วงค์ ตาวัน : แก๊สน้ำตาฆ่าคน-กระสุนจริงป้องกันตัว

วงค์ ตาวัน

ถึงบทสรุปอย่างแท้จริงสำหรับคดีที่ฟ้องร้องรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และตำรวจในยุคนั้น ในปฏิบัติการสลายม็อบพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย และล่าสุดพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง เป็นอันสิ้นสุดคดีที่ต่อสู้กันมายาวนานถึง 10 ปี

“แต่ขณะเดียวกัน ผู้คนในสังคมก็ต้องรู้สึกแปลกประหลาดมหัศจรรย์ไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งใช้ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา 2 ราย แต่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรง และกลายเป็นคดีฟ้องร้อง

เปรียบเทียบกับ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ใช้ทหารพร้อมกระสุนจริง ตายไป 99 ศพ โดยถูกกระสุนจริงยิงตายแน่นอน แต่ป่านนี้ยังไม่มีคดีฟ้องร้องอยู่ในสารบบของกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย

“ช่างเป็น 2 คดีที่เปรียบเทียบกันแล้ว ต้องทึ่งในความเป็นจริงของสังคมไทย!?!”

เพราะเป็นเรื่องสลายม็อบเช่นกัน

รัฐบาลและตำรวจที่ยึดหลักสากล ใช้แก๊สน้ำตาแท้ๆ กลับถูกหาว่ากระทำผิด

ส่วนอีกรัฐบาล ใช้ทหารพร้อมกระสุนจริง ตายไปร่วมร้อย แต่ผู้เกี่ยวข้องจนบัดนี้ยังไม่ต้องตกเป็นจำเลยใน ป.ป.ช. หรือในศาล

“กระนั้นก็ตาม น่าสนใจพิจารณาว่า”

คดี 7 ตุลาคม 2551 นั้น เพราะเป็นยุครัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเป็นตำรวจยุค พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และม็อบที่ถูกสลายคือเสื้อเหลือง

ส่วนคดี 99 ศพ ปี 2553 นั้น เพราะเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนม็อบที่ถูกสลายคือเสื้อแดง

เป็นประเด็นที่น่าขบคิด!?

คดีสลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 นั้น ข้อเท็จจริงเห็นได้ว่า ป.ป.ช.ได้ลงมือรวบรวมพยานหลักฐานอย่างฉับไว จนได้ข้อสรุปในเวลาไม่กี่เดือน สรุปให้ดำเนินคดีกับจำเลย 4 รายคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ขณะนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้น และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.ขณะนั้น

อีกทั้งเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูล ก็เป็นเหตุให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกฯ สั่งย้ายและสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท ในช่วงปลายชีวิตราชการด้วย

จากนั้นจำเลยทั้ง 4 ต่อสู้คดี ที่มีการส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาทก็ต่อสู้เรื่องถูกย้ายถูกปลด ผ่านการร้องทุกข์ ก.ตร. และผ่านศาลปกครองกลาง จนกระทั่งชนะคดีในภายหลัง ได้คืนตำแหน่งกลับมา ไม่ถือว่าถูกปลดจากราชการแต่อย่างใด”

ในด้านคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560

“ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4”

ต่อมา ป.ป.ช.ได้อุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะ ผบ.เหตุการณ์ และในอีก 1 ปีถัดมา คือเมื่อ 28 สิงหาคม 2561 ศาลได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ ตัดสินยืนให้ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ

เป็นอันพ้นมลทินทั้ง 4 จำเลย

“ในคำพิพากษามีสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตาในเหตุการณ์นี้ว่า…”

“การใช้แก๊สน้ำตาตามความจำเป็นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนั้นแล้ว ตั้งแต่ช่วงเช้า บ่าย และค่ำของวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีที่จะยุติ แม้ช่วงแรกเจ้าหน้าที่จะได้กระทำการตามแบบแผนการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม กระทั่งเปิดทางให้มีการประชุม ครม. เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้แล้ว ซึ่งสถานการณ์กดดันขณะนั้นหากไม่ได้ดำเนินการโดยเหมาะสมอาจเกิดความเสียหายได้ แสดงให้เห็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อเล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งในหลายประเทศก็นิยมใช้กันและไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา”

“นำมาสู่บทสรุปที่ว่า การกระทำของจำเลย ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม!”

นอกจากนี้ในคำพิพากษายกฟ้องครั้งแรก ได้กล่าวเอาไว้ว่า…

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามขั้นตอนแผนกรกฎ/48 และจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเปิดทางให้ผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภาได้ออกมา แม้พยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตายังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา

“แม้เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้น เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต”

ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1, จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ก็ไม่อาจอนุมานได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้

“ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต”

ผลจากคำพิพากษานี้ ช่วยให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับหลักปฏิบัติในการสลายม็อบของสังคมไทยว่าต้องยึดหลักการสากล นั่นคือ ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา ดังมติ ครม.อานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2535

เพราะการใช้แก๊สน้ำตา ไม่ใช่การมุ่งหวังเพื่อจะไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้เจ็บหรือตาย

คิดง่ายๆ ว่า จะมีใครอยากฆ่าคนด้วยการสั่งให้เอาแก๊สน้ำตาไปยิง!!

ที่น่าเศร้าสลดใจก็คือ เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 มีผู้ร่วมชุมนุมเสียชีวิต 2 ราย โดยรายหนึ่งเสียชีวิตขณะเกิดเหตุชุลมุน เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม อีกรายไปเสียชีวิตในรถที่จอดห่างออกไป โดยเกิดระเบิดกึกก้องกัมปนาทจนไฟลุกท่วมภายในรถคันดังกล่าว

ทั้ง 2 รายไม่สามารถพิสูจน์ถึงสาเหตุได้แน่ชัด อันที่จริงน่าจะต้องค้นหาความจริงต่อไปให้ได้

“เพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม”

ข้อสำคัญ ไม่เคยมีการใช้แก๊สน้ำตาจนทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่หลักปฏิบัติของประเทศทั่วโลกนั้นชัดเจนว่า การสลายผู้ชุมนุมประท้วง ต้องใช้ตำรวจปราบจลาจล และแก๊สน้ำตา กระสุนยางเท่านั้น

ในบ้านเรา รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาแก้สถานการณ์หลังการนองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535 ได้มีมติ ครม.กำหนดให้เลิกให้อำนาจทหารเข้ามาควบคุมการชุมนุมในเมือง ให้จัดตั้งตำรวจปราบจลาจลที่สมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นหน่วยหลักในการแก้ไขสถานการณ์ม็อบเท่านั้น

ทุกรัฐบาลจากนั้นก็ปฏิบัติเช่นนี้ รวมทั้งรัฐบาลสมชายก็ใช้ตำรวจปราบจลาจลและแก๊สน้ำตา แต่กลับเป็นคดีถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงจนทำให้มีคนเจ็บและตาย

“ราวกับว่ารัฐบาลสมชายสั่งฆ่าคนด้วยแก๊สน้ำตา!”

ต่อมาในปี 2553 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ใช้ทหารเข้าสถายการชุมนุมของเสื้อแดง ด้วยข้ออ้างว่ามีผู้ก่อการร้ายในม็อบ มีการใช้ทหารสารพัดหน่วยเข้ามาเต็มพื้นที่ ใช้ปืนทราโว่ ปืนเอ็ม 16 สารพัดอาวุธสงคราม ใช้รถหุ้มเกราะวิ่งตามท้องถนน

“ที่สำคัญมีคลิปยืนยันว่าใช้พลซุ่มยิงหรือหน่วยสไนเปอร์อีกด้วย”

สุดท้ายตายไป 99 ศพ และไม่พบแม้แต่ศพเดียวที่เป็นผู้ก่อการร้าย ตามที่เป็นข้ออ้างในการให้ใช้ทหารและกระสุนจริงเข้าสลายม็อบ

แต่ก็ยังเป็นคดีในระบบยุติธรรมไทยเลย

ขณะที่อีกรัฐบาล ใช้ตำรวจและแก๊สน้ำตา

“กลับกล่าวหาราวกับว่า “ใช้แก๊สน้ำตาฆ่าคนตาย” ต้องสู้คดีนับสิบปีกว่าจะพ้นมลทิน”

อีกรัฐบาลใช้ทหาร กระสุนจริง สไนเปอร์ด้วย

บอกว่าเพื่อ “ป้องกันตัวเอง” จากผู้ก่อการร้าย และยังไม่มีคดีใดๆ เกิดขึ้น!?!