พบภิกษุณีอาราม ศตวรรษที่ 12

คุณคริสตี้ เป็นชาวอเมริกัน ตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย เคยเห็นผู้เขียนนานแล้ว คือเขารู้จักเราฝ่ายเดียว ไม่เรียกว่าได้รู้จักกัน

อยู่ๆ เธอก็จดหมายมาทางอีเมลขอให้ช่วยออกจดหมายเชิญอาจารย์อนิล กุมาร ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน อินเดีย

เป็นความบังเอิญที่คุณคริสตี้เองก็ไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เขียนจบปริญญาตรีจากที่นั่น การจะออกหนังสือเชิญอาจารย์จากศานตินิเกตันจึงยินดีทำให้อย่างยิ่ง

ทำไมต้องอาจารย์ท่านนี้ ก็ท่านเป็นอาจารย์ทางโบราณคดี ก็ยังไม่ปิ๊งนะ

ท่านขุดค้นพบอารามภิกษุณีด้วย ว้าว คราวนี้ปิ๊งเลยค่ะ

จากชื่อ นามสกุล ก็บอกได้ว่าท่านไม่ใช่ชาวเบงกอลี แต่ผู้เขียนก็ยังเรียกท่านว่า อนิลดา ดาดา แปลว่าพี่ชายค่ะ นักศึกษาจะเรียกอาจารย์ว่า ดาด้า ดิดี้ ถ้าเป็นหญิง ท่านมาจากพุทธคยา

ทั้งบิดาท่านก็เป็นอาจารย์ที่สอนโบราณคดี เราล้อกันว่า พวกนี้อาชีพขุดดิน แต่ขุดดินแบบละเมียด ใช้แปรงค่อยๆ ปัด แซวเล่นนะคุณขรรค์ชัย

ทุกปีท่านจะนำนักศึกษาออกฝึกงานขุดดินปีละ 4 เดือน เนื่องจากท่านเป็นคนเกิดที่พุทธคยา ท่านจึงสนใจหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำไว้ตั้งแต่คราวท่านเซอร์คันนิ่งแฮม ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย ตั้งแต่อังกฤษยังปกครองอินเดียเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาโน่น

แต่เพราะเซอร์คันนิ่งแฮมเป็นนักโบราณคดี ชาวพุทธก็เลยได้อานิสงส์โดยตรงจากท่าน ท่านสนใจงานโบราณคดี

 

ใต้พื้นดินประเทศอินเดียนั้นมีร่องรอยเรื่องราวของพุทธศาสนามหาศาล เก็บฝากไว้กับแม่พระธรณี

ที่บริเวณพุทธคยานั้น เซอร์คันนิ่งแฮมเคยเขียนรายงานการขุดค้นที่หมู่บ้านชื่อลักขีสาราย อยู่ทางตะวันออกของนาลันทา ได้พบผอบ และพระธาตุด้วย

อาจารย์อนิลเลยใช้หมุดเดิมที่คันนิ่งแฮมปักไว้ตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนนั้น เป็นหมายเริ่มศึกษาหมู่บ้านรอบๆ ตำบลลักขีสาราย ทำการศึกษาภาพกว้าง มีร่องรอยฐานพระสถูปใหญ่หลายแห่ง

ในละครเรื่องนี้ มีภิกษุณีเป็นตัวเชื่อม

กล่าวคือ มีชื่อภิกษุณีสองรูปปรากฏบนคัมภีร์ อัษฏสาหัสริกา ปรัชญาปารมิตาสูตร เขียนโดยเลขาชื่อศรีธรกร ในเมืองโฆศลีคราม ในปีที่ 17 ของการครองราชย์ของกษัตริย์พระนามมัทนปาละ (ค.ศ.1160) ราชวงศ์ปาละ ภิกษุณีชื่อมหาศรีภัทรา ผู้เป็นศิษย์สร้างคัมภีร์นี้ถวาย พระอาจารย์ชื่อภิกษุณีวิชัยศรีภัทรา

พระคัมภีร์นี้ เขียนบนใบปาล์มขนาดกว้าง 2 นิ้ว ยาว 18.5 นิ้ว มีรูปวาดประกอบ 14 รูป เป็นเรื่องราวจากพุทธประวัติ และพระโพธิสัตว์ต่างๆ ลายมือที่คัดชัดเจนและเขียนจากมือที่ชำนาญ

ส่วนรูปภาพนั้น เป็นแบบที่เห็นที่นาลันทา แต่คุณภาพสีไม่ดีเท่างานที่มาจากนาลันทาโดยตรง

หลักฐานจากคัมภีร์นี้ เราได้ชื่อภิกษุณีสองรูป เราได้สมัยที่สร้างคือ ค.ศ.1160 แต่เราไม่ทราบว่ามาจากที่ไหน

หลักฐานจากโบราณคดีมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ความเข้าใจของเรากระจ่างขึ้น

มีรูปแกะสลักหินเรียกว่าสีหนาทโลเกศวร พบที่หมู่บ้านชัยนคร ใกล้เมืองลักขีสาราย เวลานี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน เดิมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่รัสเซีย จนถึง ค.ศ.1945 ที่ฐานของสีหนาทโลเกศวรนี้ มีอักษรสลักเป็นภาษาสันสกฤตว่า ถวายแด่พระภิกษุณีวิชัยศรีภัทรา ซึ่งเป็นศากยะผู้สูงอายุ โดยมัลลิกาเทวี

พระเจ้าช่วย

วิชัยศรีภัทรา คือภิกษุณีที่ลูกศิษย์ภิกษุณีสร้างพระคัมภีร์ถวาย เราทราบว่าประมาณ ค.ศ.1160 นั่นไง

ข้อมูลที่เรายังขาดอยู่คือ ที่ไหน

ตอนนี้ ทราบแล้วจากรูปแกะสลักที่ได้ไปจากหมู่บ้านลักขีสาราย

ก่อนหน้านั้น เรามีข้อมูลยืนยันว่ามีภิกษุณีอยู่ในอินเดียถึงศตวรรษที่ 9 หลักฐานที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นหลักฐานล่าสุดคือ ศตวรรษที่ 12 (พุทธศตวรรษที่ 17-18)

ตื่นเต้นไหม

หลักฐานนี้ ทำให้เราเชื่อได้ว่าภิกษุณีสงฆ์ยังคงเดินดินอยู่ในประเทศอินเดียมาจนถึงประมาณ พ.ศ.1700-1800

ทีนี้เราจะไปดูกันต่อว่า ภิกษุณีสองรูปนี้อยู่ที่ไหน

 

คราวนี้ต้องอาศัยงานโบราณคดีของอาจารย์อนิลที่ไปขุดค้นแถบหมู่บ้านลักขีสารายนั่นแหละค่ะ

ในหมู่บ้านที่รายล้อมบริเวณนั้น เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นวัดวาอารามมาทั้งนั้น มีชิ้นส่วนที่เป็นโบราณวัตถุจำนวนมากค้นพบเรี่ยรายอยู่ทั่วบริเวณนั้น

เดือนพฤศจิกายน 2560 ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ อาจารย์อนิลและนักศึกษาที่พาไปฝึกงานที่ลักขีสาราย ได้ค้นพบอารามของภิกษุณี อาจจะเป็นที่อยู่ของภิกษุณีสองรูปเจ้าของเรื่องที่ว่ามาตั้งแต่ต้นนั่นก็เป็นได้

เหตุผล 3 ประการที่อาจารย์ชี้ให้พวกเราดูคือ ประตูที่มีร่องรอยของกรอบประตู

ประตูไม้นั้นผุสลายไปกับกาลเวลา แต่กรอบประตูนั้นมีร่องรอยของการที่เคยมีประตูชัดเจน

ประการที่สอง ต่างจากอารามของพระภิกษุที่เป็นห้องเดี่ยวมีทางเข้าเฉพาะห้อง ที่อารามนี้มีทางเข้าที่มีประตู แต่ภายในมีช่องทางเดินติดต่อถึงกันจากภายใน แสดงถึงการดูแลความปลอดภัย ไม่ใช่แต่ละห้องมีทางเข้าโดยตรง

ที่สำคัญ มีป้อมปราการระวังภัย ชัดเจนว่าเป็นอารามที่อยู่ของภิกษุณี ที่มีการรักษาความปลอดภัยมากกว่าอารามของพระภิกษุที่เราเห็นในนาลันทา หรือที่กบิลพัสดุ์ ที่ปิปราวะห์ เป็นต้น

 

ที่ประทับใจมากคือ มีข้อมูลจากสองส่วนมาเจอะกันตรงกลาง โดยตัวเชื่อมคือ ชื่อของภิกษุณีสองรูปที่เป็นศิษย์-อาจารย์กัน

งานคัดลอกพระคัมภีร์อัษฏสาหัสริกาปรัชญาปารมิตาสูตร 128 หน้า พร้อมภาพประกอบ 14 ภาพ ด้วยฝีมือของเลขาผู้ชำนาญการ ต้องใช้ปัจจัยเป็นจำนวนมาก แสดงถึงสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของผู้เป็นศิษย์ภิกษุณี อีกทั้งรูปแกะสลักที่มัลลิกาเทวีสร้างถวายภิกษุณีผู้เป็นอาจารย์นั้นเป็นงานที่ใช้ปัจจัยมาก เพราะมีขนาดใหญ่และรายละเอียด อีกทั้งฝีมือดีมาก จึงเป็นงานที่คาดเดาว่า ผู้ถวายก็อยู่ในจุดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และพระภิกษุณีผู้เป็นอาจารย์เป็นผู้ที่มีบารมีเป็นที่เคารพยกย่องกันในพื้นที่ดังกล่าว

อารามภิกษุณีที่อาจารย์อนิลค้นพบที่มีรากฐานมั่นคงแข็งแรงจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเป็นอารามของภิกษุณีอาจารย์รูปนี้

ชอบเตียงมากค่ะ เตียงของภิกษุณีทาสีฟ้า แล้วสีฟ้าก็ยังคงปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่เมื่อเปิดพื้นที่แล้ว ไม่ทราบว่าสียังคงทนอยู่หรือไม่

มาทีนี้ มาถึงตอนที่เป็นภาคปฏิบัติ รัฐบาลอินเดียยังไม่มีประกาศให้ดินแดนเขตที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นพื้นที่หวงห้าม

 

อาจารย์อนิล เวลาจะนำนักศึกษาเข้าไปทำงาน ก็ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลของแคว้นพิหาร ที่เป็นแคว้นที่ประชากรยากจนที่สุด ก้อนอิฐจากโบราณสถานตอนนี้ ชาวบ้านก็มาขนไปทีละกระบุงสองกระบุงไปสร้างบ้านตัวเอง

อารามของภิกษุณีที่พบนี้ ตอนนี้ อาจารย์เล่าว่า เอาลำแพนบังไว้ ไม่ให้น้ำฝนชะ จะได้ไม่ต้องขุดกันใหม่ ดูเหมือนว่าอาจารย์จะของบประมาณจากรัฐบาลของแคว้นพิหาร นำนักศึกษาเข้าไปขุดค้น แต่ปีนี้ก็ยังไม่ได้งบประมาณที่รัฐอนุมัติของปีก่อนเลย

อาจารย์และนักศึกษาต้องกินง้วนดินไปพลางก่อน

พ.ศ.2562 ท่านธัมมนันทาจะนำลูกศิษย์ของท่านไปรับการอุปสมบทที่พุทธคยา วันที่ 29 มกราคม โดยคราวนี้สมาคมมหาโพธิ์แห่งพุทธคยาจะเป็นเจ้าภาพ จัดการอุปสมบทนานาชาติ จากประเทศไทยตอนนี้เรามีรายชื่อ 8 รูป

หลังจากการอุปสมบท จะเป็นการประชุมนานาชาติ วันที่ 30-31 มกราคม วันที่ 1 ท่านธัมมนันทาจะพาลูกศิษย์ของท่านไปนาลันทา และวางแผนว่าจะออกไปนอกเส้นทางเพื่อเยี่ยมชมอารามภิกษุณีแห่งนี้

แค่คิดก็สนุกแล้วค่ะ เชิญติดตามตอนต่อไป ปีหน้าเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ