สุรชาติ บำรุงสุข : สงครามในยุทธศาสตร์โลก – โลกในยุทธศาสตร์ไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ในทางยุทธศาสตร์การมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลประหนึ่งว่าสิ่งนั้นอยู่ใกล้ และเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ด้วยสายตาที่มองไกลนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ”

มิยาโมโต มูซาชิ นักดาบชาวญี่ปุ่น

การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติคือ การกำหนดทิศทางในระดับมหภาคสำหรับการเคลื่อนตัวของประเทศไปสู่อนาคต

ซึ่งการเคลื่อนไปข้างหน้าเช่นนี้เกิดในบริบทที่มีสภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นปัจจัยแวดล้อม หรือที่เรามักจะพูดในยุคปัจจุบันเสมอว่า “โลกล้อมรัฐ” เพราะรัฐในเวทีโลกไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ หรือรัฐไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เป็นสุญญากาศ จนไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบจากปัจจัยในเวทีโลก

และยิ่งโลกอยู่ในบริบทของความเป็นโลกาภิวัตน์มากเท่าใด ปัจจัยระหว่างประเทศก็ยิ่งมีผลกระทบต่อรัฐมากเท่านั้น

ปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ในทางยุทธศาสตร์

การประเมินสภาวะแวดล้อมหรือการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกจึงเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการทำยุทธศาสตร์ของรัฐ

ซึ่งหากพิจารณาดูจากการศึกษาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ จะเห็นได้ว่ากรอบเวลาของการศึกษาจะอยู่ในระยะเวลา 10 ปี หรือที่นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์มักจะใช้กรอบเวลาหนึ่งทศวรรษเป็นพื้นฐานในการทำข้อพิจารณา เพื่อให้นักยุทธศาสตร์สามารถมองเห็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อโลกและต่อรัฐได้ชัดเจน

อันจะทำให้กระบวนการยุทธศาสตร์ (strategy process) มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้เกิดแผนและ/หรือนโยบายยุทธศาสตร์สำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตตามที่มุ่งหวังได้

ดังนั้น หากทดลองมองความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงของโลกในกรอบเวลาหนึ่งทศวรรษ และทดลองนำเสนอผ่านรูปแบบที่เป็นสงครามแล้ว เราอาจจะเห็นสงครามหลากหลายแบบที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกและของไทย

ดังนี้

1)สงครามการเมืองของรัฐมหาอำนาจเก่าและใหม่

หากมองการเมืองโลกผ่านตัวแสดงที่เป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าโลกตกอยู่ในสภาวะของการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ซึ่งคงต้องยอมรับในปัจจุบันว่า ระเบียบระหว่างประเทศของยุคหลังสงครามเย็นที่เป็นโลกแบบ “ขั้วเดียว” และมีสหรัฐเป็นมหาอำนาจหลักฝ่ายเดียวนั้น น่าจะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

ต้นศตวรรษที่ 21 เปิดให้เห็นถึงการเติบใหญ่ของจีน พร้อมกับการฟื้นตัวของรัสเซีย (ในความหมายอีกด้านหนึ่งคือสหภาพโซเวียตเดิม) แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าโลกปัจจุบันกลับสู่ยุคสงครามเย็นที่เป็นแบบ “สองขั้ว”

แต่ก็ชัดเจนว่า ระเบียบระหว่างประเทศไม่ใช่เป็นแบบขั้วเดียวอีกต่อไป บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐไม่ได้อยู่ในแบบยุคหลังสงครามเย็น ขณะเดียวกันการขยายอิทธิพลของจีนและการฟื้นบทบาทของรัสเซียเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการเมืองโลกปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หากมองแนวโน้มในหนึ่งทศวรรษหน้า จะเห็นได้ชัดว่าการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกับสภาวะของ “สงครามการเมือง” ของยุคสงครามเย็น

และอาจคาดการณ์ได้ถึงการกลับสู่โลกแบบสองขั้วอีกครั้ง และในทางทฤษฎีสิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันระหว่าง “รัฐมหาอำนาจเก่า” และ “รัฐมหาอำนาจใหม่”

ซึ่งการแข่งขันเช่นนี้อาจจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะเวลา 10 ปีหน้า และอาจกล่าวได้ว่า หากมองจากบริบทของการเมืองโลกแล้ว ทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจใหญ่

ถ้าเช่นนี้แล้ว ประเทศเล็กทั้งหลายจะกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเองอย่างไรกับการแข่งขันดังกล่าว

เพราะยิ่งการแข่งขันทวีความเข้มข้นมากขึ้นเท่าใด การแสวงหาพันธมิตรของรัฐมหาอำนาจเพื่อการขยายอิทธิพลในการควบคุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ก็จะยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น

การดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศสำหรับประเทศเล็กจึงต้องการความเข้าใจต่อพลวัตของสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

การขาดความรู้และความเข้าใจของผู้กำหนดนโยบายจะเป็น “ปัจจัยลบ” ต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือแม้แต่จะดำเนินนโยบายแบบพวก “เกาะขบวนเกวียน” (bandwagon) ด้วยการเคลื่อนไปกับกระแสของรัฐมหาอำนาจใหญ่ก็ยังจะต้องรู้ว่าจะเกาะขบวนอย่างไรและเมื่อไหร่

เพื่อไม่ให้ปัจจัยระหว่างประเทศกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแบกรับได้

2)สงครามการค้าระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่

การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

แต่เดิมสหรัฐถือว่าเป็นประเทศหลักที่ขับเคลื่อนโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จนอาจต้องถือว่าสหรัฐเป็นผู้นำสำคัญของการขยายความเป็นเสรีทางเศรษฐกิจออกสู่ตลาดโลก

แต่ผู้นำสหรัฐปัจจุบันกลับเสนอทิศทางที่แตกต่างจากเดิม ด้วยการนำนโยบายของ “ลัทธิกีดกันการค้า” (Protectionism) มาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ

และขณะเดียวกันก็หันกลับไปใช้เครื่องมือเก่าคือ การตั้ง “กำแพงภาษี” (tariffs) เพื่อหวังจะกดดันจีนให้ยอมรับต่อข้อเรียกร้องทางการค้าของสหรัฐ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเช่นนี้กำลังนำพาโลกไปสู่ “สงครามการค้า” ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การกำเนิดของสงครามการค้าในต้นศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในเวทีโลก

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สงครามการค้าได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก เพราะด้านหนึ่งสงครามนี้เป็นเสมือนแรงที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นข้อสังเกตสำคัญว่า สหรัฐในฐานะของ “แชมเปี้ยนแห่งเศรษฐกิจเสรี” ได้กลายเป็น “ผู้นำแห่งการกีดกันการค้า”

และเมื่อสหรัฐยิ่งหันไปกดดันจีนด้วยกำแพงภาษีที่มากขึ้นแล้ว จีนย่อมจะตอบโต้ในทิศทางที่ไม่แตกต่างกัน

ผลกระทบไม่ใช่เพียงจะเกิดกับเศรษฐกิจของมหาอำนาจทั้งสองเท่านั้น หากแต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ

เพราะการผูกโยงของระบบการผลิตและอุตสาหกรรมของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ และการตอบโต้ที่เกิดขึ้นกำลังกลายเป็นสัญญาณลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และขณะเดียวกันก็ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองทรุดตัวลง จนทำให้หลายฝ่ายกังวลอย่างมากว่า ปัญหานี้อาจขยายตัวเป็น “การเผชิญหน้าทางยุทธศาสตร์” ได้อนาคต

และที่สำคัญยังไม่สามารถคาดได้ว่า สงครามการค้าชุดนี้จะจบลงอย่างไร และเมื่อใด

หากมองในกรอบทางทฤษฎีแล้ว ภาพของการต่อสู้ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับจีนก็คือการตอกย้ำถึงการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น และสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่เกิดขึ้นทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจควบคู่กันไป

และในหนึ่งทศวรรษหน้า การต่อสู้ชุดนี้น่าจะยังดำรงอยู่และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผู้นำของประเทศเล็กที่เศรษฐกิจผูกอยู่กับทั้งสหรัฐและจีน จะกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่อย่างไรในการรับมือกับสถานการณ์สงครามการค้าครั้งนี้

3)สงครามอสมมาตรระหว่างผู้อ่อนแอและผู้แข็งแรง

หากพิจารณาแนวโน้มความขัดแย้งในทศวรรษหน้าแล้ว โอกาสเกิดสงครามตามแบบอาจจะยังมีความเป็นไปได้ แต่ก็อยู่ในระดับต่ำมาก เพราะ “สงครามระหว่างรัฐ” ที่ใช้กำลังพลประจำการเข้าทำการรบโดยตรงมีลักษณะของ “สงครามสมมาตร” นั้น มีค่าใช้จ่ายทั้งทางการเมืองและการทหารสูงเกินไป

และในขณะเดียวกันก็มีกลไกทางการเมืองในการควบคุมความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่หรือหากขยายตัวก็อาจนำไปสู่การแทรกแซงของรัฐภายนอก เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งความขัดแย้งของรัฐเล็กที่เกิดขึ้นจริงกลับอยู่ในรูปของ “สงครามภายในรัฐ” ซึ่งมีคุณลักษณะแตกต่างอย่างมากจากสงครามระหว่างรัฐที่เป็นสงครามตามแบบ สงครามภายในมักจะปรากฏในรูปแบบของสงครามก่อความไม่สงบ การก่อการร้าย และเห็นได้ชัดว่าสงครามเช่นนี้มีลักษณะเป็น “สงครามอสมมาตร” ที่มีจุดกำเนิด แบบแผน เงื่อนไข และการคลี่คลายของสงคราม เป็นไปในอีกแบบหนึ่ง

และสงครามอสมมาตรนี้เห็นได้ชัดมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 จนมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า ศตวรรษที่ 20 เป็นเวลาของสงครามสมมาตร (สงครามโลกทั้งสองครั้ง) แต่ศตวรรษที่ 21 เป็นเวลาของสงครามอสมมาตร (สงครามก่อความไม่สงบ และการก่อการร้าย)

ข้อสมมติฐานเช่นนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า การวางยุทธศาสตร์ทหารและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐ จะคิดถึงแต่การเตรียมรับสงครามตามแบบที่เป็นสงครามสมมาตร อาจจะไม่เพียงพอ ในการตอบโจทย์ความมั่นคงที่เป็นจริงของรัฐ

ดังจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความมั่นคงที่สำคัญของยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์การโจมตีที่เกิดขึ้นกับสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้ว หลายประเทศเผชิญกับสงครามก่อการร้ายและสงครามก่อความไม่สงบไม่แตกต่างกัน

จนอาจกล่าวได้ว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของสงครามก่อการร้าย

และการก่อการร้ายถูกนิยามว่าเป็นภัยคุกคามหลักในเวทีโลก

โดยนัยเช่นนี้ความกังวลของรัฐในเรื่องของสงครามตามแบบลดระดับลง สงครามในความหมายของการบุกของกองทัพข้าศึกจากรัฐภายนอก ไม่เป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์เท่ากับการถูกโจมตีด้วยการก่อการร้าย

นอกจากนี้ หลังจากการกำเนิดของ “กลุ่มรัฐอิสลาม” ในช่วงต้นปี 2014 การก่อการร้ายดูจะทวีความรุนแรงขึ้น

แม้ในปี 2016-2017 กลุ่มจะถูกทำลายฐานที่มั่นหลักทั้งในอิรักและในซีเรีย แต่ก็ใช่ว่าสงครามก่อการร้ายได้ยุติไปพร้อมกับการลดบทบาทของกลุ่ม

นัยที่นำเสนอในการจัดตั้งรัฐศาสนจักรที่เป็นจุดขายในการขยายสมาชิกของกลุ่มลดความสำคัญลง

แต่ก็ปรากฏรูปแบบของการโจมตีใหม่ในลักษณะที่เป็น “หมาป่าตัวเดียว” (lone wolf)

ดังที่ปรากฏให้เห็นจากการก่อเหตุรุนแรงในยุโรป หรือในแบบ “หมาป่าคอกเดียว” (lone wolf den) เช่นที่เห็นมาแล้วในสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

สถานการณ์ความรุนแรงในตัวแบบของสงครามอสมมาตรเป็นประเด็นสำคัญที่ละเลยไม่ได้ในโลกปัจจุบัน ดังได้กล่าวแล้วว่าโอกาสเกิดของสงครามสมมาตรที่เป็นสงครามตามแบบมีอยู่ในระดับต่ำ แต่โอกาสเกิดของสงครามอสมมาตรที่เป็นการก่อการร้ายมีอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ที่มองไม่เห็นถึงสถานะของสงครามชุดนี้ อาจส่งผลให้ยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่รองรับต่อโลกแห่งความรุนแรงร่วมสมัย หรือกลายเป็นเพียงยุทธศาสตร์ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้จริง

ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงร่วมสมัยที่สงครามมีลักษณะเป็นอสมมาตรเช่นนี้ นักยุทธศาสตร์จะต้องลดการยึดติดอยู่กับโลกเก่าของสงครามตามแบบ

พร้อมกับลดทอนจินตนาการเก่าของสงครามที่ “รัฐรบกับรัฐ” ที่ต้องการการผลักดันนโยบายเก่าในการสร้างกองทัพใหญ่ มีกำลังพลมาก ซื้ออาวุธมาก เพราะยึดมั่นเพียง “อำนาจการยิง” ที่เหนือกว่าว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ชี้ขาดการสงคราม

ยุทธศาสตร์เก่าเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ในสงครามอสมมาตรเป็นอย่างยิ่ง และไม่เอื้อให้รัฐในปัจจุบันป้องกันตัวเองจากความรุนแรงร่วมสมัยได้เลย

การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ละเลยแบบแผนสงครามที่เป็นอสมมาตร จึงเป็นความประมาทในโลกความมั่นคงปัจจุบัน

นัยกับยุทธศาสตร์ไทย

แนวโน้มของสงครามสามแบบในกรอบเวลา 10 ปีเป็นประเด็นสำคัญทั้งในเวทีโลกและเวทีไทย กล่าวคือ สงครามการเมือง สงครามการค้าระหว่างรัฐมหาอำนาจเก่าและรัฐมหาอำนาจใหม่ และสงครามอสมมาตรระหว่างผู้อ่อนแอกับผู้แข็งแรงจะเป็น “ปัจจัยนำเข้า” ที่ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ไทยจะต้องนำมาพิจารณาด้วยความใคร่ครวญอย่างยิ่ง

และจะต้องตอบให้ได้ในทางยุทธศาสตร์ว่า แล้วประเทศไทยจะเดินไปสู่อนาคตอย่างไรภายใต้สภาพแวดล้อมของสงครามเช่นนี้

และอนาคตที่ไทยจะเดินไปนั้นมีอะไรเป็นเครื่องมือ และจะใช้เครื่องมืออย่างไรเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางของการสร้างความมั่นคงไทย

อีกทั้งการเน้นอยู่กับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงแบบไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อภัยคุกคาม ย่อมไม่เอื้อให้รัฐไทยประสบความสำเร็จในทางยุทธศาสตร์ได้จริง

สิ่งที่ผู้มีอำนาจของรัฐไทยจะต้องตระหนักอย่างมากก็คือ ยุทธศาสตร์แบบเพ้อฝันเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ยุทธศาสตร์แบบไร้ทิศทางเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์…

รัฐต้องสร้างยุทธศาสตร์ด้วยความรู้และความเข้าใจในพลวัตความเปลี่ยนแปลงของโลก

เพราะรัฐไทยไม่ใช่ศูนย์กลางโลก แต่โลกต่างหากที่โอบล้อมรัฐไทยไว้!