รัฐเดินหน้าอัดฉีดเศรษฐกิจ เติมเงินหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ลุ้นปี’60 ส่งออก-ลงทุนเอกชนฟื้น

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีลิง และเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือน ที่จะดันเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวในกรอบ 3.0-3.5% ตามที่ภาครัฐและเอกชนคาดหวัง หลังจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยอยู่ที่ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

แม้ข้อมูลเศรษฐกิจบางด้านบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง

อาทิ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัว 2.2% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 6 ปี

กำไรของ 11 แบงก์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ เติบโตเพียง 1.5%

หรือมีกำไรสุทธิ 155,428 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 153,201 ล้านบาท และในไตรมาส 3/2559 แบงก์มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงถึง 183,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้ากว่า 17,600 ล้านบาท

อีกทั้งบรรยากาศในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 4 ปีนี้ ยังปกคลุมไปด้วยความโศกเศร้าครั้งใหญ่ของปวงชนชาวไทยในช่วงถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรคาลัย

ในบรรยากาศเช่นนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ยังไม่คึกคัก สิ่งที่รัฐบาลขณะนี้จะทำได้คือ “เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ”

เพราะการจะไปคาดหวังให้การส่งออกไทย ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหญ่สุด ขยายตัวเป็นบวกในปีนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจาก 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-สิงหาคม) ส่งออกไทยหดตัว 1.2%

 

ล่าสุด รัฐบาลจึงเดินหน้าเติมเงินรากหญ้าช่วงปลายปีเฉียดแสนล้านบาท เพื่อปลุกมู้ดเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อของภาคประชาชน

โดยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 หมู่บ้านละ 250,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 74,655 หมู่บ้าน วงเงินรวม 18,663.75 ล้านบาท ดำเนินการช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559-มกราคม 2560

เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภูมิภาค ผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน หรือการดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่หมู่บ้าน โดยได้มอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินโครงการและจัดตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ในแต่ละอำเภอเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและกรอบวงเงินที่ผ่านการพิจารณา

อีกทั้งในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารให้แก่ผู้มีรายได้น้อยกว่า 8 ล้านราย ที่เข้ามาลงทะเบียนไว้กับ 3 แบงก์รัฐ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย) วงเงินรวม 6,540 ล้านบาท

โดยผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินโอนจากรัฐรายละไม่เกิน 3,000 บาท และผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000-100,000 บาทต่อปี รับเงินโอนรายละไม่เกิน 1,500 บาท

อีกด้านจะมีเม็ดเงินตามมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ ครม. ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (ฟรอนต์โหลด) ที่กำหนดให้เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในโครงการวงเงินละไม่เกิน 2 ล้านบาท ภายในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 วงเงินรวม 31,500 ล้านบาท

รวมถึงมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศอีก 25,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

 

“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ขอให้ประชาชน นักธุรกิจ ไม่ต้องตกใจ หลังจากนี้อีก 1 เดือน รัฐบาลตั้งใจจะผ่อนคลายในแทบทุกกิจกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ยกเว้นเรื่องบันเทิงและมหรสพ

“มู้ดการบริโภคอาจลดลงไปบ้าง แต่รัฐจะชดเชยด้วยการเร่งเบิกจ่ายและลงทุนของรัฐ โดยรัฐบาลจะดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดทั้งเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุน ไม่ต้องกังวล ผ่านเดือนนี้ไป ทุกอย่างน่าจะค่อยๆ เข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ส่งออกเริ่มดีขึ้น ข่าวดีจะทยอยตามมา และเชื่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะยืนอยู่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายสมคิด กล่าว

ด้าน “นายปรเมธี วิมลศิริ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ สศช. จะมีแถลงจีดีพีไตรมาส 3/2559 และจะมีการทบทวนประมาณการตัวเลขส่งออกอีกครั้ง

จากปัจจุบัน สศช. ประมาณการส่งออกปี 2559 หดตัว 1.9% แต่เนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งออกขยายตัว 6.5% จึงน่าจะมีการทบทวนประมาณการ พร้อมกับจะเปิดเผยประมาณการจีดีพีปี 2560 ในคราวเดียวกันด้วย

“เศรษฐกิจปี 2559 ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านมีสัญญาณที่ดี เช่น ปัญหาภัยแล้งได้บรรเทาไปแล้ว ภาคเกษตรดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรหลายตัว โดยเฉพาะผลไม้ กุ้งราคาดีขึ้นมาก ช่วยสนับสนุนรายได้ภาคเกษตรให้ดีขึ้น ส่วนข้าว มีสัญญาณว่า ราคา bottom out (ผ่านจุดต่ำสุด) แล้ว ดังนั้น จึงเชื่อว่า จีดีพีปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา และมีโอกาสเติบโตในกรอบ 3.3-3.5% ได้” นายปรเมธี กล่าว

อีกทั้งรัฐบาลยังเร่งลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 จะลงทุนในหลายโครงการ โดยจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) รวมกับงบฯ ลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีแผนลงทุนรายไตรมาส ซึ่งรัฐวิสาหกิจก็ได้รับนโยบายแล้วว่าให้มีความพร้อมลงทุนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยมีเป้าหมายให้เบิกจ่ายลงทุนให้ได้ 95%

ดังนั้น จึงคาดหวังได้ว่า เศรษฐกิจในปี 2560 จะเติบโตต่อเนื่อง โดยจะมีปัจจัยสนันสนุนคล้ายกับปี 2559 คือการท่องเที่ยวและภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ดี ในปี 2560 จะมีภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม เพราะปัญหาภัยแล้งบรรเทาแล้ว

“ปีหน้า ส่งออกมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้ เพราะหลายแห่งก็ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2560 จะดีขึ้นกว่าปีนี้ ซึ่งก็น่าจะทำให้ภาคส่งออกของไทยเติบโตได้ดี และสิ้นปีนี้ส่งออกไทยก็น่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว การใช้จ่ายรัฐ ก็ดูแลกันเต็มที่ ส่วนสิ่งที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดคือการลงทุนภาคเอกชน เพราะต้องยอมรับว่า เพียงการลงทุนภาครัฐนั้น ช่วยให้เกิดบรรยากาศการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องให้เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจวิ่งครบทุกลูกสูบ”

นายปรเมธี กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยน่าห่วงของปี 2560 ยังคงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลก เพราะจะกระทบกับภาคส่งออกของไทย ซึ่งจะไปบังคับกะเกณฑ์มากไม่ได้

ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจ อาทิ การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐนั้นจุดติดแล้ว เศรษฐกิจปี 2560 จึงต้องมาลุ้นกันต่อว่า การส่งออกจะพลิกเป็นบวก และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อนำเศรษฐกิจไทยให้โชติช่วงชัชวาลตามหวังได้หรือไม่