ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กันยายน 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
ในประเทศ
นายทหารพิเศษ
ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ
รักษาพระองค์
ต้องไม่ลืมว่า
ก่อนวันที่ 1 กันยายน 2561
ที่จะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่องให้นายทหารรับราชการ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ
โดยให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารบก
มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561
ตามความคาดหมายนั้น
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง
“นายทหารพิเศษ”
ความว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายทหารพิเศษ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน”
นั่นเท่ากับว่า
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผช.ผบ.ทบ. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 41 ของกองทัพบกไทย มีตำแหน่งที่สำคัญดำรงอยู่ก่อนแล้วอีกตำแหน่งหนึ่ง
นั่นคือ
“นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.)”
ถือเป็นนายทหารเพียงคนเดียวของกองทัพบก ณ เวลานี้ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งดังกล่าว
ซึ่งแน่นอน พล.อ.อภิรัชต์ต้องปฏิบัติตัวโดยเคร่งครัดในฐานะนายทหารรักษาพระองค์
มีภารกิจสำคัญในการปรับบทบาทและภารกิจของกองทัพ
ในส่วนที่เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ใหม่ ทั้งหน่วย ที่ตั้ง และกำลังพล
ที่มีความสำคัญยิ่ง
ขณะเดียวกันจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำกองทัพบก
ด้วยการสืบต่อแนวทางเตรียมย้ายที่ตั้งหน่วยทหารออกนอกกรุงเทพฯ ตามที่กรมยุทธการทหารบก (ยก.ทบ.) ได้ประชุมเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดประชุมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม
จะเริ่มย้ายยานเกราะระดับกองพัน กองร้อย จากพื้นที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรี หรือจังหวัดลพบุรี
นอกจากนั้นหากมีความจำเป็นจะย้ายหน่วยปืนไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ตามแผนระยะที่ 2 ต่อไป
ส่วนการปรับโอนหน่วยนั้น จะยุบเลิกหน่วยงานของทหารราบบางหน่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้โอนกำลังพลเฉพาะกำลังรบ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ตามประเภทและความต้องการไปยังหน่วยรับโอน
ทั้งนี้ กองทัพบกได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการ โดยมีเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ) เป็นประธาน
ส่วนคณะทำงานดำเนินการปรับโอนหน่วย จะมีเจ้ากรมยุทธการทหาร (จก.ยก.ทบ.) เป็นประธาน
โดยกำหนดแผนงานให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 และให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ในช่วงนี้ให้หน่วยที่ต้องโอนย้ายเตรียมชี้แจง ขอบเขตที่ดิน อาคาร พร้อมเสนอที่ตั้งใหม่, ความต้องการงบประมาณในการดำเนินการ โดยให้เสนอเป็นระยะตามแผนงบประมาณแต่ละปี ทั้งนี้ หน่วยจะต้องดูแลและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกำลังพลและครอบครัวให้ได้มากที่สุด
ถือเป็นงานที่เร่งด่วนที่ผู้บัญชาการทหารบกจะต้องเข้ามากำกับดูแล
ซึ่งหากสำเร็จลุล่วง “ภูมิทัศน์ใหม่” ของกองทัพบก จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อม “ผู้นำใหม่”
ไม่แค่นั้น พล.อ.อภิรัชต์ยังจะต้องมีบทบาทสำคัญ ในฐานะเลขาธิการ คสช.
เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ที่ต้องร่วมมือทำงานกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบหลังการเลือกตั้ง
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พล.อ.อภิรัชต์คงถูกจับตามมองโดยใกล้ชิดว่าจะนำกองทัพไปยืนอยู่ในจุดใด
แม้ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 อันจะมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเลือกตั้งว่า ไปเกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้ง ไม่เข้าใจจริงๆ
“การโยกย้ายนายทหารประจำปี เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ทำเพื่อรักษาอำนาจให้กับใครอะไรที่ไหน เหมือนกับผมที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่จนเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งผมก็ทำหน้าที่ตอบสนองรัฐบาลทุกรัฐบาล จะไปค้านรัฐบาลได้อย่างไร ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร”
สอดคล้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวว่า “ยืนยันว่าไม่มีการโยกย้ายเพื่อรับการเมืองโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง”
แม้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะประสานเสียงยืนยันว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของ พล.อ.อภิรัชต์ จะไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
แต่กระนั้น บทบาทของ “บิ๊กแดง” ก็ถูกจ้องมองอย่างใกล้ชิดว่า จะนำพากองทัพไปสู่จุดใด
มีระยะห่างหรือใกล้การเมืองเพียงใด
และจะสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “นายทหารพิเศษ” อย่างไร
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เกิดเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ.2503 เป็นบุตรชายคนโตของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีบทบาทในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 กับ พ.อ.หญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 (ตท.20) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 31 (จปร.31)
เคยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, แม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1, ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15, ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 จังหวัดฉะเชิงเทรา, ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 รอ.)
ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือประธานบอร์ดกอง สลาก, กรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)