าผู้นำคนปัจจุบันเป็นแบบไหน และให้ดูสิ่งที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา

ก่อนจะทิ้งท้ายสนทนาว่า ผมเองก็หวังว่าจากนี้จะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนดเวลา (เสียที) และมันจะเป็นเรื่องที่ดีกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วย