จดหมาย / ฉบับประจำวันที่ 7-13 กันยายน 2561

จดหมาย

ปริศนา “สำรับ”

ความท้าทายให้กระหายในเกียรติประวัติของผู้นิยมชมชอบคิด-คณิตศาสตร์แขนง “รัมมี่” นั้นไม่แตกต่างกัน
นั่นคือการได้น็อกมืด+สี+สเปโตพร้อม “ค่าโง่”
ไว้เบ่งบารมี ภาคภูมิใจในสถานะ “นักรำพัด” ให้ได้สักครั้งหนึ่งในทำเนียบรุ่น
ซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่งนักที่จะเกิดขึ้นได้
แม้ว่าไพ่ป๊อกสำรับหนึ่งจะมีมากถึง 52 ใบ
แต่ทว่ามันแบ่งออกเป็น 4 ชุด ชุดละสีทั้งโพธิ์ดำ โพธิ์แดง ดอกจิกและข้าวหลามตัด
โอกาสที่เราจะได้รับการแจกจ่าย, จั่วมาคั่วน็อกมืด-สีพร้อมสเปโตนั้น
แทบเป็นไปไม่ได้
ยิ่งเล่นกันในวง 2-3 ขา (ไพ่) ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
เพราะจำนวนไพ่ที่แจกนั้นเพิ่มมากขึ้น
แจกกันหลายๆ รอบเข้าก็เล่นเอา “คุณตา-คุณยาย” ตาลายไปตามๆ กัน
และหากไม่ระวัง-จำไม่แม่น
แทนที่จะได้น็อกอยู่รอมร่อแล้วนั้นก็ดันไป “ทิ้งโง่” ให้เพื่อนน็อกไปเสียก่อนก็มีให้เห็นเป็นที่ขันขื่นกันอยู่เนืองๆ
ซึ่งเป็นเรื่องครึกครื้นเฮฮาให้ได้กระเซ้าเย้าแหย่กันก่อนที่จะเข้าสู่รอบใหม่หรือโอกาสต่อๆ ไปให้คนทิ้งโง่หรือ “ตีโง่” ได้มีโอกาสล้างตาหรือโดนตอกลิ่มให้เจ็ดปวดกระดองใจขึ้นไปอีกก็สุดแท้แต่เวรกรรมจะนำพา
ซึ่งมันมาตอกย้ำให้เจ็บช้ำใจก็กับคำว่า “โง่” นี่แหละครับ…พับเผื่อย
(ซึ่ง “คำเมือง” บ้านผมจะเย้ยหยันคนทิ้งโง่-เสียค่าโง่ว่า “โดนดูด” ส่วนคนได้ค่าโง่นั้นเป็นฝ่าย “ดูด” ซึ่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิงกับ “ฝ่ายดูด” ใน ทางการเมืองชนิดที่เรียกว่าตรงกันข้าม)
ส่วนคุณประโยชน์อีกหลายประการในรัมมี่นั้น
ถือเป็นบททบทวนความทรงจำได้ดี
ป้องกันอัลไซเมอร์
บริหารสมองให้ได้คาดคิดคำนวณ
อ่านสถานการณ์, รู้จักรอคอย-ควบคุมอารมณ์ให้เยือกเย็นเป็นปกติ
การวัดใจตนเองและเพื่อนร่วมวงไปตามเกม
เล่นกันฉันมิตร เศรษฐกิจไม่รั่วไหล หมุนเวียนกันไปสี่คน, สี่ซ้าห้าชั่วโมงบางคราได้-เสียไม่ถึงร้อยแต่ได้อิ่มกันถ้วนทั่ว
เพราะคนที่ได้เยอะกว่าใครเพื่อนนั้นเป็นเจ้ามือเลี้ยงข้าวมื้อเย็น
เป็นสันทนาการในบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายได้ปริ่มเปรมเกษมอุราได้พบปะสนทนากันนานๆ (ลูกหลานชอบใจไม่เป็นห่วง)
…ไม่หนักหน่วงเหมือนการเล่นอย่างเอาเป็นเอาตาย, เอาชนะคะคาน “กินบ้านกินเมือง” กันอย่างไม่ยอมลดราวาศอกเพราะความโลภ โกธร หลง ความอยากได้ไม่รู้จักพอ
ซึ่งยิ่งอยู่นานยิ่งพาลให้ลูกหลานปวดใจกับการจ่าย “ค่าโง่” อย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ
สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

เออ อ้ายสงกรานต์
มี “ขา” หนึ่ง เขาเล่นมาสี่ปี๋กว่าๆ
หมู่เฮาเสียค่าโง่ไปเท่าไหร่แล้วน้อ…ปี๋อ้าย

ปริศนา “ธรรม”

ข้อเขียนวันนี้
ไม่บอกนะว่า คำว่า
“งามอยู่ที่ซากผี
ดีอยู่ที่ละ
พระอยู่ที่จริง
นิพพานอยู่ที่ตาย ก่อนตาย”
ความหมายเต็มๆ คืออะไร
ขอให้คิดเป็นการบ้าน ให้ไปขบคิดเอากันเอง
จากครูพักลักจำ
“ปิยพงศ์”
(เมืองหละปูน) เจ้าเก่า
ที่มาของภาพ : ภาพโครงกระดูก 3 โครง ก่อนที่จะนำไปแขวนไว้ข้างฝาที่ศาลาโรงธรรม จากหนังสืออสีติสังวัฉรายุศมานุสรณ์ จากพุทธทาสภิกขุ 2449-2529 ที่ศิษยานุศิษย์พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในวันล้ออายุครบ 80 ปีท่านพุทธทาส ในปี 2529
ตากล้อง : ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

เอ้า “ชมรมดัมมี่”
อย่ามัวแต่หาช่องน็อกกันจนหน้ามืด
“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า มาชี้ทางสวรรค์ให้แล้ว
โปรดตีปริศนาธรรมให้แตก
แล้วนำไปโปรดพวกมนุษย์ที่ชอบบิดเบือน ทำให้ “คำและความ” ตกหาย
จาก “นิพพาน” ก่อนตาย
กลายเป็นพวก “ตาย” ก่อน “ตาย” โดยไม่รู้ตัวกันทั้งนั้น