สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? กำเนิด ‘เพลงลูกทุ่ง’ จากเชื้อสาย ‘ลาวพวน’ ชื่อ ‘จำนง รังสิกุล’

จำนง รังสิกุล เมื่อเป็นผู้อ่านข่าววิทยุบีบีซี ในอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ราว 70 ปีมาแล้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

กำเนิด ‘เพลงลูกทุ่ง’

จากเชื้อสาย ‘ลาวพวน’ 

ชื่อ ‘จำนง รังสิกุล’

“เพลงลูกทุ่ง” ชื่อนี้มาจากความคิดสร้างสรรค์ของจำนง รังสิกุล เชื้อสาย “ลาวพวน” ดงศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
จำนง รังสิกุล เมื่อ พ.ศ.2507 (ราว 54 ปีมาแล้ว นับถึง พ.ศ.2561) คนแรกคิดผูกคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เพื่อเป็นชื่อรายการเพลงทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (บางขุนพรหม) โดยมอบให้ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เป็นผู้จัดรายการ
“เพลงลูกทุ่ง เป็นคำมงคล…ผมเองผู้ได้รับคำนี้มาจากคุณจำนง รังสิกุล ให้มาตั้งเป็นชื่อของรายการ” ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เขียนบอกด้วยตนเองในนิตยสาร “ดารารัฐ” (ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 หน้า 100-101)

“เพลงลูกทุ่ง” แรกเริ่มรายการไทยทีวี

“อาจารย์จำนง รังสิกุล ท่านเคยไปค้นบันทึกของท่านแล้วเอามาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่ารายการ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ที่ออกอากาศวันแรกนั้นตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2507 คำว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ จึงถือกำเนิดมาตั้งแต่วันนั้น—-โดยอาจารย์จำนง รังสิกุล เป็นผู้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาด้วยตัวท่านเอง” เจนภพ จบกระบวนวรรณ เขียนเล่าความเป็นมาของชื่อและรายการทางโทรทัศน์ “เพลงลูกทุ่ง” ในหนังสือ “ตำนานโทรทัศน์ไทย” แล้วเขียนเล่าต่อไปอีกว่า
“รายการ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ออกอากาศเดือนละ 2 ครั้ง จันทร์เว้นจันทร์ ในเวลา 18.00 น. โดยเฉพาะครั้งแรก ซึ่งถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์นั้น วงดนตรีจุฬารัตน์ ซึ่งควบคุมโดยคุณครูมงคล อมาตยกุล ได้ชื่อว่าเป็นวงดนตรีลูกทุ่งวงแรกที่ได้ออกทีวี—-
ในที่สุดวันแรกของรายการ ‘เพลงลูกทุ่ง’ —-โดยเริ่มต้นจากนักร้องทุกคนในคณะออกมาร้องเพลง ‘มาร์ชจุฬารัตน์’ ก่อน แล้วก็ปล่อยนักร้องในทีมออกมาร้องกันคนละเพลง มี ทูล ทองใจ ชัย อนุชิต ปอง ปรีดา วันทนา สังข์กังวาล โดยมี แคหลอ ร่วมเป็นโฆษกดาวตลก
เฉพาะช่วงของชาย เมืองสิงห์ ซึ่งถือเป็นนักร้องเอกเด่นดังที่สุดในยุคนั้น ได้ออกมาร้อง 2 ช่วงด้วยกัน โดยช่วงแรกเพลงกิ่งทองใบหยก คู่กับ ดวงใจ เมืองสิงห์ ที่ร้องแก้ด้วยเพลงกิ่งระกำ แล้วชาย เมืองสิงห์ ก็แต่งชุดทหารออกมาแสดงละครเพลงคู่กับดวงรัตน์ แสงอุทัย แล้วร้องเพลงรอหน่อยน้องติ๋ม โดยดวงรัตน์ร้องแก้ด้วยเพลงน้ำตาน้องติ๋ม (ชาย เมืองสิงห์ ให้สัมภาษณ์ผู้เขียน เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2530 ที่บ้านตรอกวัดเซิงหวาย บางซ่อน กทม. เล่าถึงวันแรกที่ออกโทรทัศน์)
รายการ ‘เพลงลูกทุ่ง’ ใช้เวลาแนะนำตนเองท่ามกลางเสียงตำหนิติเตียนอีกเช่นเคย แต่คราวนี้เพียงแค่เวลาชั่ว 6 เดือนเท่านั้นเอง ก็กลายเป็นรายการเพลงทางโทรทัศน์ที่มีผู้ชมชื่นชอบมากที่สุด เพราะได้ดูวงดนตรีลูกทุ่งวงดังๆ เป็นคณะๆ เลย ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นอย่างมาก”
[จากหนังสือ “ตำนานโทรทัศน์ไทย กับ จำนง รังสิกุล” ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำนง รังสิกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ.2538 หน้า 371-375]

เชื้อสาย “ลาวพวน” ปราจีนบุรี

จํานง รังสิกุล ได้รับยกย่องจากบุคคลในวงการโทรทัศน์ว่า “บิดาแห่งโทรทัศน์ไทย” เป็นอดีตผู้อำนวยการกองข่าว กรมประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการฝ่ายจัดรายการและโฆษณา บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (หรือไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม)
นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เขียน “ระลึกถึงคุณจำนง รังสิกุล บิดาแห่งวงการโทรทัศน์คนแรกของเมืองไทย” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน (ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2538) มีตอนหนึ่ง ดังนี้
“คุณจำนง รังสิกุล จากไปเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ด้วยอายุ 81 ปี 9 เดือน ท่านเป็นศิษย์เก่าทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เข้ารับราชการกรมโฆษณาการเมื่อปี 2483 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้อ่านข่าววิทยุบีบีซีที่มีเสียงนุ่มนวลน่าฟังมากที่สุด เป็นผู้อำนวยการทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมที่มือสะอาดพร้อมด้วยเมตตาปรานีและให้อภัย เป็นผู้สร้างงานบันเทิงธุรกิจที่ยิ่งใหญ่คนแรกของไทย ทำงานอิงวัฒนธรรมไทยเป็นนิจ”
“คุณจำนง รังสิกุล เป็นบุตรของหลวงบัญชรพิชิตราษฎร์ (สร้อย รังสิกุล) มารดาชื่อจันทร์ เกิดที่อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2456 ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6 เป็นศิษย์เก่าของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
[พิมพ์ซ้ำในหนังสือ เปลวไฟจากใจรัก แด่ จำนง รังสิกุล ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำนง รังสิกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2538 หน้า 110-111]
“ผมก็เป็นลาวพวน เพราะมีบรรพบุรุษเป็นลาวพวนแถวๆ บ้านหัวซา บ้านสระมะเขือ ที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี” อ.จำนง รังสิกุล (เมื่อหลังเกษียณอายุราชการ และนั่งทำงานอยู่ธนาคารกรุงเทพ) บอกกับผมในคราวหนึ่งและอีกหลายครั้ง
บ้านหัวซากับบ้านสระมะเขือ เป็นหลักแหล่งของลาวพวนที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองเวียงจันและปริมณฑล ลงไปอยู่ทางดงศรีมหาโพธิ์ เมืองปราจีนบุรี สมัย ร.3 (ราว 200 ปีมาแล้ว)
แต่เดิมเป็นหมู่บ้านอยู่ต่อเนื่องในอำเภอเดียวกัน คือ อำเภอศรีมหาโพธิ (อ่านว่า สี-มะ-หา-โพด) ต่อมาทางการยกฐานะพื้นที่ส่วนหนึ่งแบ่งเป็นอำเภอต่างหาก (ชื่อ อำเภอศรีมโหสถ) ปัจจุบันสองหมู่บ้านอยู่ต่างอำเภอกัน ได้แก่
บ้านหัวซา อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
บ้านสระมะเขือ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
ราว 4-5 ปีมาแล้ว ผมเคยไปสอบถามคนเก่าคนแก่ทั้งบ้านหัวซาและบ้านสระมะเขือ แต่ไม่มีใครจำได้
[ข้อมูลเกี่ยวกับ จำนง รังสิกุล ผู้สร้างสรรค์ชื่อ “เพลงลูกทุ่ง” ผมสอบค้นได้จากหนังสือและเอกสารของมูลนิธิจำนง รังสิกุล บ้านเลขที่ 18 ซอยโชติสหาย 3 ถนนริมคลองประปา บางซื่อ กรุงเทพฯ (ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่นายพยงค์ คชาลัย โทร. 08-1431-2827