อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : PostScripts นิทรรศการศิลปะเพื่อสาธารณะ ที่ชุบชีวิตอาคารเก่าทิ้งร้างในประวัติศาสตร์ และชุมชนที่ถูกลบเลือนในกาลเวลา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมาเรานำเสนอนิทรรศการศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Biennial 2018 ไปแล้ว

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราจะขอนำเสนออีกนิทรรศการที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

PostScripts หรือ ป.ล. (ปัจฉิมลิขิต)

นิทรรศการและกิจกรรมศิลปะเพื่อสาธารณะที่จัดขึ้นบนพื้นที่ของอาคารไปรสนียาคาร ที่คัดสรรและบริหารจัดการโดยเจริญคอนเทมโพรารี่ส์ (Charoen Contemporaries) กลุ่มนักจัดการด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีจุดมุ่งหมายต้องการค้นหาวิธีการทำงานใหม่ในรูปแบบแนวระนาบ ที่เน้นในความเสมอภาคของคนทำงานทุกคน

PostScripts หรือ ป.ล. (ปัจฉิมลิขิต) คือข้อความหรือประโยคที่เขียนขึ้นภายหลังจากข้อความหรือเนื้อหาที่คิดว่าจบลงไปแล้ว เช่นเดียวกับสิ่งของที่เป็นตัวแทนของความทรงจำ

ป.ล. มีคุณสมบัติ ในฐานะเครื่องมือทางวรรณกรรมที่เป็นเสียงเรียกทางภาษาให้พิจารณาถึงข้อความข้างต้นอีกครั้ง

อาคารไปรสนียาคารนั้นเดิมทีเป็นสถานที่ที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้า

ตัวอาคารที่เห็นในปัจจุบันเป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยจำลองจากอาคารเดิมที่ถูกรื้อทิ้งไป ซึ่งเป็นอาคารไปรษณีย์โทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย สัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก มันเป็นสถานที่แรกที่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบไปรษณีย์ ระบบขนส่ง และระบบสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ระดับชาติ ที่ถูกลบเลือนไปในประวัติศาสตร์อย่างน่าเสียดาย

ตัวอาคารใหม่แห่งนี้จึงเป็นการจำลองแค่เพียงแค่เค้าโครงเดิมของอาคารส่วนหน้าไว้เท่านั้น

ด้านหลังของอาคารเป็นสวนหย่อมขนาดย่อม โดยในช่วงเวลาสองปีก่อนหน้านี้ พื้นที่รอบๆ ริมสะพานพระปกเกล้าและสะพานพุทธในยามค่ำคืนก็จะคลาคล่ำด้วยพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงลอยขายสินค้าและอาหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ “ตลาดนัดสะพานพุทธ”

พื้นที่ในสวนของไปรสนียาคารเองก็เป็นที่เก็บรถเข็นและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ ก่อนที่ในปี 2016 กรุงเทพมหานครจะทำการจัดระเบียบและเก็บกวาดพ่อค้าแม่ค้าและตลาดอันคึกคักเหล่านี้ออกไปจนแทบไม่เหลือหลอ

โครงการ PostScripts ในครั้งนี้ จึงเป็นการเสนอมุมมองใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ไทยอันซับซ้อน ผ่านศิลปะร่วมสมัยและกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้อาคารแห่งนี้เป็นสื่อกลางเพื่อขุดค้นประเด็นและข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่

รวมทั้งร่วมมือกับชุมชนในการพยายามพลิกฟื้นให้อาคารที่ถูกทิ้งร้าง และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่ถูกหลงลืมแห่งนี้ ให้กลับมามีชีวิตในฐานะพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง ในยุคปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า

นิทรรศการประกอบด้วยศิลปินหลากสัญชาติจำนวน 9 คน

เริ่มต้นด้วยผลงานของวูล์ฟกัง เบลวิงเกิล (Wolfgang Bellwinkel) อย่าง Babel I (2007-2011) ศิลปะจัดวางจากโครงเหล็กนั่งร้านก่อสร้าง และภาพถ่ายพิมพ์อิงก์เจ็ตบนไวนิล รูป Sathorn Unique Tower ตึกสูงระฟ้าที่โดนผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” จนทำให้โครงการก่อสร้างต้องถูกระงับกลางคัน

Babel I (2007 – 2011) วูฟกัง เบลวิงเกิล

โครงสร้างของอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จถูกทิ้งร้างเป็นเวลายี่สิบปีและถูกขนานนามว่าเป็น “ตึกผีสิง” ทุกวันนี้อาคารแห่งนี้ก็ยังเป็นเสมือนอนุสรณ์สถานของการล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและเอเชีย ศิลปินนำภาพของอาคารนี้ติดบนนั่งร้านก่อสร้าง จนให้ความรู้สึกถึงความเป็นอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ และความล้มเหลวอันไม่มีที่สิ้นสุด

Babel II (2007-2008) วูฟกัง เบลวิงเกิล
Babel II (2007-2008) วูฟกัง เบลวิงเกิล

และผลงาน Babel II (2007-2008) ภาพถ่ายพิมพ์อิงก์เจ็ตบนไวนิล รูปคนเมืองที่ดูคล้ายพนักงานออฟฟิศกำลังเดินเตะฝุ่นเพราะถูกเลย์ออฟ แต่ฉากหลังที่พวกเขาเดินอยู่กลับถูกตัดต่อออกไป ปล่อยให้พวกเขาโดดเดี่ยวเช่นเดียวกับตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จ สร้างความรู้สึกปราศจากพื้นที่และเวลาให้อ้างอิง ตัวภาพที่ติดอยู่บนตอม่อสะพานดูราวกับว่ามันกำลังมีบทสนทนากับซากสะพานสร้างไม่เสร็จที่อยู่ข้างหลัง และแสดงอารมณ์อันเคว้งคว้าง ว่างเปล่า ไร้ความหวัง ซึ่งเป็นสภาวะคนที่เกิดทันยุคต้มยำกุ้งเข้าใจและรู้ซึ้งเป็นอย่างดี

1344’24”N10029’58”E soundscape statues (2018) อานนท์ ไชยแสนสุข

ตามมาด้วยผลงานของ อานนท์ ไชยแสนสุข อย่าง 1344″24″N10029″58″E soundscape statues (2018) ประติมากรรมพลาสติกจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สร้างรูปทรงขึ้นจากการเก็บบันทึกข้อมูลเสียงจากพื้นดินในสวนรอบๆ ไปรสนียาคาร และแปลงให้เป็นรูปทรงสามมิติที่ดูคล้ายกับรูปทรงสถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้

ilostmyselfintotheworldofsignalofyou (2018) อานนท์ นงเยาว์

และผลงานของอานนท์ นงเยาว์ อย่าง ilostmyselfintotheworldofsignalofyou (2018) ผลงานศิลปะจัดวางวิดีโอเชิงทดลอง ที่เล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างภาพเคลื่อนไหวและเสียง ในรูปของแสงสีอันน่าพิศวงที่ปรากฏในสภาพแวดล้อมธรรมชาติรอบๆ ไปรสนียาคารยามค่ำคืน

แช่เวลา (2018) กัลย์สุดา ปานพรม

หรือผลงานของ กัลย์สุดา ปานพรม อย่าง แช่เวลา (2018) ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่ประกอบด้วยตู้เย็น และเสียงที่สร้างจากวัตถุที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

Golden Hour: form 8 minutes ago to what is yet to come (2018) ศรภัทร ภัทราคร

และผลงานของ ศรภัทร ภัทราคร อย่าง Golden Hour : form 8 minutes ago to what is yet to come (2018) ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่ทำจากกระจก, นั่งร้านเหล็ก และตาข่ายกันฝุ่นที่ใช้คลุมอาคารเวลาก่อสร้าง ที่แสวงหากระบวนการเล่าเรื่องทางสถาปัตยกรรม โดยใช้ตึกเป็นเครื่องมือในการมองไปสู่อนาคต ด้วยการใช้กระจกฉายภาพรูปร่างหน้าต่างในตำแหน่งเส้นร่างของตึกที่กำลังจะถูกปรับปรุงใหม่ โดยรูปร่างนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเฉพาะ เป็นการบอกช่วงเวลาของจุดจบที่จะนำไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

Untitled (postcards) (2018) อัลเบรจช์ พิซเช

หรือผลงานของอัลเบรจช์ พิซเชล (Albrecht Pischel) อย่าง Untitled (postcards) (2018) ที่ศิลปินทำการส่งโปสการ์ด 10 ใบจากเมืองเวนิส อิตาลี มากรุงเทพฯ เพื่อเป็นส่วนประกอบของผลงาน เพื่อสร้างให้เกิดการรอคอยและกระตุ้นความประหลาดใจของผู้ชมงาน

A Monument to Heritage (2018) มิติ เรืองกฤตยา

และผลงานของมิติ เรืองกฤตยา อย่าง A Monument to Heritage (2018) ศิลปะจัดวางในรูปแบบป้ายโฆษณาตู้ไฟ โชว์คำว่า A Monument to Heritage (อนุสาวรีย์ของมรดก) ซึ่งเป็นการยั่วล้อความเป็นมรดกอันเก่าแก่ของอาคารแห่งนี้ ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุด Excerpts taken from Bangkok Real Estate Advertising ที่เขาทำการตัดต่อข้อความจากโฆษณาอสังหาริมทรัพย์มาสร้างเป็นงานศิลปะ

เพลงของเธอ (2018) ณัฐพล สวัสดี

หรือผลงานของณัฐพล สวัสดี อย่าง เพลงของเธอ (2018) ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ แสง เสียง อันละมุนละไม ที่ประกอบด้วยเสียงเพลงที่แม่ของเขาแต่งและร้องเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน และแผ่นทองแดงที่สลักตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่แปลจากเนื้อเพลงดังกล่าว

เพลงเกี่ยวกับความรักความคิดถึงดังแว่วออกมาจากไปรสนียาคาร ทำหน้าที่ราวกับจะชุบชีวิตอาคารที่ดูเหมือนจะขาดลมหายใจไปแล้วแห่งนี้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

Memorial of Time (2018) ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา

และผลงานของฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา อย่าง Memorial of Time (2018) ประติมากรรมขนาดเล็กจิ๋วเปราะบางรูปชิ้นส่วนของพืชที่ทำจากแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของผู้ชมให้เปรียบเทียบและเชื่อมโยงระหว่างสิ่งของเลียนแบบที่ใช้วัสดุสังเคราะห์ กับชิ้นส่วนของพืชจริงๆ ที่เสื่อมสลายไป

ผลงานสามชิ้นในชุดนี้วางอยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กัน โดยคำนึงถึงภาษาของดอกไม้ประติมากรรม และบทกวีที่แต่งขึ้นเพื่ออนุสรณ์สถานและกาลเวลาของสถานที่แห่งนี้

นิทรรศการ PostScripts เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม และจบลงไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา โดยในวันปิดนิทรรศการ ได้มีการจัดกิจกรรมการปิกนิกและการเต้นสะวิงแจ๊ซ ที่จัดโดยกลุ่ม Bangkok Swing และกลุ่มวงน่อก ที่นำเสียงที่ได้จากพื้นที่ไปรสนียาคารในผลงานของอานนท์ ไชยแสนสุข มานำเสนอในรูปแบบของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และเปิดให้ทุกคนเข้ามาเต้นรำกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง อีกทั้งยังนำสีมาให้นักเต้นเหล่านั้นได้เหยียบและย่ำลงบนแผ่นไม้ เพื่อสร้างร่องรอยสีสันของจังหวะการเต้น โดยแผ่นไม้ที่ว่านี้ก็จะถูกนำไปแสดงในนิทรรศการอื่นต่อไป

และถึงแม้ตัวนิทรรศการจะจบลงไปแล้ว แต่หากใครมีโอกาสผ่านไปแถวนั้นก็สามารถแวะเวียนเข้าไปชมอาคารไปรสนียาคาร และเข้าไปพูดคุยสนทนากับลุงเสน่ห์ ชัยเกตุ รปภ. ชาวสุพรรณบุรี วัยหกสิบ ที่เป็นผู้เฝ้าดูแลรักษาและทำความสะอาดพื้นที่แห่งนี้ รวมถึงช่วยเหลือในการติดตั้งผลงาน แถมยังปลูกต้นตะบองเพชร และทำฝาไม้ครอบท่อน้ำ กันคนตกท่อให้ในพื้นที่แสดงนิทรรศการนี้เสียจนสวยงาม จนดูราวกับเป็นงานศิลปะจัดวางที่ร่วมแสดงในนิทรรศการนี้เลยทีเดียว!

ถ้าใครลองได้ฟังเรื่องราวและเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจของสถานที่แห่งนี้ เผลอๆ อาจจะคิดว่าแกเป็นภัณฑารักษ์หรือมัคคุเทศก์ประจำสถานที่แห่งนี้เลยก็ได้นะครับ ท่านผู้อ่าน!

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเจริญคอนเทมโพรารี่ส์ ภาพถ่ายผลงานโดยมิติ เรืองกฤตยา, ฐิติรัตน์ สกุลตันติเมธา, จิราภรณ์ อินทมาศ