กรองกระแส : ทิศทางการเมือง ไม่เอา คสช. ไม่เอารัฐประหาร มิติการเมืองใหม่

กรองกระแส

 

ทิศทางการเมือง

ไม่เอา คสช. ไม่เอารัฐประหาร

มิติการเมืองใหม่

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ติดบ่วงจากคดีโรงพักและแฟลตตำรวจ ประสานเข้ากับคดีที่ดินเกาะสมุย ผลก็คือพรรครวมพลังประชาชาติไทยเริ่มอ่อนแรง
เช่นเดียวกับ “พลังดูด” เกิดการปะทะกันที่ “นครราชสีมา”
เช่นเดียวกับพรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคอื่นๆ ที่อาสาเข้ามาเป็นเครือข่ายเสริมเติมการสืบทอดอำนาจทางการเมืองไม่สามารถสำแดงกัมมันตะของตนได้อย่างเต็มที่
ความหวัง 250 ส.ส.ก็เริ่มริบหรี่
เพราะหากไม่มี 250 ส.ส.เพื่อไปผนวกตัวรวมพลังกับ 250 ส.ว.ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่การสืบทอดอำนาจจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น
การตัดสินใจของ “คสช.” จะยิ่งยากลำบากเป็นทวีคูณ
ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ ปัจจัยซึ่งดำรงอยู่ในทางการเมืองมิได้มีแต่พรรคประเภท “รอร่วมรัฐบาล” อย่างที่เคยเห็นชุกชุมและหนาตาในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อันเป็นฐานอำนาจให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เท่านั้น
หากเริ่มมีพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่เอาด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.เด่นชัดมากยิ่งขึ้น

รัฐประหาร 2549
บันได 4 ขั้น คมช.

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องการสร้างความอ่อนแอให้กับพรรคไทยรักไทย
ไม่เพียงแต่ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และการยุบพรรคไทยรักไทย
เกิดการแตกและแยกตัวจากพรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช โดยส่วนหนึ่งพยายามเป็นพันธมิตรในแนวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ตามแผนบันได 4 ขั้นของ คมช.
แต่แล้วผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เมื่อชัยชนะเป็นของพรรคพลังประชาชน ก็เกิดการรวมตัวกันอีกครั้งระหว่างพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และต่อมาก็พรรคประชาราช พรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้แผนบันได 4 ขั้นจะล้มเหลวในเบื้องต้นแต่ก็สามารถเดินหน้าผ่านการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน และลงเอยด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน แล้วก่อความแตกแยกภายในพรรคพลังประชาชนอันกลายมาเป็นพรรคภูมิใจไทยในปัจจุบัน ในที่สุดก็เข้าเป็นพันธมิตรกับพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ผลสะเทือนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ขยายผลไม่เพียงแต่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล หากแต่ยังนำไปสู่การชุมนุมของประชาชนและลงเอยด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าอย่างรุนแรงเหี้ยมโหดในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 อันสะท้อนการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย กับนายทหารที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนั้น
แต่แล้วการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ทำให้ผลพวงจากแผนบันได 4 ขั้นต้องพังครืนด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย
จึงต้องเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

รัฐประหาร 2557
แนวต้าน ขยายวง

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 บทบาทด้านหลักเป็นของ กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากพรรคประชาธิปัตย์ มิใช่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เท่ากับเป็นการปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับ คสช.
เท่ากับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
เป้าหมายในการต่อสู้และทำลายคือ พรรคเพื่อไทย
จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2561 ไม่เพียงแต่จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาเป็นเครื่องมือ แต่ปัจจัยทางการเมืองที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ พรรคที่ประกาศเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับ คสช.มิได้มีแต่เพียงพรรคเพื่อไทยอันต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย
หากแต่ยังมีพรรคประชาชาติ หากแต่ยังมีพรรคอนาคตใหม่
2 พรรคนี้ประกาศอย่างเด่นชัดว่า ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจโดย คสช. อันเป็นทิศทางและแนวทางเดียวกันกับที่พรรคเพื่อไทยยืนหยัดเสมอมา
เท่ากับพันธมิตรในแนวร่วม “ไม่เอา คสช.” ได้ขยายวงขึ้น

การเมืองใหม่
หลังรัฐประหาร

หากเทียบกับรัฐประหารในระยะใกล้ก่อนหน้าปี 2549 และก่อนหน้าปี 2557 อาจถือได้ว่าปัจจุบันการเมืองได้พัฒนามาสู่ก้าวใหญ่และก้าวสำคัญ
อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยก็ประกาศแนวทางเด่นชัดเพื่อต่อกรกับ คสช.
ยิ่งกว่านั้น ยังมีพรรคการเมืองอีกอย่างน้อย 2 พรรคคือ พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ ประกาศหลักการอย่างเดียวกันกับที่พรรคเพื่อไทยประกาศและยืนหยัดต่อสู้
นี่คือการเมืองใหม่ นี่คือมิติและแนวโน้มใหม่ในสังคมประเทศไทย