ฉัตรสุมาลย์ : นิทรรศการงานศิลป์ถักทอของคนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ท่านธัมมนันทาครบ 6 รอบ ลูกหลานก็นำเสนอผลงานตามที่ตนชอบตนถนัด

มีศิลปินที่ซุ่มทำงานเพื่อแสดงนิทรรศการของมหาวิทยาลัยศิลปากร จบงานแสดงแล้วก็เลยแวะเอางานมาตั้งแสดงที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ด้วย เพราะเป็นทางผ่าน

ผู้เขียนเพิ่งได้ไปชมงานเช้านี้เอง (11 ตุลาคม) เห็นงานแล้วขนลุก มันอัศจรรย์ว่า เขาทำได้อย่างไร อัศจรรย์ต่อว่า ทั้งหมดของงานสร้างสรรค์นั้น มันมาจากจิตของมนุษย์นี้เอง

เลยเป็นที่มาของบทความนี้

 

ผู้เขียนมักเป็นคนที่อินกับงานศิลปะได้ง่ายเป็นทุนมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น การนำเสนอ ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นว่า เว่อร์ไปหรือเปล่า เลยต้องออกตัวไว้แต่แรกเลย ว่าผู้เขียนมีลักษณะค่อนข้างอินกับงานศิลปะได้ง่าย

เอ้อ แต่ก็ไม่ทุกงานนะคะ งานของศิลปินบางคนที่เขาขายงานได้หลายสิบล้าน ผู้เขียนดูแล้วก็ยังเฉยๆ อยู่ มิหนำซ้ำพาลคิดไปว่า เขาเสียตังค์ซื้อกันได้ยังไงนะ

งานศิลป์ที่มันจะสื่อกับใคร มันก็ขึ้นอยู่กับทุนเดิมของผู้ดูด้วย สมกับที่เช็กสเปียร์เคยพูดว่า beauty is in the eyes of the beholder ความงามอยู่ในตาของผู้มอง

คือมองให้สวยมันก็สวย ตามสายตาของคนมอง

ศิลปะถักทอ เป็นงานใหม่มากๆ ในสังคมศิลปะของไทย คนที่จะชื่นชมถ้าเคยถักและเคยทอ ยิ่งจะสัมผัสได้กับความรู้สึกชื่นชมชนิดที่ขนลุกนั่นแหละค่ะ

ตอนแรก หลวงพี่ท่านหนึ่ง ท่านเป็นสถาปนิกตกแต่งภายใน ที่เรียกว่ามัณฑนศิลป์

มาบวชอยู่ในช่วงพรรษา ท่านไปดูงานแล้ว ถ่ายรูปส่งมาในไลน์ ท่านคอมเมนต์มาเล็กๆ ว่า “เณรเห็นแล้วขนลุกเลย”

เออ พอไปชมงานเข้าจริงๆ ก็ขนลุกตาม เดี๋ยวเณรเดินตามเข้ามาในห้องที่จัดนิทรรศการเล็กๆ ก็เลยกลายขนลุกคูณสอง คือขนลุกทั้งสองคน

เว่อร์ทั้งคู่ พอๆ กัน

 

ต้องลำดับงานชิ้นแรก แสดงให้เห็นเมล็ดพืชที่เพิ่งแทงยอดออกมาพ้นดิน งานชิ้นนี้อยู่ในกระถาง ตัวกระถางสานด้วยวัสดุไหมสีแดงสลับสีน้ำตาล น้ำเงิน เทา ทิ้งปลายไหมออกมาให้ดูเป็นธรรมชาติ ทรงกลมป้อมๆ เมล็ดที่แทงยอดขึ้นมาแล้ว เป็นลำต้นสีชมพู ยอดเป็นตุ่มอ่อน ถักโครเชต์สีขาว พื้นดินสานไปมาด้วยไหมและด้ายสีชมพูเฉดต่างกัน

งานชิ้นนี้ น่าจะเรียกว่า sprouting คือ กำลังแทงรากขึ้นมาเป็นต้นอ่อน

งานชิ้นต่อมา ศิลปินจงใจเสนองานเป็นธีมที่ต่อเนื่องกัน คือ rooting การแทงรากของไม้ดอกที่งดงาม อยู่ในกรอบติดฝาผนัง เป็นดอกใหญ่ 3 ดอก สีสดใส ถักโครเชต์ วางเรียงกัน จากใหญ่แล้วค่อยๆ เล็กลง ทิ้งชายไหมลงมายาว หมายถึงราก

เป็นงานที่ติดบนผนัง ถ้าผนังเป็นสีเข้ม จะส่งให้งานโดดเด่นมากขึ้น

 

ชิ้นที่สาม เป็นชิ้นที่ประทับใจผู้เขียนมากที่สุด คือต่อเนื่องจากการที่เมล็ดงอกออกมาแล้ว เป็นลำต้นแข็งแรงเหมือนเห็ดญี่ปุ่น อวบอ้วนสีขาวนวล ทั้งหมดถักโครเชต์ จากใหญ่แล้วค่อยๆ สอบเล็กลง

ผู้เขียนถักโครเชต์ยามว่าง ถักมาแล้วทั้งเสื้อ ทั้งดอกไม้ ดูงานแล้วรู้ว่า ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งหลายวัน หลายคืนกว่าจะได้เห็ดอวบอ้วนหลายดอกเช่นนั้น ตรงปุ่มข้างบนกลมเป็นลูกสีแดงเรื่อ ใช้ไหมพัน แต่ก็มีที่สานทอด้วย

ที่อลังการงานสร้างคือ ภาชนะที่ใส่ ที่เลือกเป็นหอยโข่งตัวเบ้อเริ่ม เป็นงานทอ (หรือสาน?) ทั้งหมดด้วยวัสดุเชือกชนิดต่างๆ กัน เหลือบสีน้ำตาลและเทาได้อย่างลงตัว ตัวหอยโข่งวางหงายขึ้น เพื่อใส่กอเห็ดญี่ปุ่นนั่นแหละค่ะ

ชิ้นงานนี้วางอยู่บนเชือกสีน้ำตาลเข้ม เพื่อขับงานที่เป็นสีเหลือบเฉดขาว ถักโครเชต์ลายโปร่งย้วย ทำให้เกิดพลิ้วโดยรอบชิ้นงาน

ทำได้ยังไง ทำได้ยังไง

ความงามของงานศิลปะเป็นเช่นนี้เอง

เป็นความลงตัวอย่างเหมาะเหม็งของที่ใส่ และภาชนะที่เลือกใส่ นอกจากขนาดแล้ว ยังดูที่สีที่กลมกลืนกันมาก

 

อีกชิ้นหนึ่ง เป็นการแพร่พันธุ์ของเมล็ดพืช กระจายไปทั่ว แต่ละเซลล์ รูปร่างเหมือนสุ่มไก่ใบเล็กๆ เท่าถ้วยน้ำพริก แต่ทั้งหมดนั้นเป็นงานสาน เหมือนสุ่มไก่ ใช้ไหมสีเทาสลับขาว สื่องานได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

เราอาจจะตีความว่าเป็นการแพร่พันธุ์ของคนดีที่ต้องกระจายไปในสังคม เพื่อให้สังคมของเรามั่นคงมีความสุขสงบ

มีอีกหลายชิ้นค่ะ พรรณนาไม่หมด จงใจขยักไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านมาชมด้วยตัวเอง

นิทรรศการนี้เตรียมรับกฐินด้วยในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2559

 

ทีนี้ ทำไมงานนี้จึงเรียกชื่อว่า พุทธพีชะ

พุทธพีชะ หรือ เมล็ดพืชแห่งพุทธะนี้ มีความหมายถึงศักยภาพที่มนุษย์เราแต่ละคนมีมาเหมือนๆ กัน ในการที่จะเบ่งบานเติบโตจนถึงฝั่งพระนิพพาน

เรามีศักยภาพนี้เหมือนๆ กัน นี้คือความงามของพระพุทธศาสนา แต่เมล็ดพืชนี้ ไม่ใช่ว่ามีมาแล้วก็จะเติบใหญ่ได้เอง แต่ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนที่เป็นเจ้าของว่า เราจะสนใจ ตั้งใจ ฟูมฟักเมล็ดพืช หรือพีชะที่เรามีนี้ ให้งอกงามหรือไม่อย่างไร

เมล็ดพืชที่ตกลงไปในที่ที่มีน้ำขัง ในท้ายที่สุดก็เน่าตาย

เมล็ดพืชที่ตกไปบนดินที่เต็มไปด้วยหิน ในที่สุดก็แห้งตาย ไม่สามารถจะลงรากได้

เราผู้เป็นเจ้าของจึงต้องรู้จักจัดวาง ให้ได้ดินที่พอเหมาะ ให้เมล็ดได้น้ำ ได้แดดพอควร

เมล็ดพืชนั้น จึงจะงอกงามเป็นต้นขึ้นมาได้

ธรรมะอีกบทหนึ่ง ที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของต้นหมากรากไม้ รอบตัวเรา ปรากฏใน สัทธรรมปุณฑรีกสูตร พระสูตรหลักของมหายานที่เป็นที่ยอมรับกันในทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี คือบทที่ว่าด้วยฝน โดยเปรียบฝนเหมือนกับธรรมะของพระพุทธเจ้าที่โปรยลงมาเท่าเทียมกัน เหมือนกันหมด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

เมล็ดสักก็ย่อมเติบโตเป็นต้นสัก ไม้เล็กก็เติบโตเป็นไม้เล็ก ต้นหญ้า ไม่ว่าได้น้ำมากสักเท่าใด ก็เติบโตเป็นหญ้า

 

ในการดูงานศิลปะนี้ สอดคล้องกับธรรมะพื้นฐานที่เราเรียนมาแต่เด็กที่ว่าด้วยอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

คือถ้าไม่มีฉันทะ งานศิลปะที่เห็นย่อมไม่เกิด ถ้าไม่ชอบเสียแล้ว ทำงานต่อไม่ได้ เพราะงานที่ปรากฏให้เราเห็นจนบอกว่าขนลุกนั้น เป็นงานที่ต้องใช้เวลายาวนานมาก บ่งบอกถึงวิริยะ หากไม่มีความเพียร จะนั่งถักโครเชต์ นั่งสานงานแต่ละชิ้น แต่ละจุดไม่ได้เลย

กว่าจะเป็นหอยโข่งที่เห็น ต้องคิดออกแบบโครงเหล็กเพื่อให้ไหมที่จะใช้สานเกาะเกี่ยว

ต้องเฝ้าดูว่า ชิ้นงานเป็นไปตามที่เราคิดหรือไม่

แม่เจ้า วิริยะ มหาวิริยะ

จิตตะ เฝ้าพินิจพิจารณา ทบทวนชิ้นงาน และในท้ายที่สุดวิมังสา

งานศิลปะที่จัดแสดงจึงยืนยันธรรมะหมวด อิทธิบาทได้อย่างครบสูตรจริงๆ

พูดมาตั้งนาน งานนี้ เป็นงานสร้างสรรค์ ของอาจารย์เสาวลักษณ์ เธอสอนอยู่ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ค่ะ

ขอชื่นชมจริงๆ