เกษียร เตชะพีระ : ศิลปะแห่งการจงใจลืม – ว่าด้วยชื่อ

เกษียร เตชะพีระ

ศิลปะแห่งการจงใจลืม : 2) ว่าด้วยชื่อ

อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ฮอร์เฮ ลูอิส บอร์เฮส เอ่ยถึงฟรีดริช นิทซ์เช่ นักปรัชญาสุญนิยม (nihilism) ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1844-1900) ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ปรัชญาสำนักหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ต่อมา ไว้ในเรื่องสั้น “ฟูเนส คนช่างจำ” ของเขา

ดังที่ผมจำข้อความซึ่งเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่งว่า นิทซ์เช่กล่าวอย่างกระชับจับใจว่า : ชื่อ/นามเป็นโกหกคำโตที่สุดในประวัติศาสตร์!

ข้อความที่ช่วยอธิบายขยายความวาทะข้างต้นหาได้ในบันทึกของนิทซ์เช่ที่เขาตั้งใจจะตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “Philosophy in the Tragic Age of the Greeks” (ปรัชญาในยุคโศกนาฏกรรมของชาวกรีก, ค.ศ.1873) ตอนหนึ่งว่า :

“ฮีราคลีตุสอุทานเสียงดังลั่นกว่าอาแน็กซีแมนเดอร์ว่า : “ข้าไม่เห็นสิ่งใดเลยนอกจากการแปรเปลี่ยน อย่าได้ถูกหลอกลวงเลย! มันเป็นความผิดพลาดแห่งทรรศนะอันจำกัดของเจ้าเองและหาใช่ความผิดพลาดแห่งแก่นสารของสิ่งต่างๆ ไม่ หากแม้นเจ้าหลงเชื่อว่าเจ้าเห็นผืนดินเป็นปึกแผ่นแน่นหนาที่ไหนก็ตามในมหาสมุทรแห่งการแปรเปลี่ยนและล่วงเลยไปนี้ เจ้าต้องมีชื่อให้กับสิ่งต่างๆ ราวกับว่าพวกมันถาวรแข็งทื่อ แต่แม่น้ำสายที่เจ้าลงอาบครั้งที่สองนั้นก็หาใช่สายเดียวกับที่เจ้าจุ่มตัวลงไปครั้งก่อนอีกต่อไปไม่” (http://www.spaceandmotion.com/Philosophy-Friedrich-Nietzsche-Philosopher.htm)

ในความหมายนี้ “ชื่อ” ที่เราเรียกสิ่งหรือคนต่างๆ จึงเปรียบเสมือนสายโซ่สมมุติที่เราใช้ร้อยเรียงประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจและความทรงจำทางอัตวิสัยของเราที่มีเกี่ยวกับ “สิ่งนั้น” หรือ “คนผู้นั้น” เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นองคภาวะหรือปัจเจกภาพในจินตนากรรม (imagined entity or individuality) ขึ้นมาให้เรายึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน ทั้งที่เอาเข้าจริงไม่มีองคภาวะหรือปัจเจกภาพที่เป็นเอกภาพคงที่คงทนนั้นเลย

มีแต่สายธารแห่งการแปรเปลี่ยนและล่วงเลย (becoming & passing) ไม่หยุดยั้งของสรรพสิ่ง

ทํานองเดียวกับที่ Derek Parfit (ค.ศ.1942-2017) นักปรัชญาชาวอังกฤษแห่งวิทยาลัย All Souls มหาวิทยาลัย Oxford ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอกลักษณ์บุคคล ความเป็นเหตุผลและจริยศาสตร์ และโด่งดังจากหนังสือ Reasons and Persons (Oxford University Press, 1984) ได้เสนอไว้ – ผ่านถ้อยคำสรุปของสตีเว่น ลุกส์ ผู้ประพันธ์ การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง (พ.ศ.2557 พิมพ์ครั้งแรก 2541) ว่า :

“…เขานึกออกว่ามีนักปรัชญาคนหนึ่งชื่อปาร์ฟีต์ซึ่งเสนอว่าชีวิตของปัจเจกบุคคลดังกล่าวเป็นเพียงประสบการณ์และการกระทำชุดหนึ่ง ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรเพิ่มเติมไปกว่านี้ ไม่มีองคภาวะต่างหากที่เรียกว่า “บุคคล” ซึ่งเป็นเจ้าของประสบการณ์และผู้ก่อการกระทำเหล่านั้น

“บางที…สิ่งสำคัญอาจมีแค่ประสบการณ์ ซึ่งบ้างก็สุขมากหน่อย บ้างก็สุขน้อยหน่อย และเชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยความทรงจำเท่านั้น ดังที่องค์ประกอบของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป มีเซลล์ใหม่เข้ามาแทนที่เซลล์เก่าอยู่เรื่อยๆ ตลอดช่วงชีวิตหนึ่งฉันใด เราก็อาจมอง “บุคคล” เป็นแค่กระแสประสบการณ์ที่หลั่งไหลต่อเนื่องโดยมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันมากบ้างน้อยบ้างฉันนั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าว ก็ย่อมไม่มีเหตุผลพิเศษอันใดที่จะไปให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงว่าประสบการณ์ที่มาก่อนและมาหลังนั้นเกิดขึ้นภายในชีวิตเดียวกัน

“ดังนั้น ใครสักคนที่คิดถึงความตายก็ไม่ควรพูดว่า “ฉันจะตาย” แต่ควรพูดว่า “จะไม่มีประสบการณ์ในอนาคตซึ่งจะเชื่อมต่อกับประสบการณ์ในปัจจุบันในบางลักษณะอีกต่อไป”” (น.118)

ชื่อ – รวมทั้งการตั้งชื่อและเรียกชื่อ – จึงสำคัญมากกับความทรงจำและการสำนึกสำเหนียกหมายของคนเราต่อโลกและคนอื่นๆ ดังที่คัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม ให้อาดัม มนุษย์เพศชายคนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้นรับบัญชาพระเจ้าให้ตั้งชื่อเรียกสัตว์ต่างๆ ในสวนเอเดนว่า :

“พระเยโฮวาห์พระเจ้าทรงปั้นบรรดาสัตว์ในท้องทุ่งและบรรดานกในอากาศจากดิน แล้วจึงพามายังอาดัมเพื่อดูว่าเขาจะเรียกชื่อพวกมันว่าอะไร อาดัมได้เรียกชื่อบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตอย่างไร สัตว์ก็มีชื่ออย่างนั้น อาดัมได้ตั้งชื่อบรรดาสัตว์ใช้งาน บรรดานกในอากาศและบรรดาสัตว์ในท้องทุ่ง…” (https://ebible.org/pdf/thaKJV/thaKJV_GEN.pdf)

และก็เหมือนดังในภาพยนตร์อเมริกัน Stand Up Guys (ค.ศ.2012) อันเป็นเรื่องราวของแก๊งนักเลงเฒ่าสามคนที่ตัวพระเอกเพิ่งพ้นโทษจากคุกชื่อวาล แสดงโดยอัล ปาชิโน กล่าวถึงการตายของเพื่อนเก่าที่เพิ่งจากไปว่า :

“เขาว่ากันว่าคนเราตายสองครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อลมหายใจจากร่างเราไป และอีกครั้งเมื่อคนสุดท้ายที่เรารู้จักเอ่ยชื่อของเรา” (https://www.quotes.net/mquote/1068771)

ดังนั้น เมื่อไม่มีใครที่เรารู้จักเหลือในโลกจะมาเอ่ย “ชื่อ” เราอีก ก็ย่อมไม่มีสายโซ่สมมุติที่จะร้อยเรียงเชื้อมูลประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจความทรงจำที่ประกอบส่วนสร้างเป็น “เรา” อีกต่อไป เมื่อไม่มีชื่อ ก็ไม่มีองคภาวะหรือปัจเจกภาพในจินตนากรรมที่จะเรียกเนรมิตให้ปรากฏขึ้นด้วยการร่ายเวทเอ่ยชื่อนั้นอีกเช่นกัน

ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นอันดับสูญหมดสิ้นไปจากโลกในการตายครั้งที่สองนั่นเอง

และโดยอาศัยวิศวกรรมย้อนรอยทางแนวคิด (conceptual reverse engineering) แบบเดิม เราก็อาจลองคิดต่อได้ว่ากุญแจสำคัญของการจงใจลืมก็อยู่ที่ “ชื่อ” นั่นเอง

ลืม “ชื่อ” ได้ ก็ -> ลืมองคภาวะ/ปัจเจกภาพในจินตนากรรมได้ -> ลืมองค์รวมที่ร้อยเรียงประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจความทรงจำให้เป็นเอกภาพสมมุติได้ -> ลืมสิ่งนั้นๆ หรือคนคนนั้นได้เพราะมันล้วนดับสูญแตกกระจายไปตามธาตุต่างๆ ของมันไม่เหลือตัวตนให้ยึดเหนี่ยวยึดติดจดจำอีกต่อไป

ในความหมายนี้ การจงใจลืมจึงเริ่มต้นด้วยการลืม “ชื่อ” นั่นเอง…

……………………………..

“สวัสดีครับ/ค่ะอาจารย์” เขา/เธอยกมือไหว้

“สวัสดี” เรารับไหว้ “โทษที คุณชื่ออะไรหรือครับ?”