ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หน้าพระลาน |
เผยแพร่ |
“ผมไม่ได้นึกฝันมาก่อนว่า จะมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกายาวนานถึง 25 ปี เดิมทีเดียวตอนที่ได้ทุนจากนักสะสมศิลปะ สถาปนิกชาวอเมริกัน Bill Alexander (ศิษย์รุ่นแรกของ แฟรงก์ รอยไลต์) ผมตั้งใจว่าจะไปหาประสบการณ์ด้านศิลปะให้กับตัวเอง ต้องการดูงานตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ–”
กมล ทัศนาญชลี เขียนคำนำในสูจิบัตรงานแสดงของเขากับเพื่อนศิลปินรับเชิญ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2538 เมื่อนับรวมมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันเขาปักหลักอยู่ในสหรัฐถึง 47 ปี
เขาทำงานต่อเชื่อมเรื่องศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยกับสหรัฐ และศิลปินต่างชาติ กับกระทรวงวัฒนธรรมอย่างหนักตลอดเวลามา 19 ปีเต็ม จนเกิดโครงการจำนวนมากดังที่ได้เขียนถึงเสมอๆ โดยเฉพาะกับโครงการแลกเปลี่ยนนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย
การทำ Work shop ระหว่างศิลปินร่วมสมัยต่างชาติกับบ้านเรา การเปิดวิสัยทัศน์สู่โลกภายนอกของนักศึกษาศิลปะ ยุวศิลปิน และครูสอนศิลปะที่เรียกกันว่าครูศิลป์ ได้เดินทางไปเพิ่มพูนความรู้เป็นการต่อยอดในสหรัฐ และ ฯลฯ
กมลส่งข่าวครั้งสุดท้ายหลังผ่านพ้นภารกิจสำคัญนำครูศิลป์ตระเวนไปดูงานในหลายมลรัฐของสหรัฐ ซึ่งพื้นที่ตรงคอลัมน์นี้ได้ตอบสนองนำเสนอความเคลื่อนไหวไปพอสมควร
ขณะนี้เขาได้มีเวลาหยุดพักกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อทำงานศิลปะของเขาตามปกติที่บ้านพักในสหรัฐ และกิจกรรมโครงการต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มต้นต่อไปในปี พ.ศ.2560
เดือนตุลาคมของปีที่ผ่านเลย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับมอบผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าของศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นสมบัติจากนักสะสมศิลปะชาวไทยที่ไปพำนักในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีความประสงค์ด้วยการแจ้งไว้กับทายาทก่อนเสียชีวิตว่าต้องการมอบให้เป็นสมบัติของชาติไทย
47 ปีในสหรัฐ โดยเฉพาะมลรัฐ California และรัฐใกล้เคียง แคบลงมาอีกในเมือง Los Angeles ต้องบอกว่าไม่มีใครไม่รู้จักศิลปินไทยท่านนี้ โดยเฉพาะกับคนไทยเขาเป็นคนที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรๆ แอบแฝงทั้งนั้น ไม่มีความขัดแย้งกับใครใดๆ ทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้น นอกจากเป็นผู้ที่มีจิตอาสา และพร้อมเสมอกับงานส่วนรวมของชาวไทยด้วยกัน แต่ถ้าจะให้เต็มไม้เต็มมือกับความร่วมมือย่อมหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ
กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐ เป็นตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรม รับมอบงานศิลปะอันทรงคุณค่า ซึ่งมีผู้ให้เป็นสมบัติของประเทศไทย เขาส่งข่าวมาว่า “วันนี้ (7 ตุลาคม 2558) ครบ 1 ปีที่ผมได้ทำงานสำคัญให้กับประเทศชาติ โดยเป็นตัวแทนร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม รับมอบงานจากทายาท คุณเทพ จุลดุลย์ ซึ่งท่านเป็นนักสะสมศิลปะชาวไทยที่ไปพำนักอยู่ในสหรัฐ รวมทั้งเป็นศิษย์ของ พระเจนดุริยางค์ จึงมีต้นฉบับลายมือ พระเจนดุริยางค์ ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องทำนอง “เพลงชาติไทย”
ผลงานของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof. Corrodo Feroci) ซึ่งท่านได้เขียนไว้ก่อนเข้าโรงพยาบาลศิริราชเพียง 3 วัน
งานสำคัญของ อาจารย์เฟื้อ (ทองอยู่) หริพิทักษ์ ซึ่งเขียนขึ้นในค่ายกักกันของกองทัพญี่ปุ่นที่ประเทศอินเดีย ซึ่งท่านไปติดอยู่ที่นั่นตอนสงครามโลกครั้งที่ 2
รวมทั้งศิลปินสำคัญๆ เช่น อาจารย์ทวี นันทขว้าง, อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข, อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ, อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช, อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์, (ท่าน) อังคาร กัลยาณพงศ์ และ ฯลฯ จำนวน 29 ชิ้น”
ผลงานเหล่านี้ เดินทางไปอยู่ในสหรัฐเกือบ 50 ปีก่อนกลับมาเป็นสมบัติของชาติ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม มีโครงการจะจัดนิทรรศการ ณ หอศิลป์ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2560 สำหรับศิลปินเจ้าของผลงานได้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น ทุกท่านดังกล่าวนี้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”
กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) คำที่ใช้เรียกต่อท้ายชื่อมิใช่จะได้มาอย่างง่ายๆ เขาต้องใช้เวลาเล่าเรียนและทำงานหนักมาทั้งชีวิตด้วยจิตวิญญาณ ซึ่งหล่อหลอมมาตั้งแต่เล็กในเรื่องของศิลปะอยู่ในสหรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ก็ 47 ปี ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป หากเป็นปุถุชนคนธรรมดาเมื่อก้าวเข้าสู่วัยที่สูงขึ้นย่อมรู้สึกเหน็ดเหนื่อย และเริ่มคิดถึงการพักผ่อนเลี้ยงดูลูกหลานอยู่กับบ้าน แต่ศิลปินท่านนี้ยังแข็งแกร่ง มั่นคงเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นเสียสละ “เพื่อศิลปะ วงการศิลปะ” ไม่หยุด
กมลได้ผ่านประสบการณ์มากมายบนเส้นทางสายศิลปะ หลังจากที่เขาเข้าไปอยู่ในสหรัฐได้ประมาณ 2 ปี ก็ได้มีโอกาสแสดงผลงานศิลปะร่วมกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกจำนวนมาก เช่น Picasso, Miro, Chagall, Dali, Maxwell ณ หอศิลป์ Los Angeles, Usa.
เขาเริ่มจัดนิทรรศการศิลปะในสหรัฐ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินซึ่งมีชื่อเสียงของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ด้วยการหยิบยืมผลงานจากนักสะสมศิลปะ Mr. & Mrs.Moriss Press ซึ่งสะสมผลงานของศิลปินไทย รวมกับผลงานสะสมของ คุณเทพ จุลดุลย์ ขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐ
พร้อมทั้งจัดหาทุนให้กับศิลปินสำคัญๆ ของไทย คือ อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ดำรง วงศ์อุปราช พิชัย นิรันต์ ประเทือง+บุญยิ่ง เอมเจริญ โดยจัดแสดงที่ California, Texas และ Whashington (D.C.)
ต่อมาก็นำผลงานของ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ, อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์, อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์, อาจารย์ทวี นันทขว้าง, อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ, (ท่าน) อังคาร กัลยาณพงศ์, อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์, อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ และ ฯลฯ ไปจัดนิทรรศการยังประเทศนั้น
ผลงานประติมากรรมของศิลปินระดับชั้นครู ศิษย์รุ่นแรกๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่สำคัญอย่าง ขลุ่ยทิพย์, นางรำ, หวีผม ของยอดฝีมือ ท่านอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ และ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ก็ไปปรากฏต่อสายตาของคนไทย และคนอเมริกันในสหรัฐมานานราว 30 กว่าปี
จากนั้นเขาก็ดำเนินการเป็นระยะๆ ในวาระสำคัญๆ เรื่อยมาด้วยการจัดหาทุนเองบ้าง ได้การสนับสนุนจากผู้ที่อยู่ในฐานะจะทำได้บ้าง สำหรับการเดินทางต่างๆ ตลอดจนที่พักก็ใช้บ้านพักของตนเอง และขับรถเองดังที่เคยกล่าวไปแล้วหลายครั้งตลอดมา
นอกจากการเปิดนิทรรศการสำคัญๆ ในสหรัฐ สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมทุกอย่างต่อสังคมส่วนรวมจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่รู้กันเป็นอย่างดี กมล ก็นำ “ผลงานศิลปะของเขามาแสดงในเมืองไทย” เป็นระยะๆ จนกระทั่งมีโครงการต่างๆ กับกระทรวงวัฒนธรรม และโครงการต่อเนื่องมากมายในเมืองไทยถึงทุกวันนี้
นิทรรศการศิลปะชื่อ Kamol & Hisartist Friends ณ พิพิธภัณฑสถานหอศิลป์ (หอศิลป์เจ้าฟ้า) กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2538 (2-25 กุมภาพันธ์ 2538) โดยมีท่านประธานองคมนตรี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการศิลปะ “ผลงานย้อนหลัง 39 ปี/กมล ทัศนาญชลี” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ กรุงเทพฯ (An Art Exhibition / 39 Years Retrospective)-(วันเสาร์ที่ 6-31 มีนาคม พ.ศ.2542)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการผลงานศิลปะ “67 ปี กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ (67 Years Kamol Tassananchalee The Artist of Two World)-( 5 กุมภาพันธ์-29 มีนาคม 2554), 70 Years Kamol Tassananchalee ณ La Artcore Gallery Brewery Annex 650 A South Avenue 21, Los Angeles, California, USA.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดย “กมล ทัศนาญชลี และเพื่อนศิลปิน” ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ (The Art Exhibition 71 Years Kamol Tassananchalee & Friends at Ratchadamnoen Contemporary Art Center, Bangkok, Thailand (6 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2558)
กมลมีผลงานมากเกินกว่าจะนำเสนอได้หมดในระยะเวลาสั้นๆ ต้องคอยติดตามสำหรับคอศิลปะ