นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : Bob Dylan ควรค่าแก่รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจริงหรือ?

กลายเป็นที่ฮือฮาและเป็นข่าวใหญ่อยู่เกือบ 2-3 อาทิตย์สำหรับการประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ที่ผู้ที่ได้รับรางวัลกลับไม่ใช่นักเขียนสายแข็งอย่างที่เราคุ้นเคย

แต่คือ บ๊อบ ดีแลน ศิลปินชาวอเมริกันวัย 75 ปี

วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา Swedish Academy คณะกรรมการของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ได้ประกาศให้ บ๊อบ ดีแลน ศิลปินโฟล์ก ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ซึ่งสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับวงการวรรณกรรมและวงการเพลงไม่น้อย

เพราะดีแลนถือเป็น “นักร้อง-นักดนตรี” คนแรกที่ได้รับรางวัลในสาขาวรรณกรรม

มองแวบแรกก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าชื่นชมที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลมองเห็นความสำคัญของบทเพลงในฐานะของ “บทกวีที่มีทำนอง” และหากจะกวาดตามองศิลปินที่แต่งเพลงได้ไพเราะ บาดลึก งดงาม กินความหมายแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นศิลปินท่านนี้

เนื่องจาก บ๊อบ ดีแลน คือหนึ่งในนักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการเพลงโฟล์กป๊อป และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินหลายคน ตั้งแต่ออกอัลบั้มแรก Bob Dylan ในปี 1962 จนถึงปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าของเพลงฮิตอย่าง Blowin” In The Wind, Like a Rolling Stone หรือ Knockin On Heavens Door

เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดีแฮปปี้เอนดิ้งครับ ถ้าหากว่า บ๊อบ ดีแลน ตอบรับคำตัดสินและออกมาแสดงความขอบคุณ

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าเขานิ่งเงียบเป็นเป่าสาก

พูดภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่าปู่แกอินดี้จริงๆ!

ทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลก็ไม่นิ่งนอนใจออกแถลงข่าวว่าหากดีแลนไม่ตอบรับ และไม่ได้มาร่วมพิธีมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ พวกเขาก็จะยังคงมีงานเฉลิมฉลองเป็นเกียรติให้กับเขา และมอบรางวัลให้ดีแลนอยู่ดี เพราะรางวัลตกเป็นของเขาไปแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องดีหากดีแลนจะออกมาพูดอะไรบ้าง (หรืออย่างน้อยก็ส่งข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาบ้าง)

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดสามารถติดต่อดีแลนเรื่องการมารับรางวัลได้ จนมีกระแสว่าเขาจะเป็นบุคคลที่สองที่ปฏิเสธรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ต่อจาก Jean Paul Sartre นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 1964 (แต่ ฌ็อง-ปอล ซาตร์ ก็ส่งจดหมายหานะครับ)

Per Wastberg นักเขียนชาวสวีดิช หนึ่งในคณะกรรมบอกว่าสิ่งที่ดีแลนทำนั้น “หยาบคาย” และ “โอหัง” มาก

ความเงียบของดีแลนที่หลายคนมองว่าเป็นความหยาบคายนี้ทำให้เกิดกระแสตีกลับที่ว่า

บ๊อบ ดีแลน ควรค่าแก่รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจริงหรือ?

วรรษชล คัวดรี้ หัวหน้ากองบรรณาธิการของ The Momentum ได้ทำสกู๊ปเกี่ยวกับ บ๊อบ ดีแลน ไปประมาณสัปดาห์ก่อน เธอบอกผมว่าคำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้ก่อนก็คือ

เพลงของดีแลนนั้นเข้าข่ายงานเขียนเชิงวรรณกรรมจริงหรือ?

หากใครเป็นแฟนเพลงของดีแลนอยู่แล้ว คงสามารถพยักหน้าได้อย่างไม่ต้องลังเล เพราะเพลงของเขาถูกกล่าวขานมากมายว่า ไม่ได้มีบทบาทในฐานะเนื้อร้องเท่านั้น แต่ยังเล่าด้วยบริบทของเวลา และอธิบายเรื่องของสภาพสังคมในถ้อยคำเปรียบเปรย ไม่ต่างอะไรกับตอนที่เราอ่านบทกวี

Sara Danius เลขาธิการของ Swedish Academy กล่าวถึงผลงานของดีแลนต่อสื่อว่า เหตุผลที่เขาควรค่าแก่การได้รับรางวัลมาจาก “การสื่อสารบทกวีในรูปแบบใหม่ ผ่านวัฒนธรรมเพลงแบบอเมริกัน”

ในขณะที่ Jay Parini นักเขียนผู้เป็นแฟนเพลงของดีแลน ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ของ CNN เกี่ยวกับความสวยงามของภาษาที่ดีแลนใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่าง สงครามเวียดนาม การเมือง ไบเบิล และเช็กสเปียร์

อีกทั้งเพลงของเขายังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการตีความทางวรรณกรรม

ส่วนตัวผมเองที่ก็เป็นแฟนเพลงของลุงบ๊อบเช่นกัน

ต้องยกเพลงที่มีความเป็นบทกวีสูงมากให้กับเพลง Blowin’ in the Wind ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับสงคราม สันติภาพ และเสรีภาพในยุคของสงครามเวียดนาม

How many roads must a man walk down
Before you call him a man?
How many seas must a white dove sail
Before she sleeps in the sand?
Yes, how many times must the cannon balls fly
Before they’re forever banned?
The answer my friend is blowin’ in the wind
The answer is blowin’ in the wind.

ดีแลน ไม่ตอบคำถามยากๆ เหล่านั้นด้วยตัวเอง แต่ยกให้เป็นภาระกับทุกคนบนโลกที่ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้สักที

คำตอบอยู่ในสายลม…

 

แต่แน่นอนว่าท่ามกลางกระแสเชิงบวกและเสียงยินดี ก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

คนที่ออกตัวแรงที่สุดต้องยกให้กับ “ลุงเคิร์ต” Kurt Vonnegut ผู้เขียนนิยายเรื่อง Slaughter-Five ที่กล่าวถึงลุงบ็อบว่าเป็น Worst Poet Alive หรือนักกวีสุดห่วยแตก!

หรือบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่ารางวัลโนเบลก็ไม่ได้น่าเชื่อถืออะไรอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสนใจมากว่าใครจะได้หรือไม่ได้

เพราะถ้าดูประวัติการมอบรางวัลที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามีนักเขียนระดับตำนานหลายคนที่โนเบลไม่แยแส เช่น ลีโอ ตอลสตอย, อันตัน เชคอฟ, เฮช.จี. เวลล์, เจมส์ จอยซ์, เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน, ดับเบิ้ลยู.เฮช.ออเดน,วลาดิมีร์ นาโบคอฟ, จอร์เก ลุยส์ บอร์เกส, อิทาโล คัลวิโน, อาเธอร์ ซี คล้าก, ไอแซ็ก อาซิมอฟ และอีกมากมาย

ประเด็นนี้ผมคงไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าบทเพลงของลุงบ๊อบนั้นเข้าข่าย “ความเป็นวรรณกรรม” มากแค่ไหน

แต่ผมสนใจอีกประเด็น

 

ประเด็นนั้นคือ Nobel effect หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากรางวัลโนเบล

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจหนังสือที่จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย หรือคุณค่าของงานวรรณกรรมที่จะถูกเล่าขานต่อไป

คนที่มีมุมมองที่น่าสนใจที่สุดสำหรับประเด้นนี้คือ Anne North จากสำนักพิมพ์ New York Times เธอเขียนบทความชื่อว่า Why Bob Dylan Shouldn’t Have Gotten a Nobel

เธอบอกว่า รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมควรเก็บเป็นสมบัติของนักเขียนเท่านั้น

เธอไม่ได้มีข้อกังขาใดกับความเป็นตำนานของบทเพลงแห่ง บ๊อบ ดีแลน แต่การเลือกให้รางวัลอันทรงเกียรตินี้แก่นักดนตรีนั้น จะทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะยกย่องนักวรรณกรรม ที่ในโลกปัจจุบันนั้นได้รับความสนใจจากกระแสหลักน้อยลงทุกวัน

เธอปิดท้ายว่า “บ๊อบ ดีแลน ไม่ต้องการรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม แต่โลกวรรณกรรมยังต้องการรางวัลโนเบลอยู่”

 

ประเด็นนี้ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ตัวจริงเสียงจริงเรื่องวรรณกรรมในบ้านเรา ผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกด และเจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นคล้ายๆ กันผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยเขาเขียนว่าชัยชนะของดีแลนอาจทำให้คนเดินเข้าร้านแผ่นเสียงมากกว่าร้านหนังสือ

“แม้ผมจะชื่นชม บ๊อบ ดีแลน มากมาย และเห็นว่าเขาเป็น “กวี” อย่างแน่นอน แต่การที่เขาได้รับการประกาศให้เป็นหัวขบวนของคำว่า the Win-ner of Nobel prize for Literature การ Redefined Boundaries หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ในครั้งนี้ มันก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์ให้คนไปเข้า “ร้านแผ่นเสียง” มากกว่าไปเข้า “ร้านหนังสือ”

“ใช่ ผมอาจจะคิดมากไปเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรในมุมมองที่บอกว่า โลกนี้กำลังเป็น the Paperless ไปแล้ว แต่ผมยังเชยอยู่นี่ครับ ผมยังรู้สึกว่า I love walking into a bookstore.

“หน้าที่ของ Swedish Academy คือ the Paper ไม่ใช่ the Paper-less ยกเว้นจะมีมุมมองใหม่ว่า ถึงเวลาแล้วที่โลกเราควรเลิกเดินเข้าร้านหนังสือ”

จริงๆ ประเด็นที่ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี พูด ผมเกือบจะเห็นด้วยหมดอยู่แล้ว เพียงแต่พอบอกว่า “รางวัลนี้ทำให้คนเดินเข้าร้านแผ่นเสียงมากกว่าร้านหนังสือ” ผมก็อดเอะใจไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ทั้งร้านแผ่นเสียงและร้านหนังสือไม่ได้มีคนเดินเข้ามากเหมือนแต่ก่อนอยู่แล้ว ถึงอย่างไรรางวัลนี้ก็คงไม่ได้ช่วยขนาดกระตุ้นยอดคนเดินได้มากขนาดนั้น

เพราะคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือ คนทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซร้านหนังสือออนไลน์อย่าง amazon หรือมิวสิกสตรีมมิ่งอย่าง Apple หรือ Spotify ต่างหาก

 

สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีใครให้คำตอบได้อยู่ดีว่าเหตุผลที่ บ๊อบ ดีแลน เก็บตัวเงียบนั้นคืออะไร

นักวรรณกรรมชาวอังกฤษ Will Self ได้กล่าวกับ The Guardian ว่าเขาคาดหวังจะให้ดีแลนเดินตามรอยของ ฌ็อง-ปอล ซาตร์ เพราะการเอาตัวเองมาข้องเกี่ยวกับรางวัลนี้ มันทำให้ความเป็นศิลปินของเขาลดน้อยลง

“เช่นเดียวกับซาตร์ เมื่อครั้งที่เขาปฏิเสธรางวัล ซาตร์คือนักปรัชญาและเขาก็ฉลาดที่ทำแบบนั้น ผมแค่คาดหวังว่าดีแลนจะทำเช่นนั้นเหมือนกัน”

แต่ Will Self อาจลืมไปว่า ซาตร์ยังพอมี “มารยาท” ที่จะเขียนจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรหาคณะกรรมการรางวัลโนเบลว่าเขาไม่ต้องการรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

การที่ บ๊อบ ดีแลน เงียบขนาดนี้ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าเขาแค่ต้องการจะ “ทำเท่” ไปงั้น (สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนในเฟซบุ๊กว่า “ไม่ว่าจะชื่นชมแค่ไหน แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะมา “ทำเท่””)

สำหรับผม ผมรู้สึกยินดีที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลตัดสินใจมอบรางวัลนี้ให้กับเขา ไม่ใช่แค่ในฐานะที่ผมเป็นแฟนเพลงของ บ๊อบ ดีแลน เพราะเขาจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผมอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่ผมยินดีนั้นเป็นเพราะว่านั้นหมายถึงการขยายขอบเขตและความหมายของคำว่า “วรรณกรรม” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอีกต่อไป

ที่สำคัญที่สุดคือ แม้ว่ามันอาจจะมีปัญหาขลุกขลักและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่นี่คือข้อดีที่สุดไม่ใช่หรือที่ทำให้คนลุกขึ้นมาถกเถียงถึง “ความเป็นวรรณกรรม” อย่างจริงจังและกว้างขวางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานมาแล้ว

 

รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ของ บ๊อบ ดีแลน เปรียบเหมือนลูกระเบิดทางปัญญาที่โยนลงมาให้พวกเราได้ขบคิด ถกเถียง และตั้งคำถามกันอีกครั้งใหญ่

ส่วนคำถามที่ว่า ปู่บ๊อบจะเก็บตัวเงียบ “ทำเท่” แบบนี้ไปอีกนานไหม คงไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเขาเอง

The answer is blowin’ in the wind.

คำตอบอยู่ในสายลม…