วิกฤติศตวรรษที่21 : วิเคราะห์ทำไม? รัฐบาลใหม่ตุรกีในความไม่แน่นอนสูง – ค่าเงินลด ตลาดหุ้นทรุด!

วิกฤติประชาธิปไตย (19)

รัฐบาลใหม่ตุรกีในความไม่แน่นอนสูง

รัฐบาลใหม่ตุรกีในระบบประธานาธิบดีถือกำเนิดได้ไม่นานก็ต้องเผชิญกับพายุใหญ่อย่างคาดไม่ถึง

ค่าเงินลีราตุรกีลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นก็ทรุดหนักไปด้วย

ภาวะทรุดตัวทางการเงินนี้ นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นเหมือน “พายุสมบูรณ์แบบ” ที่กระหน่ำตุรกี

บ้างไปไกลถึงขั้นว่าจะติดเชื้อลามไปถึงการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือส่งผลกระทบรุนแรงต่อธนาคารใหญ่ในยุโรป ได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นต้น ที่ปล่อยเงินกู้จำนวนมากให้แก่บริษัทในตุรกี

แต่ความจริงตุรกีเกิดการทรุดตัวทางการเงินมาหลายครั้ง

ช่วงทศวรรษ 1990 ก็ครั้งหนึ่ง ร่วมกับวิกฤติการเงินเอเชียตั้งแต่วิกฤติการเงินใหญ่ของสหรัฐปี 2008 เศรษฐกิจตุรกีก็เผชิญกับความเสี่ยงสูงขึ้น แม้จะรักษาการเติบโตระดับสูงไว้ได้แต่สุขภาพก็ไม่แข็งแรง ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนี้กันทั้งโลก เพียงแต่ตุรกีมีลักษณะเฉพาะของตนตามที่ตั้งประวัติศาสตร์ อำนาจแห่งชาติ และการนำ

โดยรวมกล่าวได้ว่ารัฐบาลใหม่ของตุรกีตกอยู่ในความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น ต้องทำงานหนักและดีกว่าเดิมจึงเอาตัวรอดไปได้

ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น เกิดจากเหตุปัจจัยสองกลุ่มด้วยกัน

เหตุปัจจัยแรก ได้แก่ ภาวะแยกวง ในกระบวนโลกาภิวัตน์ได้ก้าวถึงขีดอันตรายสูง จัดเป็นเหตุปัจจัยคงที่มีการเปลี่ยนแปลงช้ากว่า

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นเหตุปัจจัยผันแปร มีการเปลี่ยนแปลงเร็วต้องติดตามดูเป็นรายวัน ได้แก่ ความสัมพันธ์ภายในชนชั้นนำและประชาชนตุรกี และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างตุรกีกับสหรัฐและตะวันตก เกิดการด่าทอ (เรียกกันว่าการแสดงโวหาร)

การปฏิบัติการหลายมิติและวิธีการสร้างมิตรและศัตรูและอื่นๆ จะได้กล่าวถึงสองเหตุปัจจัยนี้ รวมถึงว่ารัฐบาลใหม่ตุรกีจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ได้หรือไม่

การแยกวงในกระบวนโลกาภิวัตน์ถึงขีดอันตราย

การ “แยกวง” ในกระบวนโลกาภิวัตน์ แสดงว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ รวมถึงลัทธิประชาธิปไตยเสรี และทรัพยากรธรรมชาติในโลก ไม่สามารถรองรับและรักษากระบวนโลกาภิวัตน์แบบเดิมได้

ทำนองเดียวกับจักรวรรดิโบราณที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้ ต้องแตกเป็นอาณาจักรน้อยใหญ่หรือย้อนไปในสังคมบรรพกาล เมื่อมนุษย์ยังชีพด้วยการเก็บของป่า-ล่าสัตว์ เมื่อมีจำนวนผู้คนในกลุ่มมากขึ้นเกิน 150 คน เป็นต้น ก็จำต้องแตกตัวออกเป็นสองกลุ่ม แยกกันอพยพกันไป

กระบวนโลกาภิวัตน์นั้นเติบโตเต็มที่ในช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยเงื่อนไขดีจากการล่มสลายของจักรวรรดิสหภาพโซเวียต และจีนหันไปเดินหนทางทุนนิยมเต็มตัว กระบวนโลกาภิวัตน์มีวงหลักวงเดียวมีสหรัฐเป็นผู้นำ ทำให้ทั้งโลกมีเศรษฐกิจฐานดอลลาร์

ถึงจะมีวงเล็กอื่นได้แก่ วงตลาดร่วมยุโรป วงตลาดใช้เงินเยนของญี่ปุ่น แต่ก็แสดงบทบาทเป็นเพียงวงบริวารในการเสริมสร้างกระบวนโลกาภิวัตน์ให้แผ่ไปทั่วโลก

AFP PHOTO / BULENT KILIC

แต่เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 21 มีบางกลุ่มที่ลุกขึ้นมาประท้วงระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นผู้สร้างและจัดการ ที่เป็นข่าวดังได้แก่ กลุ่มก่อการร้ายที่ก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเดือนกันยายน 2001

แต่ที่ลึกซึ้งและมีผลกระเทือนจริงจังกว่ามาก คือการเคลื่อนไหวของสองมหาอำนาจใหญ่ คือรัสเซียและจีน ผู้นำรัสเซียเห็นว่าสหรัฐเอาเปรียบโลกจากการที่เงินดอลลาร์ใช้เป็นเงินสำรองและการค้าระหว่างประเทศ สามารถพิมพ์ธนบัตรได้ตามใจชอบ และเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ-การเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ฝ่ายนำจีนก็มีความเห็นว่าสหรัฐได้ใช้การชักใยเงินดอลลาร์ให้บางช่วงมีมูลค่าต่ำ บางช่วงมีมูลค่าสูง เพื่อกำหนดความเป็นไปทางเศรษฐกิจโลกได้ตามที่ต้องการ

เมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ปี 2008 จีนที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้อง “หย่า” จากเงินดอลลาร์ ไม่ให้ความผันผวนทางเศรษฐกิจและเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของตน

จีนได้ดำเนินการหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาสถาบันการเงินที่เป็นสากลของตนขึ้น สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ขยายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศขนานใหญ่ ทั้งหมดเพื่อยกฐานะเงินหยวนของตนขึ้นเป็นเงินตราที่ใช้และเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในโครงสร้างการเงินโลก

สำหรับรัสเซียได้แสดงบทบาทสำคัญทางการเมือง-การทหาร ในการโจมตีลัทธิโลกขั้วอำนาจเดียวและดอลลาร์เป็นใหญ่อย่างต่อเนื่อง และเข้าเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐ-นาโต้หลายพื้นที่หลายครั้ง

ทั้งแสดงว่าพร้อมที่จะไปดับไฟสงครามที่สหรัฐไปก่อไว้ในที่ต่างๆ ทั่วโลกถ้าทำได้และจำเป็น

การเคลื่อนไหวเพื่อหย่าหรือแยกวงดังกล่าวที่ได้ดำเนินมาราวสิบปี ได้ก่อความหวั่นเกรงและความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่สหรัฐ

จนกระทั่งในเดือนมกราคม ปี 2018 ทางการสหรัฐก็ได้ลั่นกลองศึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศว่า รัสเซียและจีนเป็น “อำนาจนักแยกวง” (Revisionist Power แปลตามตัวว่า “อำนาจนักแก้” คือต้องการแก้ระเบียบโลกที่สหรัฐครองความเป็นใหญ่) เป็นสัญญาณว่าจะเปิดศึกใหญ่กับรัสเซีย-จีน

และประเทศอื่นที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับจีน-รัสเซีย ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอำนาจนักแยกวงไปด้วย ได้แก่ อิหร่าน เวเนซุเอลา เกาหลีเหนือ เป็นต้น

ส่วนตุรกีเพิ่งมาต่อแถวไม่นานมานี้ หลังการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016

กลองศึกที่ฝ่ายบริหารสหรัฐบรรเลงอยู่ในขณะนี้ เป็นสงครามเศรษฐกิจ ต่างกับกลองศึกที่บรรเลงในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ที่ต้องการทำสงครามใช้กำลัง สงครามที่ยาวนานกับผู้ก่อการร้าย แต่การวางอำนาจนั้นไม่ต่างกัน เพราะต่างยึดถือลัทธิครองความเป็นใหญ่และการโจมตีก่อน

ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกประกาศในรัฐสภาวันที่ 20 กันยายน 2001 ว่า “ทุกประเทศ ทุกภูมิภาค บัดนี้ต้องตัดสินใจว่าจะเข้าข้างเรา หรือเข้าข้างพวกก่อการร้าย”

ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ค้าขายกับอิหร่าน ก็ไม่ต้องค้าขายกับเรา” (07.08.2018)

การวางอำนาจดังกล่าวมีด้านที่แสดงว่า การโหมกลองศึกของสหรัฐไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพันธมิตร โดยเฉพาะในกรณีการก่อสงครามอิรัก ที่มีเสียงคัดค้านมาก และประชาชนเดินขบวนต่อต้านตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกเป็นสิบล้านคน

ยังเป็นที่สังเกตว่า การก่อสงครามในสมัยบุชต่อมาจนถึงสมัยโอบามาล้วนไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในอัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย และลิเบีย สงครามยังคาราคาซัง จะรุกก็ไม่ได้ จะถอนกำลังก็กลัวแพ้สิ้นเชิง ต้องติดอยู่ในสงครามที่โง่เขลาไม่อาจเอาชนะได้

US President Donald Trump speaks on the phone with Mexico’s President Enrique Pena Nieto on trade in the Oval Office of the White House in Washington, DC on August 27, 2018.
President Donald Trump said Monday the US had reached a “really good deal” with Mexico and talks with Canada would begin shortly on a new regional free trade pact.”It’s a big day for trade. It’s a really good deal for both countries,” Trump said.”Canada, we will start negotiations shortly. I’ll be calling their prime minister very soon,” Trump said.US and Mexican negotiators have been working for weeks to iron out differences in order to revise the nearly 25-year old North American Free Trade Agreement, while Canada was waiting to rejoin the negotiations.
/ AFP PHOTO / MANDEL NGAN

ทรัมป์ซึ่งเป็นตัวแทนชนชั้นนำอีกปีกหนึ่งเห็นว่า ควรเปิดแนวรบทางเศรษฐกิจ เพราะว่าเดิมกระทำอย่างไม่จริงจัง ใช้การแซงก์ชั่นที่ไม่เด็ดขาด หรือไม่ได้ใช้มาตรการภาษีศุลกากรอย่างครอบคลุม คิดว่าถ้าทำสงครามเศรษฐกิจก็อาจชนะได้ เพราะว่าสหรัฐยังคงมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลก และควบคุมการไหลและค่าเงินดอลลาร์ที่ยังเป็นฐานเศรษฐกิจโลกในขณะนี้อยู่

แต่เมื่อทำไปก็เกิดความร้อนระอุไปทั่วโลกไม่แพ้การทำสงครามด้วยการใช้กำลัง

เมื่อสหรัฐประกาศว่าจะเพิ่มการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในกรณีเกี่ยวข้องกับการวางยาพิษอดีตสายลับรัสเซีย-อังกฤษที่กรุงลอนดอน และรัฐสภาสหรัฐก็เคลื่อนไหวเตรียมออกกฎหมายเพื่อการแซงก์ชั่นรัสเซีย ถึงขั้นจะปิดกิจการธนาคารรัสเซียในอเมริกา

รัสเซียเห็นว่าการแซงก์ชั่นเหล่านี้ล้วนไม่ชอบธรรมและผิดกฎหมาย และเมื่อสหรัฐเป็นฝ่ายรุกมาจนถึงขั้นนี้ รัสเซียก็ได้ตอบโต้อย่างแข็งกร้าว

โดยนายกรัฐมนตรีเมดเวเดฟแห่งรัสเซีย ได้ออกมาประกาศว่า “ผมจะไม่แสดงความเห็นใดเกี่ยวกับการแซงก์ชั่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ผมสามารถกล่าวได้อย่างหนึ่งว่า ถ้ามีการห้ามการทำงานของธนาคารรัสเซีย หรือห้ามธนาคารเหล่านี้ไม่ให้ใช้เงินตราสกุลหนึ่งสกุลใด ก็จะเป็นที่ชัดเจนว่าสามารถเรียกการปฏิบัตินี้ว่าเป็นการประกาศสงครามทางเศรษฐกิจ”

ที่หนักกว่านี้ เมดเวเดฟประกาศว่า “ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้ต่อสงครามนี้ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือถ้าจำเป็นก็ต้องใช้วิธีการอื่น และเพื่อนชาวอเมริกันของเราจำต้องเข้าใจสิ่งนี้” (ดูรายงานข่าวของ Sam Meredith ชื่อ Russia likens US sanctions to economic war – and threatens to response “by other means” ใน cnbc.com 10.08.2018)

เมดเวเดฟผู้นี้ได้ชื่อว่าอยู่ในปีกนิยมตะวันตก ต้องการผูกมิตรกับสหรัฐและสหภาพยุโรป การที่เขาออกมาประกาศกร้าวเช่นนี้สะท้อนว่าภายในชนชั้นนำรัสเซียเกิดความเป็นเอกภาพมากขึ้น ในการไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐอีกต่อไป และถ้าคำประกาศนี้ไม่ใช่คำขู่ แต่เป็นสิ่งที่รัสเซียจะทำและสามารถทำได้จริง

ก็แสดงว่าการแยกวงในกระบวนโลกาภิวัตน์มีความล่อแหลมที่จะเกิดปะทะกันระหว่างมหาอำนาจในทุกมิติได้

การแยกทางเดินระหว่างตุรกีกับสหรัฐ

ตุรกีเริ่มแยกทางเดินกับสหรัฐตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ของแอร์โดอานได้ขึ้นสู่อำนาจ

ซึ่งเกิดประจวบกับเหตุการณ์ใหญ่อื่นในช่วงนั้น ได้แก่ การขึ้นสู่อำนาจของวลาดิมีร์ ปูติน ในรัสเซีย การก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด ที่เสริมกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม และการต่อต้านนโยบายครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐ-นาโต้ การจัดตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งก่อรูปแกนพันธมิตรจีน-รัสเซีย และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน ที่ช่วยให้จีนเข้ามามีบทบาทในการค้าการลงทุนโลกเหมือนติดปีกบิน

บนเวทีโลกที่เปลี่ยนไปนี้ สร้างเงื่อนไขและบีบให้ตุรกีจำต้องเดินนโยบายเป็นอิสระจากสหรัฐ-นาโต้ได้มากขึ้น

เหตุการณ์ที่แสดงถึงการแยกทางเดินอย่างยากจะหวนกลับ เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวกลางเดือนกรกฎาคม 2016 ในตุรกี

ทางการตุรกีเชื่อมั่นว่าผู้เป็นแกนอยู่เบื้องหลังการก่อการรัฐประหาร ได้แก่ เฟตฮุลลาห์ กูเลน นักเทศน์ชาวตุรกีที่ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐ

และได้มีการกวาดล้างคนในกลุ่มนี้อย่างขนานใหญ่ในข้อหามีส่วนร่วมรู้เห็นในปฏิบัติการนี้

ที่พลอยถูกจับกุมไปตั้งแต่แรกได้แก่ แอนดรูว์ บรันสัน พระคริสเตียนชาวสหรัฐ ที่ได้พำนักอยู่ในตุรกีเป็นเวลากว่า 20 ปี

มีข่าวว่าฝ่ายตุรกีเจรจาแลกเปลี่ยนตัวบรัสสันกับกูเลนแต่ไม่เป็นผล เรื่องยืดเยื้อจนกระทั่งมาแตกหักในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวบรันสัน ไม่เช่นนั้นก็จะต้อง “เจอดี”

จากนั้นสหรัฐก็ได้ประกาศแซงก์ชั่นรัฐมนตรีตุรกีสองนายที่มีส่วนในการคุมขังบรันสัน ต่อมายังได้เพิ่มพิกัดภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีอีก

การที่ทรัมป์ปฏิบัติเช่นนี้ ด้านหนึ่งเกี่ยวกับการหาเสียงในหมู่ชาวคริสเตียนที่เป็นฐานเสียงสำคัญของตนในการเลือกตั้งกลางเทอมเดือนพฤศจิกายน 2018 อีกด้านหนึ่งเพื่อการสั่งสอนตุรกีที่แตกแถวไป ดังนั้น ไม่ว่าตุรกีจะปล่อยหรือไม่ปล่อยตัวบรันสัน สหรัฐก็จะกดดันตุรกีต่อไปจนกว่าจะยอมกลับมาอยู่ในแถว

การแตกแถวของตุรกีนี้ ที่สำคัญได้แก่

ก) การหันไปจูบปากรัสเซีย ไปจนถึงการสั่งซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธ เอส.400 จากรัสเซีย ทำให้ระบบป้องกันทางอากาศของนาโต้โหว่แหว่งไป และห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง

ข) การที่ตุรกีตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่ออิสราเอลและคัดค้านนโยบายของสหรัฐที่ย้ายสถานทูตไปกรุงเยรูซาเลมอย่างรุนแรง ก่อกระแสความไม่พอใจของชาวอาหรับให้ปะทุขึ้นด้วย เป็นการทำลายแผนการสร้างแกนอิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ นอกจากนี้ ยังสร้างความยากลำบากเป็นอันมากต่อนโยบายสร้าง “นาโต้ของชาวอาหรับ” เพื่อต่อต้านอิหร่าน

ค) ตุรกีประกาศว่าจะไม่ยอมบอยคอตการสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านอย่างที่สหรัฐต้องการ ทำลายแผนการแซงก์ชั่นเศรษฐกิจอิหร่านให้ล้มทั้งยืน

ง) ในยุโรปเองก็ไม่พอใจตุรกีที่เข้าไปจัดตั้งกลุ่มชาวเติร์กในประเทศยุโรป ทำให้แผนกลมกลืนชาวมุสลิมให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกยากขึ้น ปัญหาผู้อพยพยิ่งรุนแรง

การแตกแถวและการตอบโต้จากสหรัฐมีผลกระทบรุนแรงมากต่อตุรกี เฉพาะในครึ่งแรกเดือนสิงหาคม 2018 ค่าเงินลีราตุรกีได้ลดต่ำลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องรัฐบาลในระบบใหม่ของตุรกีจะฝ่าวิกฤติได้หรือไม่