ปฏิบัติการไอโอ ปูพรมทั่วโลก กูเกิล-ยูทูบ-ไลน์-เฟซบุ๊ก สแกน คนหมิ่นสถาบัน ม.112

“นําสถาบัน ลงมาเกี่ยวข้องกันอีกไม่ได้แล้ว อย่าลืมว่ากฎหมายเหล่านี้มีเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้น ต้องมาดูว่าจะทำกันอย่างไร เหมือนกับกฎหมายต้องให้ประชาชนคุ้มครองซึ่งกันและกัน ไม่มีการดูหมิ่นกัน แต่ท่านทรงฟ้องอะไรด้วยพระองค์เองไม่ได้”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกลุ่มเคลื่อนไหวที่นำเอาสถาบันเบื้องสูง มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านอันสำคัญของประเทศ ถึงหลักการและมาตรการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ปฏิบัติการด้านการข่าวของฝ่ายความมั่นคง จึงปูพรมทุกพื้นที่ทั้งการรักษาความสงบและจับตากลุ่มเคลื่อนไหวที่ใช้สถานการณ์ของประเทศที่ละเอียดอ่อนนี้ ปลุกระดมด้วยข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ โดยมีฐานปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ เผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันและสร้างความสับสนแก่สังคม

รัฐบาลจึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล ซึ่งดูแลเว็บไซต์ยูทูบประจำภูมิภาคเอเชียเข้าหารือกับรัฐบาล โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือ เพื่อสกัดกั้นหรือยุติเว็บไซต์เหล่านั้นให้ได้

โดยเพจหรือวิดีโอคลิปทางกูเกิล-ยูทูบรับจะเริ่มดำเนินการให้ก่อน แต่จะต้องส่งหมายศาลตามไป ซึ่งต้องใส่คำยืนยันไว้ในฟอร์แมตภาษาไทยเช่นเดียวกับในส่วนของการละเมิดสิทธิ์ หรือการขอข้อมูลที่เป็นยูสเซอร์แอ็กเคาต์ หรือไอดีของผู้โพสต์เว็บไซต์ด้วย

อีกทั้งกูเกิลให้คำแนะนำว่า ทางกระบวนการระหว่างประเทศนั้น จะต้องดำเนินการเพื่อปรับข้อตกลงระหว่างประเทศ ในกรณีที่จะขอข้อมูลดังกล่าวผ่านรัฐบาล เพื่อให้รัฐมนตรีได้สั่งการเข้าสู่กระบวนการของกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะได้พิจารณา

ซึ่งหากรัฐบาลสหรัฐกับไทยร่วมมือที่จะให้ข้อมูลที่เคยตกลงว่าเป็นลิขสิทธิ์หรือสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง กูเกิลจะให้สิทธิ์ไทยทันที

ส่วนข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่อยู่ระบบอยู่แล้วนั้น ทางกูเกิล-ยูทูบจะเก็บข้อมูลไว้ให้ และจะดำเนินการหากรัฐบาลกรอกแบบฟอร์มร้องเรียนไป แล้วข้อมูลส่วนใดที่เขาสามารถดำเนินการได้ก่อน กูเกิล-ยูทูบก็จะดำเนินการให้ ส่วนเฟซบุ๊กและไลน์ซึ่งได้ประสานงานกันแล้ว ได้ตั้งชุดทำงานไปรวบรวมข้อมูลเพื่อติดต่อประสานงานแล้ว

“เฉพาะวันที่ 19-20 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีการตรวจพบผู้ที่กระทำไม่เหมาะสม 120 ราย ซึ่งไม่ค่อยพบชาวต่างชาติ แต่ขอไม่เปิดเผยตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้ ว่าไม่อยากให้นำเสนอออกมาเพื่อซ้ำเติมความรู้สึกประชาชน” พล.อ.อ.ประจิน เผย

 

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการปราบปรามขบวนการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งต้องนำคนกระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายด้วย ทว่า ประสบกับอุปสรรคที่ยูสเซอร์แอ็กเคาต์อยู่ต่างประเทศ ซึ่งไม่มีกฎหมายลงโทษเช่นเดียวกับไทย จึงถือเป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ที่ก้าวล่วงไม่ได้

เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมที่ต้องประสานกันต่อไป

โดยกระทรวงยุติธรรมได้มีคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่แล้ว

ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการ ได้ทำหนังสือชี้แจงประเทศที่มีคนไทยไปอาศัยและปล่อยข้อความหมิ่นสถาบันออกมาแล้ว

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ขอความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ โดยผ่านเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่พำนักในไทย เพื่อให้ช่วยกำชับหรือกำราบผู้ที่กระทำความผิด ถือเป็นการดำเนินการทางการทูต

ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกับหลายประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศขอสงวนไม่เปิดเผยว่าเป็นประเทศใดบ้าง เพราะอาจมีผลกระทบในด้านต่างๆ ตามมา

“เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาเพราะถ้าเขาไม่ผิดในประเทศอื่น ก็ทำให้เราทำงานลำบากในเรื่องของการส่งตัวกลับ แต่เราสามารถขอความร่วมมือไปได้ ซึ่งยังไม่พบว่ามีประเทศใดไม่ให้ความร่วมมือ หลายประเทศก็ดำเนินการเท่าที่จะทำได้” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าว โดยนายกฯ ได้ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลว่าไทยมีพันธสัญญาข้อกฎหมายเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศใดบ้าง แล้วที่ผ่านมาจากข้อมูลมีประเทศไหนให้ความร่วมมือในการส่งตัวและแลกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการพิจารณาในอนาคต

เป็นอีกมาตรการกดดันคนไทยที่ไปกระทำผิดต่างแดนให้ยุติการกระทำเสีย มากกว่าการให้คนไทยในต่างแดนใช้มาตรการทางสังคมไปกดดัน เพราะจะเข้าข่ายผิดกฎหมายประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งจะไม่เกิดผลดีนักและภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย

 

ด้านหน่วยข่าวความมั่นคง ได้ปฏิบัติการด้านการข่าว Information Operation หรือ IO ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

และพบว่ามีกระบวนการล้มล้างสถาบันเกิดขึ้นจริง โดยการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตย ระบอบประธานาธิบดี มาเป็นอันดับแรก ติดตามมาด้วยกระบวนการสร้างความแตกแยกหรือบั่นทอนสถาบันเบื้องสูงด้วยข้อมูลเท็จ หวังผลทำให้สังคมเข้าใจสถาบันไม่ถูกต้อง รวมทั้งการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจเพื่อควบคุมสถานการณ์ในไทย หวังผลทางการเมือง เป็นอีกยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะเข้ามายังภูมิภาคผ่านไทย

ภารกิจของหน่วยข่าวความมั่นคงจะตามสืบหาต้นทาง เครือข่ายกลุ่มทุน กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุน เครือข่ายภาควิชาการทั้งในและต่างประเทศที่เกื้อหนุนการเคลื่อนไหว

ถือเป็นภารกิจที่สำคัญในยุค คสช. เลยทีเดียว

 

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอีกสถาบันที่สำคัญ แสดงถึงความเป็นราชอาณาจักรของไทย

ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ อาจมีผลต่อระบบการเมืองในประเทศ และต่อคนในระบบการเมือง ตั้งแต่นักการเมือง เครือข่ายกลุ่มต่างๆ และกองทัพ อีกทั้งในส่วนของโรดแม็ปของ คสช. ด้วย

“วันนี้รัฐบาลต้องยืนยันตามโรดแม็ปเลือกตั้งเดิม บอกอย่างอื่นไม่ได้ ขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีการเลื่อนใดๆ เกิดขึ้น เพราะถ้าเราไม่ยึดตามนี้จะมีคนคอยอยากเลื่อน ยืนยันว่าไม่เลื่อน และคำว่าโรดแม็ปในปี 2560 คือการเลือกตั้ง” นายวิษณุ กล่าว

และอีกสิ่งที่สังคมไทยต้องร่วมกันตั้งสติและช่วยกันประคับประคอง นั่นคือ ความรู้สึกของคนในประเทศ การแสดงออกต่างๆ ควรถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะคนไทยทุกคนล้วนโศกเศร้าไม่ต่างกัน แต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน

“ขอให้ระมัดระวังเรื่องการทำร้ายซึ่งกันและกัน ในช่วงเวลานี้โดยความรู้สึกส่วนตัวจะไม่ชอบโดยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตามต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ เพราะมีกระบวนการทางกฎหมาย อย่าใช้มาตรการความรุนแรงทำร้ายซึ่งกันและกัน ถ้าจงใจจริงๆ ก็ให้ตำรวจดำเนินการไปจะดีกว่า อย่าไปตบตีกันเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หากดูกระบวนการตามกฎหมายแล้วนั้น ทุกอย่างถูกระบุแนวทางไว้ชัดเจน โดยการสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎมนเทียรบาล และจารีตประเพณี เมื่อถึงขั้นตอนรัฐบาลก็จะกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นครองราชย์ต่อไป

โดยนายวิษณุชี้ว่าอาจพ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพไปแล้ว 7 วัน 15 วัน 50 วัน สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ส่วนการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 คือ แจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น เมื่อรัฐบาลคิดว่าสมควรจะทำได้ และได้มีการปรึกษากันแล้วก็สามารถทำได้ เวลาที่เหมาะสมนั้นแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย โดยระหว่างนี้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นการชั่วคราว และคณะองคมนตรีได้ปรึกษาและเลือก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ ประธานองคมนตรี ชั่วคราว อย่างที่ทราบกัน

“ส่วนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธย ภายในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

อีกทั้ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะ ผบ.กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้กำชับ กกล.รส. ทุกกองทัพภาคทั่วประเทศ มีหน้าที่ชี้แจงประชาชน ไม่ให้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อ จากการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จผ่านโซเชียลมีเดียและข่าวลือต่างๆ ทั้งการสืบราชสันตติวงศ์ โรดแม็ป คสช. และการอ้างเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆ

 

จึงเป็นงานสำคัญของกองทัพในยุค คสช. ที่ต้องทำงานการข่าวเฝ้าระวังกลุ่มเคลื่อนไหว และอำนวยการจัดพระราชพิธีต่างๆ ให้สมพระเกียรติ

การปฏิบัติการด้านการข่าว หรือไอโอ จึงเป็นหัวใจหลักในห้วงเวลานี้ เพื่อสยบกลุ่มเคลื่อนไหวและนำพาให้การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ราบรื่น และคงไว้ซึ่งความสมพระเกียรติของสถาบันเบื้องสูงตลอดไป โดยเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน