สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ Salamat Datang di Indonesia “ชีวิตต้องเดินต่อไป”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“สัจธรรมคือความเปลี่ยนแปลง”

ผมนึกถึงวลีนี้ขึ้นมาทันทีที่ล้อเครื่องบิน เที่ยว TG 433 ต้นทางสุวรรณภูมิ สัมผัสพื้นสนามบินโซการ์โน-ฮัตตา กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ใกล้เที่ยงวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ต้องปรับเข็มนาฬิกาข้อมือเพราะเวลาตรงกับเมืองไทย

มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นอาคารสนามบินสร้างใหม่ใหญ่โต ปรากฏตัวอักษรขนาดใหญ่ Energy of Asia สะท้อนนัยยะสองประการ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพลังของประเทศในทวีปเอเชียที่กำลังจะจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 อินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพ

กับศักดาของอินโดนีเซียในฐานะหนึ่งในสมาชิกประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ของโลก

เพื่อนร่วมทางหลายคนในคณะต่างพูดตรงกันว่า อินโดนีเซียวันนี้เปลี่ยนแปลง พัฒนาไปรวดเร็วมาก ยังรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี

แม้ต้องเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระอุ ดินถล่ม ผู้คนเสียชีวิตและบาดเจ็บครั้งละไม่น้อยก็ตาม แต่พี่น้องอินโดนีเซียพร้อมใจกันนำพาประเทศก้าวเดินต่อไปไม่หยุด

ทำให้หวนคิดถึงมิตรประเทศใกล้เคียงอีกแห่งคือลาว ผู้ประกาศจุดยืนเป็น Battery of Asia เพิ่งประสบภัยพิบัติเขื่อนพัง น้ำท่วมเสียหายใหญ่หลวง

พี่น้องลาวก็ยังยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 6% เช่นกัน

ครับ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป

 

เช่นเดียวกับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่กำลังพากันเดินทางไปเยี่ยมครูผู้ได้รับรางวัลพระราชทาน คนที่สองของอินโดนีเซีย ไปดูโรงเรียน ห้องเรียน พบเพื่อนครู นักเรียน ผู้บริหารโรงเรียน พบชาวบ้านร้านถิ่นในชุมชน จนถึงผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศ เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ สร้างความเข้มแข็งเพื่อความยั่งยืนของเครือข่ายครูอาเซียน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ซึ่งกันและกันนำไปพัฒนาครูอีกมากมายในแต่ละประเทศสมาชิก ให้ยืนหยัดจิตวิญญาณความเป็นครูและความรู้ ความสามารถ สมสมัยกับโลกยุคดิจิตอล การสื่อสารไร้พรมแดน

พร้อมกันนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้ง 11 ประเทศ หลังจากนั้นแล้วพวกเขากลับไปทำอะไรต่อ ทั้งปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของตัวเอง นำเอาแบบอย่างดีๆ ที่ได้พบเห็นไปแลกเปลี่ยน เผยแพร่เพื่อพัฒนาเพื่อนครู สร้างเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เกิดเวทีร่วมทั้งครูและนักเรียนไปด้วยกัน ซึ่งพบหลายกรณีน่าติดตามอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ครูรางวัลพระราชทานทุกคน ทุกประเทศ ต่างมีส่วนร่วมสนับสนุน ส่งเสริมกระบวนการปฏิรูปการศึกษาภายในประเทศของตนอย่างแข็งขันไม่แพ้กัน

 

กิจกรรมใหม่ในรายการเที่ยวนี้ เกิดความก้าวหน้าในความร่วมมือขององค์กรทางการศึกษาระหว่างประเทศเป็นรูปธรรมขึ้นอีกระดับหนึ่ง

เริ่มการทดลองทางการศึกษา จัดรายการ Mini Semina ระหว่างครูผู้ได้รับรางวัลรุ่นแรกของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งคนแรกและคนที่สอง นำเสนอผลงานหลังจากได้รับรางวัล โดยมีผู้บริหารองค์กรทางการศึกษาระดับภูมิภาค 3 องค์กรหลักมาร่วมเวที เพื่อให้เกิดความร่วมมือทำงานประสานกันต่อไป ได้แก่ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี Princess Maha Chakri Award (PMAC) Foundation องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization) หรือชื่อย่อว่า ซีมีโอ (SEAMEO) และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO)

รายละเอียดในเวทีการพูดคุย สาระมีอย่างไร ผมจะเก็บมาร้อยเรียงเล่าให้ฟังตามลำดับ

 

คณะกรรมการมูลนิธิ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธาน และ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิ นำคณะผ่านอาคารสนามบินด้วยความชื่นชมกับแนวความคิด การออกแบบ ตกแต่งเรียบง่ายแต่เก๋ไก๋ มีเสน่ห์ โปร่ง โล่งสบาย มีสีสัน บรรยากาศอบอุ่น แม้นักเดินทางจะพากันมาจากทั่วทุกสารทิศ

ทีมเจ้าหน้าที่หญิงล้วน ตั้งโต๊ะเตรียมรอต้อนรับนักกีฬาจากมิตรประเทศในเอเชีย ที่เริ่มทยอยกันมาเข้าร่วมการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์อย่างคึกคัก โบกมือทักทายพวกเราอย่างเป็นกันเอง

ด้านนอกหน้าประตูจัดเก้าอี้ไว้ให้ผู้โดยสารที่ออกมายืนคอยรถเรียงเป็นแถวนับร้อยตัว ไม่ต้องยืนเกะกะเก้งก้าง เดินไปเดินมาเพราะหาที่หย่อนก้นไม่ได้

คณะนักเดินทางทางการศึกษารอครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียสองคนมาสมทบ ก่อนพากันเดินทางต่อไปยังพื้นที่เป้าหมายอีกเมืองหนึ่ง ห่างจากเมืองหลวงจาการ์ตาคือจังหวัดมาจาลังกา (Majalenka) ห่างจากเมืองหลวงจาการ์ตา 230 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 4 ชั่วโมงตลอดช่วงบ่ายถึงเย็น

ระหว่างทางรถวิ่งผ่านย่านธุรกิจการค้า สถานที่ทำงาน อาคารตึกสูงระฟ้า รถราทุกขนาดจอดนิ่งยาวเหยียดรอสัญญาณไฟเขียว ริมถนนวินมอเตอร์ไชค์รับจ้าง ดำเนินกิจการโดยบริษัทธุรกิจข้ามชาติ แกร๊บ และโกเจ็ก (Gojek) สองบริษัทกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด จอดรอรับผู้โดยสารอยู่ทุกหัวมุมถนน และวิ่งขวักไขว่แซงหน้ารถยนต์เรียงเป็นแถว ให้บริการทั้งคนหาเช้ากินค่ำและนักธุรกิจระดับร้อยล้านพันล้าน ในยามที่ต้องฝ่าการจราจรไปถึงที่ประชุมให้ทันเวลานัดหมาย จนเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ไปแล้ว

วิถีคนเมืองในประเทศที่มีประชากรเกือบ 300 ล้านคน เป็นอันดับ 4 ของโลก จึงเร่งรีบ เร่าร้อน แข่งขัน ยิ่งกว่าหลายแห่งที่รายได้ต่อหัวประชากรแม้จะต่ำกว่า แต่ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมแตกต่างกันลิบลับ

ระหว่างทาง การก่อสร้างทางด่วนลอยฟ้ายาวตลอด ผ่านย่านธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่ทำการบริษัทยักษ์ใหญ่ PT Astra Honda Motor ต่อด้วย Hitashi Transport System ติดป้ายเบ้อเริ่มเทิ่ม แสดงถึงการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

มิน่าเล่ายวดยานบนถนนเต็มไปด้วยรถโตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ นิสสัน นานๆ ครั้งถึงเห็นรถยุโรป เลกซัส ผ่านตามาสักคัน

 

ออกนอกเมืองเข้าสู่ย่านการเกษตร ริมถนนสองข้างทางปลูกไม้สักยาวเป็นทิวระยะห่างกันราว 2 เมตร กำลังแทงยอดสูงขึ้นแข่งกันรับแสงแดด สวนมะพร้าว กล้วย ไร่อ้อย มันสำปะหลัง สวนยางพารา ท้องทุ่งนาข้าวเขียวขจี ระบบชลประทาน ส่งน้ำเข้านาเป็นร่องเล็กๆ มีน้ำไหลตลอด กลางทุ่งเห็นกระโจมหลังคาคลุมพสาสติกผืนใหญ่ไว้สำหรับคนอยู่เฝ้าดูแล เป็นคำตอบว่าชีวิตการเกษตร คนต้องอยู่กับมันถึงจะได้ผลคุ้ม

มินิบัสวิ่งผ่านเข้าเขตชุมชนจังหวัดมาจาลังกา ลัดเลาะมาจนถึงโรงแรมที่พัก ผศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ กรรมการฝ่ายวิชาการของมูลนิธิ ผู้ประสานงานแจ้งว่า ค่ำนี้จะมีหัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษาของจังหวัด 3 ท่านมาพบเพื่อพูดคุยก่อนเวทีทางการวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งข่าวสารผ่านไลน์กลุ่ม ได้รับแจ้งจากสถานทูตไทยว่าเกิดแผ่นดินไหวที่บาหลี ขนาด 6.8-7 ริกเตอร์

ทุกคนในคณะตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ไม่รู้สึกตระหนก เพราะชีวิตและภารกิจสำคัญต้องเดินหน้าต่อไป