แพทย์ พิจิตร : จาก6ตุลาฯ กลับไป14ตุลาฯ และนักประวัติศาสตร์ที่ขโมยประวัติศาสตร์?! (1)

ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 จากคำบอกเล่าของท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผู้เขียนและคณะทำงานได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์มาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ทำให้ทราบว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการทำรัฐประหารทั้งสิ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกเกิดขึ้นจากการที่ คุณสมัคร สุนทรเวช และนายทหารยศพันเอกไปจี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีให้ลงนามลาออกจากตำแหน่ง

ครั้งที่สองคือ หลังจากคุณสมัครเดินออกจากห้องนายกรัฐมนตรี บังเอิญพบกับ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือ โดยพลเรือสงัดกำลังจะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ เพื่อรายงานสถานการณ์ คุณสมัครได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้ลาออกแล้ว และชวนคุณสงัดร่วมขบวนการโดยเชิญให้เป็นหัวหน้า ซึ่งการเชื้อเชิญดังกล่าวของคุณสมัครน่าจะเกิดจากความจำเป็นในสถานการณ์ขณะนั้น และคุณสงัดก็ตอบรับ ดังนั้น ก็เท่ากับว่าคุณสงัดได้ทำรัฐประหารซ้อนจากใครบางคนที่อยู่เหนือคุณสมัครอีกที

และหลังจากนั้น กลุ่มยังเติร์กที่นำโดยนายทหารยศพันโทคนหนึ่งและพันเอกคนหนึ่งได้ยึดอำนาจไปจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายคุณสงัดอีกทีหนึ่ง

นายทหารทั้งสองนี้คือ “จำลอง ศรีเมือง” และ “พัลลภ ปิ่นมณี”

ส่วนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 22 ท่านที่ร่วมประชุมกับคุณสงัดได้แก่ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นต้น และ พันเอกมนูญ รูปขจร ยังเติร์กอีกคนหนึ่งก็ได้นำรถถังเข้ามาเพื่อยืนยันการยึดอำนาจจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้น

เข้าใจว่ากลุ่มยังเติร์กไม่ยอมให้พลเรือเอกสงัดเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผู้ที่มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเจรจากับยังเติร์กคือ พลโทเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารที่อาวุโสน้อยที่สุดในบรรดานายทหาร 22 คนที่ว่า

ไปๆ มาๆ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า คุณธานินทร์มาได้อย่างไร?

 

ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองช่วงนั้นย่อมทราบดีว่า ตอนนั้น มีม็อบเกิดขึ้นมากมายหลากหลาย การจัดตั้งม็อบ และการปลุกม็อบถือเป็นเรื่องปรกติ

คำพูดของผู้นำนักศึกษาในช่วงนั้นจะพูดกันว่า “ไปม็อบ” “จัดตั้งม็อบ” “ปลุกม็อบ” คำพูดดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องปรกติ และเป็นกิจกรรมที่ปรกติด้วย

ผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง พ.ศ.2545 เรื่อง “ม็อบกับกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยในการเมืองไทยยุคสมัยใหม่” ของ คุณบุหลันฉาย อุดมอริยทรัพย์ และในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จะทำให้เราทราบถึงการเริ่มใช้คำ “ม็อบ” และนัยความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ในการเมืองไทยด้วย

ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า ส่วนหนึ่งของความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงนั้นเกิดจากการปลุกและสร้างม็อบ

และหนึ่งในผู้จัดตั้งม็อบขึ้นมาคือ คุณธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์

แม้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์จะกล่าวว่า “…ม็อบที่เกิด ธรรมนูญ เป็นคนจัด ม็อบเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเขาก็เกณฑ์พวกลูกเสือชาวบ้านเข้ามาสวมรอย”

การกล่าวว่า “ม็อบเป็นของพรรคประชาธิปัตย์” น่าจะหมายความว่า มาจากพรรคประชาธิปัตย์สายคุณธรรมนูญ เทียนเงิน เพราะมันจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ “พรรคประชาธิปัตย์” โดยการนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะจัดตั้งม็อบขึ้นมา เพราะม็อบเป็นผลเสียสำหรับรัฐบาลมากกว่าจะเป็นผลดี

ดังนั้น การสร้างม็อบโดยประชาธิปัตย์น่าจะเกิดจากสมาชิกประชาธิปัตย์บางกลุ่มที่แปรพักตร์มากกว่า

ขณะเดียวกัน ผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวว่า ม็อบ “ส่วนหนึ่ง แก (คุณธรรมนูญ/ผู้เขียน) คุมอยู่ส่วนหนึ่ง แกเกณฑ์เข้ามาสวมรอยมวลชน ธรรมนูญเองก็คิดว่าตัวเองจะได้เป็นนายกฯ ช่วงที่สมัครไปจี้ ระหว่างนั้น”

 

ในฐานะที่ผู้เขียนโตพอที่จะรู้ความในช่วง 6 ตุลาคม และพอจะรู้จัก คุณธรรมนูญ เทียนเงิน ก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่า อะไรที่ทำให้คุณธรรมนูญคิดว่าตัวเองจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้? หรือใครที่ทำให้คุณธรรมนูญหลงคิดได้ขนาดนั้น??!!

แต่ถ้าคิดพิจารณาให้ดีถึงสถานการณ์ที่คล้ายจะเป็นอนาธิปไตยกลายๆ ในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร (ไม่ได้มีปัญหากว้างขวางเหมือนในช่วงก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) และรวมทั้งสภาวะที่คล้ายจะเป็นสุญญากาศทางการเมืองในขณะนั้น ก็เป็นไปได้ว่า กลุ่มต่างๆ ก็ต่างเห็นโอกาสที่จะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองได้พอๆ กัน

ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าต่อไปว่า “หนังสือพิมพ์ถามสงัดจะให้ใครเป็นนายกฯ สงัดก็บอกว่าแล้วแต่ธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงธรรมนูญปกครองที่ยังไม่มี (หัวเราะ) แต่จะหมายความว่าไงก็แล้วแต่ ตอนหลังธรรมนูญ (เทียนเงิน/ผู้เขียน) แกสมัครถึงแปดตำแหน่งแน่ะ”

คนในทีมงานสัมภาษณ์ได้ถามท่านผู้ใหญ่นั้นว่า “เอ๊ะ ตอน 6 ตุลาฯ นี่อาจารย์ธานินทร์ท่านใกล้ชิดกับทางในวังหรือยังฮะ? หรือว่ายัง?”

ท่านผู้ใหญ่ตอบว่า “ใกล้ชิดแล้ว โอ๊ย ใกล้ชิดมานานแล้ว”

ทีมงานถามอีกว่า “คือ…มันมีเรื่องเล่าเหมือนกับว่าทางในวังได้คุยกับคุณสงัดว่า มีอะไรให้หารือกับท่านธานินทร์ แต่ไม่รู้ว่าท่านรู้จักกันเป็นการส่วนตัว หรือว่าท่าน…”

ท่านผู้ใหญ่ให้ความเห็นว่า “ในหลวงเนี่ย มีคนให้เครดิตพระองค์ท่านมาก ที่พระองค์ท่านไม่ต้องการให้คนให้เครดิต คือ พระองค์ท่านเป็นคนไม่ชอบแทรกแซงเลยนะ พระองค์ท่านจะโยนเบี้ยแต่ละที มันจะพลาดไม่ได้ พวกนักเรียนก็โกรธหาว่าพระองค์ท่านสั่งอะไรบ้าง ตั้งคนนั้นบ้าง ตั้งคนนี้บ้าง คนไม่รู้นะว่า ท่านกับคุณเปรมเกือบจะไม่เคยพูดกันเลย พูดกันน้อยมากที่จะปรึกษาหารือกัน… แทบไม่มีเลยนะ… แล้วที่มีนักวิชาการฝรั่งเขียนว่า network monarchy (งานวิจัยของ Duncan McCargo/ผู้เขียน) เดาสวดทั้งนั้น”

และที่กล่าวไปคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บอกเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

อันที่จริงก่อนจะถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” เกี่ยวกับช่วงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้ว่า “พวกจะที่พูดถึงยุคของจอมพลสฤษดิ์อย่างมีคุณภาพได้ แทบจะไม่เหลือ ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองด้วยนะ…ในทางส่วนตัว ผมก็บอกว่า ถ้าจะมาให้ผมเขียนให้ เรื่องการเมือง ผมบอกว่าผมมีความลำเอียงอย่างยิ่งใหญ่ ให้ผมเขียนเรื่องทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะโฟกัสเรื่องภาคอีสานเนี่ย จะลำเอียงในแง่ความคิด…ยุคของจอมพลสฤษดิ์โดยเพื่อนผู้อาวุโสซึ่งผมรักใคร่สนิทสนมอย่างยิ่ง คืออาจารย์ป๋วย ซึ่งผมก็ว่าอาจารย์ป๋วยตลอดทั้งโดยการเขียนและโดยการเขียนจดหมายโต้ตอบว่าสิ่งที่อาจารย์ป๋วยทำเป็นการวางเสาเข็มให้ระบบนายทุน แล้วก็ผูกเมืองไทยไว้ชั่วนิรันดร์ ไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นอิสระในท้องถิ่น ทั้งในด้านพื้นที่ ทั้งในด้าน democracy ทุกด้านเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน จะถูกครอบงำจนไม่มีทางดิ้น… ผมคัดค้านมาตลอดเรื่องตั้งกรมพัฒนาฯ ซึ่งผมทำที่นั่น หกคนแรก…แต่ผมก็ไม่เชื่อว่ามันสมควรตั้ง ก็ได้บอกความคิดของผมไป ทีนี้ก็เรื่องการเมืองมันมีเรื่องที่ผมบอกไป”

ขณะเดียวกัน ท่านก็มีความเป็นห่วงต่อประวัติศาสตร์ช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ด้วย

“คือผมเสียดายของที่กำลังจะหายไป แม้แต่เรื่องยุคหลังเนี่ย ยุคก่อน 14 ตุลาฯ สักสิบปีมันก็กำลังจะหายไป มีคนโทร.มาขอร้องเชิงประณามผม ว่าพี่ ทำไมปล่อยให้มีการขโมยประวัติศาสตร์ ผมก็ถามสั้นๆ ว่าใครขโมย มันเป็นนักประวัติศาสตร์แล้วก็ขโมยประวัติศาสตร์ด้วย ขโมยประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ พี่รู้ดีทำไมพี่ไม่พูด ผมก็บอกผมไม่ได้รู้ดี ผมรู้ในส่วนที่ผมรู้ เป็นต้นว่า มันขโมยชื่อผมไปใส่ในร้อยคน ว่าผมไม่ได้เซ็นด้วย ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ขโมยชื่อผมไป แต่ผมไม่รู้ว่าเขาขโมยชื่อคนอื่นไปบ้าง แล้วเขาเอาไปใช้ยังไง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปแตะต้อง อะไรแบบนี้ คนที่พูดเนี่ยเราก็น่าจะไปถามเขาว่า เอ๊ะ ที่คุณเดือดร้อนนักหนามีการบิดเบือนเรื่อง 14 ตุลาฯ ที่คุณเห็นคุณเชื่อมันคืออะไร เหมือนที่ ด๊อกเตอร์อภิชัย พันธเสน เขาคงจะพูดนะ เขาเป็นครูเหมือนกัน มันรู้สึกจะเดือดร้อนมาก พูดสองสามหนล่ะ ผมก็บอกผมเขียนไว้ แต่ว่าเฉพาะส่วนของผม”

ใครคือนักประวัติศาสตร์ที่ขโมยประวัติศาสตร์?!!