สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (5) ความฝันจากถนนราชดำเนิน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ฉันอยู่เพื่อยุคทองของคนยาก ที่เขาถากทรกรรมซ้ำปั่นหัว

เพื่อความถูกที่เขาถมจมทั้งตัว เพื่อความกลัวกลับบ้าบั่นอาธรรม”

อุชเชนี

ชีวิตนิสิตใหม่ของผมเริ่มต้นด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้จะมีสถานะเป็นเพียงนิสิตปี 1

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ความรับรู้ทางการเมืองในขณะนั้นต้องถือว่ายังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่ก็มีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูงเต็มที่

และหลังจากการเคลื่อนไหวในกรณี 9 นักศึกษารามฯ แล้ว

พวกเราก็พร้อมที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไม่ลังเล


การเคลื่อนไหวใหญ่

กระบวนการหล่อหลอมและสร้างจิตสำนึกทางการเมือง สำหรับในคณะรัฐศาสตร์ของเราแล้ว ด้านหนึ่งเกิดขึ้นในห้องเรียน และอีกด้านหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวจริง

อาจารย์ท่านหนึ่งปลุกจิตสำนึกของพวกเราด้วยการเล่าถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตจุฬาฯ ในการต่อต้านการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500

การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีนิสิตจากคณะรัฐศาสตร์เข้าร่วมเป็นแกนนำ

ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ ก็เช่นกัน นิสิตคณะรัฐศาสตร์เข้ามามีบทบาทโดยตรง สนามหญ้าเล็กๆ ข้างตึก 1 กลายเป็นจุดนัดพบของพวกเราที่เป็น “กบฏโซตัส” ในการคุยถึงสถานการณ์บ้านเมือง และทั้งในบางวาระ

ยังเป็นพื้นที่ของการพูดคุยระหว่างนักกิจกรรมต่างมหาวิทยาลัยด้วย

จุดยืนที่ชัดเจนในขณะนั้นก็คือ การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญในการปกครอง ข้อเรียกร้องไม่ได้ไปถึงจุดของการล้มรัฐบาลทหารแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงหวังว่า รัฐบาลจอมพลถนอมจะยอมนำพาประเทศกลับสู่ระบอบการเลือกตั้งอีกครั้ง และนั่นคือคำประกาศของการยุติการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาครั้งใหญ่ในเดือนมิถุนายน 2516 ให้รัฐบาลทหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 6 เดือนข้างหน้า

ผมเองก็คิดแบบ “เด็กใหม่” ว่าคงต้องรอไปอีก 6 เดือน ถ้าไม่ได้ก็คงได้ออกมาเดินขบวนกันอีก

เรากลับสู่ห้องเรียนด้วยความกระตือรือร้นของความเป็นนักเคลื่อนไหว

ยิ่งในห้องเรียนต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์เอเชีย มีการกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจีนที่เรียกว่า “ขบวนการสี่พฤษภาคม” (The May Fourth Movement) โดยนักศึกษาจีนผู้รักชาติจำนวนมากเข้าร่วมในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของขบวนคนหนุ่มสาวในการเมืองจีนยุคใหม่ และทั้งยังเป็นจุดสำคัญของการกำเนิดของขบวนการชาตินิยมจีนยุคใหม่

ผมและเพื่อนๆ ที่อ่านบทเรียนประวัติศาสตร์นี้แล้วก็ได้แต่ฝันว่า สักวันหนึ่งขบวนนักศึกษาไทยจะก่อการเคลื่อนไหวใหญ่ดังเช่นยุค 4 พฤษภาคมให้ได้…

ความฝันของนิสิตรัฐศาสตร์ปี 1 เป็นจริงขึ้นเมื่อการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ท้องสนามหลวง

พวกเราที่เป็นนิสิตในกลุ่มนี้จึงตัดสินใจอย่างไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพวกพี่ๆ แม้ในช่วงนั้นจะเป็นช่วงสอบปลายภาคต้นของปีการศึกษาแรกก็ตาม

ผมและเพื่อนๆ แบ่งเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบและการเคลื่อนไหว

แล้วเราก็จัดการชุมนุมที่หน้าเสาธงจุฬาฯ นำขบวนไปร่วมการชุมนุมกับเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเริ่มมีโอกาสรู้จักกับพี่ๆ ต่างมหาวิทยาลัยที่นำการเคลื่อนไหวขณะนั้น วันที่ขบวนถึงลานโพธิ์ พี่ปี 4 ชื่อ “สันโดษ” พาไปบนตึกโดม ซึ่งเป็นดังกองบัญชาการของฝ่ายนักศึกษา

ผมได้พบกับรุ่นพี่ผู้หญิงจากธรรมศาสตร์ชื่อ “พี่หมู” (พูนทรัพย์ จันธนะสมบัติ) ซึ่งต่อมาหลังจากนั้นเราได้รู้จักกันอีกนาน

พี่หมูเป็นพี่ต่างมหาวิทยาลัยคนแรกที่ผมได้คุยเรื่องการเมืองและกิจกรรมนักศึกษาอย่างจริงจัง

และผมเริ่มได้เห็นการทำงานของขบวนนักศึกษาจริงๆ จาก “ศูนย์กลาง” ที่ตึกโดม ผมได้มีโอกาสสัมผัส “ใจกลาง” ของการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน

 

จากราชดำเนินสู่ตึกจักรพงษ์

คืนวันที่ 13 ตุลาคม ผมตัดสินใจกลับบ้าน เพราะเช้าวันที่ 14 เป็นวันอาทิตย์และจะต้องไปเรียน รด. (วิชารักษาดินแดน) ที่กรมการรักษาดินแดน

เมื่อไปถึงกรม ปรากฏว่าครูฝึกบอกให้กลับบ้าน ผมจึงเดินกลับไปธรรมศาสตร์ เพราะอยู่ไม่ไกลกันมากนัก และได้เห็นเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ยังคงเป็นความทรงจำที่สำคัญในชีวิตจนปัจจุบัน…

ผมเห็นภาพการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนบนถนนราชดำเนิน และเป็นครั้งแรกที่ได้ลิ้มรส “แก๊สน้ำตา” นี่คือรสชาติของการต่อสู้บนถนนครั้งแรกของชีวิต

เมื่อกลับถึงบ้านจึงเห็นข่าวจากโทรทัศน์ว่า จอมพลถนอมยอมลงจากตำแหน่ง และต่อมา “สองจอมพลหนึ่งพันเอก” จึงตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม หลังจากการประกาศดังกล่าวแล้ว สถานการณ์ความตึงเครียดก็ดูจะคลายตัวลง ชีวิตของกรุงเทพฯ เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

จนวันที่ 16 ตุลาคม ผมจึงกลับไปคณะ และพบว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยใช้ตึกจักรพงษ์เป็นศูนย์กลางของการทำงานในขณะนั้น พร้อมทั้งติดรายชื่อผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตไว้หน้าตึก ผมมาทราบภายหลังว่ามีเพื่อนๆ มาตรวจรายชื่อผู้เสียชีวิตว่ามีชื่อผมในประกาศนั้นหรือไม่

ในระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่หน้าตึกจักรพงษ์ ผมพบเพื่อนจากคณะอักษรศาสตร์มากับเพื่อนผู้หญิงจากคณะผม เธอชื่อ “เครือมาศ” ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างผมกับเธอ โดยมีตึกจักรพงษ์เป็นฉากหลัง และฝุ่นควันของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นเวลาอ้างอิง

และหลังจากนั้นผมได้พบเธออีกทั้งชีวิต…

14 ตุลาฯ จึงเป็นดังจุดเริ่มต้นชีวิตของเราทั้งสองในเวลาต่อมา

ทุกครั้งที่มองย้อนกลับสู่อดีตของขบวนการนิสิตนักศึกษา ผมรู้สึกภูมิใจเสมอที่ได้มีโอกาสเป็นพยานของความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเมืองไทยครั้งสำคัญในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

นึกครั้งใดก็ยังจำได้เสมอถึงภาพการต่อสู้บนถนนราชดำเนิน โดยเฉพาะภาพ “ไอ้ก้านยาว” ของนิสิตรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ถือกระบองไม้ประกาศกล้ากลางถนนราชดำเนินท้าทายทหารที่มีปืนเอ็ม-16 เป็นอาวุธ

ภาพของพี่ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว (นามสกุลปัจจุบันคือ “ปัญญาชาติรักษ์”) ยังคงตราตรึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลาคมเสมอ

พร้อมกันนั้นก็ต้องขอคารวะต่อจิตใจของผู้กล้าที่สละชีวิตสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จ วิรุฬหผล นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือ พี่จิระ บุญมาก นักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และท่านอื่นๆ ที่ผมไม่ได้เอ่ยชื่อถึง ณ ที่นี้… ขอเคารพในจิตใจกล้าต่อสู้กล้าเสียสละของวีรชน 2516 ทุกท่าน

การต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลาคม จบลง พร้อมกับการมาถึงของภูมิทัศน์ใหม่ และขณะเดียวกันโจทย์การเมืองหลังจากความสำเร็จของขบวนการนักศึกษาในวันดังกล่าวก็ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง…

ขบวนนักศึกษาจะดำรงรักษา “โมเมนตัม” ของความสำเร็จเช่นนี้ไปได้อีกนานเท่าใด

และภูมิทัศน์ใหม่จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง หรือเป็นเพียงการยุติบทบาทของผู้นำทหารเพียง 3 คน อีกทั้งโครงสร้างเก่าของระบอบอำนาจนิยมที่แข็งแรงยังคงอยู่ และไม่ได้ถูกทำลายลงจากการต่อสู้บนถนนราชดำเนินแต่อย่างใด

แม้ดูเหมือนทหารจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนถึงขั้นที่หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ พวกเขาไม่สามารถแต่งเครื่องแบบมาเดินบนท้องถนนในชีวิตประจำวันได้

แต่ใครเล่าจะรับประกันได้ว่ากองทัพจะไม่หวนคืนกลับสู่การแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้ง ปัญหาสำคัญก็คือ ชัยชนะของขบวนนักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะยั่งยืนเพียงใด และขบวนนักศึกษาจะเก็บเกี่ยวดอกผลของชัยชนะครั้งนี้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยปฏิเสธเลยว่าการต่อสู้ครั้งนี้มีปรากฏการณ์ของความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำทหารซ้อนทับอยู่กับการเคลื่อนไหวของขบวนนิสิตนักศึกษา

ผู้นำทหารกลุ่มที่แตกออกมานี้มีส่วนอย่างมากต่อการกดดันให้กลุ่มของจอมพลถนอม-จอมพลประภาสต้องเป็นฝ่ายรับ

พวกเขาปฏิเสธที่จะเคลื่อนกำลังออกมาปราบปรามนักศึกษาบนถนน บทบาทนายทหารระดับสูงกลุ่มนี้มีส่วนทำให้ระบอบการปกครองเดิมต้องแพ้ แต่ความพ่ายแพ้นี้ก็มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาบนถนนเป็นปัจจัยหลักที่ไม่อาจละเลยได้

การวิเคราะห์ผลของชัยชนะของ 14 ตุลาฯ จึงไม่อาจจะวางน้ำหนักไว้แต่เพียงปัจจัยความแตกแยกภายในกองทัพเท่านั้น

 

กลับสู่ห้องเรียนพร้อมความฝันใหญ่

สถานการณ์การต่อสู้บนท้องถนนกลับสู่ภาวะปกติ พวกเราก็เริ่มกลับสู่การใช้ชีวิตปกติเช่นกัน แต่ปิดเทอมต้นครั้งแรกของปี 2516 ไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป

นิสิตปี 1 อย่างพวกเราเริ่มคุยเรื่องการเมืองกับพวกพี่ๆ อย่างจริงจัง

และสำหรับพวกเราที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มาแล้ว เมื่อกลับมาใช้ชีวิตในคณะในภาคปลาย เราแทบไม่มีความรู้สึกกริ่งเกรงกับระบบอาวุโสอีกเลย

พวกเรารู้สึกคล้ายๆ กันว่าล้มรัฐบาลทหารในระดับประเทศมาแล้ว ไยจะต้องเกรงกับระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยอีกเล่า

และยิ่งกระแสเสรีนิยมขยายตัวจนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทยแล้ว

กระแสเสรีนิยมก็ไหลบ่าทะลักเข้าสู่ทุกมหาวิทยาลัยเช่นกัน

ถ้าเช่นนั้น เป็นไปได้ไหมที่มหาวิทยาลัยจะเป็นตัวแทนของ “ลัทธิเสรีนิยม” ในสังคมไทย

หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว ฐานล่างของความคิดในมหาวิทยาลัยยังผูกพันอยู่กับ “ระบอบอำนาจนิยม” แบบเดิมมากกว่า?

การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยยุติลง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็จัดตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) เพราะมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากถึง 2,347 คน

ดังนั้น การประชุมนี้จึงถูกเรียกว่า “สภาสนามม้า” อันเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ การเมืองไทยเดินออกจากระบอบทหารและเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบพลเรือน

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นดัง “การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งที่ 2” หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรก” ของการเมืองไทย แม้การดำเนินการทางการเมืองหลังปี 2475 จะประสบปัญหาต่างๆ มากมาย รวมทั้งความแตกแยกทางอุดมการณ์และความคิดของกลุ่มแกนนำ ตลอดจนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนำไปสู่การฟื้นตัวของกลุ่มอำนาจเก่า

ซึ่งว่าที่จริงแล้วก็อาจจะมองเปรียบเทียบได้กับการ “ปฏิวัติซินไฮ่” ซึ่งอาจถือว่าเป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรก” ของสังคมจีนในปี 2454 (ค.ศ.1911)

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้อดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ดร.ซุน ยัต เซ็น ประสบปัญหาและอุปสรรคทางการเมืองอย่างไร

คณะราษฎรก็ดูจะไม่ได้แตกต่างกัน และสุดท้ายแล้วความฝันของการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรกของสยามก็จบลงอย่างเจ็บปวดด้วยความสำเร็จของการรัฐประหารในปี 2490

ดังนั้น การดำรง “โมเมนตัมประชาธิปไตย” ให้มีความยั่งยืนจึงเป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง

แต่ไม่ว่าสถานการณ์จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม พวกเรามี “ความฝัน” และยังคงฝันที่จะเห็นสังคมการเมืองไทยก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า พวกเราที่อยู่ในขบวนเคลื่อนไหวเชื่อมั่นอย่างมากว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จะเป็นดัง “หน้าต่างแห่งโอกาส” บานใหญ่ที่เปิดออกให้สังคมไทยได้ผ่านสู่ประชาธิปไตยเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอารยประเทศของโลกตะวันตก

ความฝันชุดนี้เป็น “อุดมคติใหญ่” ของพวกเรา


ไข้ประชาธิปไตย!

การเปิดเทอมภาคปลายหลัง 14 ตุลาฯ นั้น พวกเราดูจะสนใจเรื่องการเรียนน้อยลง และจิตใจดูจะหมกมุ่นกับสนใจการเมืองมากขึ้น

จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งเปรียบเปรยว่านิสิตนักศึกษาไทยกำลังเกิดอาการเป็น “ไข้” และบอกว่าพวกเราเป็น “ไข้ประชาธิปไตย” (democratic fever) ว่าที่จริงก็คงไม่ผิดนัก เพราะดูเหมือนในวงสนทนาของพวกเรามีแต่เรื่องของประชาธิปไตย

และเราเชื่อมั่นแบบคนหนุ่มสาวว่า เราจะสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้…

คนหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงโลกได้ฉันใด เราก็เชื่อมั่นว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้ฉันนั้น คนหนุ่มสาวทั่วโลกมีความฝันที่ยิ่งใหญ่เสมอ

ในสภาวะเช่นนี้ ระบบอาวุโสจึงตกอยู่ในภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กิจกรรมสังคมการเมืองหรือ “กิจกรรมใหม่” เริ่มรุกเข้าสู่ทุกพื้นที่ในจุฬาฯ และเกิดขึ้นในทุกมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน นิสิตนักศึกษาไทยเตรียมตัวกับภารกิจใหม่ในการสร้างประชาธิปไตย…

ความฝันใหญ่ของคนรุ่นผมมีอาการเร่าร้อนกับ “ไข้ประชาธิปไตย” และอุณหภูมิวัดไข้ก็พุ่งสูงขึ้นตลอดเวลาหลัง 14 ตุลาฯ!