มุกดา สุวรรณชาติ : การลงประชามติ แบบไม่รู้เรื่อง คือ…ลายแทงสู่รัฐบาลผสม

มุกดา สุวรรณชาติ

หลังเดือนสิงหาคม บนถนนสายเลือกตั้ง ฝนจะตกหนัก

คนหลายกลุ่มมารวมกันในศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อรอขึ้นรถเมล์คันเดียวกัน

แต่รถคันนั้นจะมาตามนัดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ซึ่งมีลำดับ ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ผลการลงประชามติ ไปจนถึงการตั้งรัฐบาล

แต่ทุกขั้นตอนมีความไม่แน่นอน

1.เมื่อไม่รู้ว่า รธน. มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ประชาชนจะดูผลงานและเลือกข้าง

คาดคะเนจากสถานการณ์วันนี้ถ้าการลงประชามติแบบไม่ยอมให้ถกเหตุผล ไม่มีการรณรงค์ให้เห็นข้อดีข้อเสีย สุดท้ายการไปลงประชามติจะเป็นแบบเลือกข้าง ใครชอบข้างไหนก็เลือกข้างนั้น หมายความว่าประชาชนพิจารณาภาพโดยรวมถ้าชอบผลงานของรัฐบาลปัจจุบันและคิดว่ารัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลปัจจุบัน ตั้ง กรธ. มากับมือ คนส่วนนี้คงจะยอมรับ

แต่ถ้าไม่ชอบผลงานรัฐบาลปัจจุบันแต่ชอบของรัฐบาลก่อนๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้ก็คงไม่ยอมรับ รธน. และคำถามพ่วง

แม้ประชามติจะไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่สังเกตได้ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เอาจริงเอาจัง บางคนควรเป็นกรรมการ แต่กลัวแพ้ ช่วงเวลานี้จึงลงสนามมาเตะบอลด้วย

ถ้าดูจากการรณรงค์ที่ใช้ทุกรูปแบบ และฝ่ายไม่รับขยับตัวไม่ออก ดูเผินๆ คล้ายกับว่าไม่มีโอกาสปล่อยลูกโป่ง แต่มีบางแห่งปล่อยไปได้ แต่ทั้งที่ปล่อยได้ และไม่ได้ กลายเป็นข่าวไปทั่ว

ล่าสุด การสั่งปิด Peace TV 30 วัน ทำให้กระบอกเสียงที่เหลือเพียงน้อยนิดของฝ่ายไม่รับต้องเปลี่ยนรูปแบบไป และบังเอิญถูกปิด ช่วงเข้าทางตรง 100 เมตรสุดท้ายพอดี กว่าจะได้เปิด ก็พ้นวันลงประชามติไปแล้ว โอกาสที่จะอธิบายรายละเอียดของ รธน. และคำถามพ่วงหมดไปแล้ว

นี่เป็นการแจกใบแดงของกรรมการ ตั้งแต่เริ่มเกม ข้อหาไม่เอาเสื้อใส่ไว้ในกางเกง

ยังไม่นับพวกที่ออกมารณรงค์แล้วโดนจับอีกหลายคน คนจำนวนมากคิดว่านี่เป็นการตัดกำลังและลิดรอนสิทธิ์

ส่วนคนที่เห็นด้วยกับเรื่องแบบนี้ก็มี เช่น ครูหยุย สมาชิก สนช. ที่บอกว่าการจับกุมเด็กนักศึกษาของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน เป็นเรื่องปกติเพราะขัดกฎหมาย คสช. (ครูหยุยได้รับรางวัลนักพิทักษ์สิทธิเด็กแห่งปี สาขานักการเมือง จากคณะทำงานด้านเด็ก ปี 2545 และได้รางวัลนักรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จากองค์กรยูนิเฟรม ปี 2546)

ในสถานการณ์ที่รณรงค์ไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง จะมีคนไปลงคะแนนกี่เปอร์เซ็นต์

จากผลสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้เนื้อหาที่เป็นความขัดแย้งหลักในรัฐธรรมนูญ ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ยิ่งคำถามพ่วง ยิ่งไม่รู้ว่าถามว่าอะไร เรื่องวันลงประชามติพอรู้ ดังนั้น ถ้าปล่อยไปแบบนี้ไม่เพียงคนไปน้อย ยังจะเป็นการลงประชามติแบบไม่รู้ แต่ถูกเกณฑ์ไป หรือไปเพราะไม่พอใจปัญหาต่างๆ

ถ้าไม่ระวัง กระแสหมั่นไส้ต่อการใช้อำนาจอาจจะสูงขึ้นจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม กลายเป็นต้องมาวัดว่าฝ่ายรักกับฝ่ายแค้น ใครจะฝ่าฝนไปลงประชามติมากกว่ากัน

2.ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะมีคนยื่นฉบับใหม่ ให้… ตามสถานการณ์

คาดว่าขณะนี้มีรัฐธรรมนูญทางเลือกสำรองไว้แล้ว 2-3 ทางเลือก โดยหยิบรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับหรือ 2-3 ฉบับมาปรับปรุงและรวมเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นจะดูสถานการณ์จากคะแนนประชามติ

ถ้า รธน. ผ่านประชามติ ก็เดินหน้าร่างเดิม ถ้าไม่ผ่าน ต้องดูว่าแพ้มากหรือน้อย ถ้าแพ้มาก ต้องหา รธน.ใหม่แบบที่ให้เห็นแสงประชาธิปไตยมากหน่อย ถ้าแพ้สูสี ก็เลือกแบบที่คล้ายร่างเดิม แต่ปรับปรุง

คำถามพ่วงถ้าแพ้น้อย ก็ดัดแปลงรูปแบบ ถ้าแพ้มาก ต้องถอยมาฝากไว้ที่การสรรหา

การเตรียมทางเลือกนี้ จึงไม่สามารถตอบได้ว่า ถ้าไม่ผ่านแล้ว ของใหม่เป็นอย่างไร แต่รับประกันว่า 7 วันก็เสร็จเรียบร้อย สามารถนำเสนอได้ แต่อาจมีการดึงไว้เล็กน้อย จากนั้นก็จะมีเสียงขานรับจากกลุ่มที่อยากเลือกตั้งว่าอันนี้ดีกว่าร่างที่ล้มไปแล้วซึ่งก็สามารถทำได้ไม่ยากเพราะของที่ล้มไปแล้วมีจุดอ่อนมากมาย

เมื่อสามารถปรับปรุงจุดอ่อนให้พอดูได้ เป็นการใส่ตะกร้าล้างน้ำ ซึ่งตามกฎหมายมิได้บอกว่าจะต้องนำมาให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง

3.ทำไม…คะแนนประชามติ 59 คือลายแทง กำหนดยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี การเลือกตั้ง 60

คะแนนที่ออกมาจากเขตต่างๆ จะบอกรายละเอียดของกำลังทางการเมือง ความน่าจะเป็นและโอกาสในการเลือกตั้ง ซึ่งจะกำหนดยุทธภูมิ ยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองต่างๆ

จำนวนที่แพ้ชนะระหว่างฝ่ายรับรัฐธรรมนูญกับฝ่ายไม่ยอมรับ มีความหมายแตกต่างกันตามจำนวนคะแนนที่แพ้ชนะ ไม่ใช่ว่าชนะ 1 ล้านกับชนะ 5 ล้านจะเหมือนกัน ดังที่กล่าวไว้ในข้อ 2

นอกจากนั้น จำนวนคะแนนแพ้หรือในเขตต่างๆ จะกำหนดการตัดสินใจของแกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ถ้าประชามติออกมา ทั้งรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงมีคนยอมรับมาก คะแนนทิ้งห่างจากฝ่ายที่คัดค้าน อำนาจต่อรองจะเป็นของคณะ คสช.

จะมีผลต่อพรรคการเมือง คือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะจะมีการแตกตัวออกมา

พรรคเพื่อไทยก็จะมีการแตกตัวออกมาอย่างน้อย 1 กลุ่มหรือ 2 กลุ่ม

พรรคกลางพรรคเล็ก ก็จะตื่นตัว และขยายตัวกันมากขึ้น

แต่ถ้าคะแนนของฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญชนะขาด ทั้ง เพื่อไทย และ ปชป. อาจจะยังอยู่เป็นกลุ่มก้อนไม่มีใครแตกตัวออกมา

ผลของคะแนนตามเขต ตามจังหวัด ก็จะกำหนดกลุ่มการเมืองย่อย เช่น กลุ่มเพื่อไทยถ้าผลคะแนนออกมาแล้วฝ่ายไม่รับร่างมีความหนาแน่นที่จังหวัดใดหรือเขตใด จะไม่มีนักการเมืองกล้าแตกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย แต่จังหวัดที่พ่ายแพ้ มีการยอมรับรัฐธรรมนูญมาก นักเลือกตั้งอาจจะกล้าแตกออกมาเพื่อหาพรรคใหม่

ดังนั้น กรณีที่มีการแพ้ชนะกันแต่คะแนนไม่ห่างมาก การลงรายละเอียดของคะแนนในพื้นที่เขตเลือกตั้งจึงยังมีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของนักการเมืองที่จะกล้าแยกตัวออกมาตั้งพรรคหรือมารวมกันเป็นกลุ่มใหม่ และอาจชี้วัดฐาน และทิศทางการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

4.เป้าหมายอยู่ที่รัฐบาลผสม

รัฐบาลผสมในที่นี้จะมีนายกฯ มาจากการเลือกตั้งหรือไม่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ ไม่มีใครบอกได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และจำนวน ส.ส. ที่พรรคต่างๆ ได้มาหลังการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องนี้ไว้หลังจากคะแนนประชามติออกมาชัดเจน ลายแทงต่างๆ จะถูกกำหนดขึ้น การแยกและการรวมตัวของนักการเมืองก็จะเกิดขึ้น ตัวแบบการตั้งรัฐบาลสมัยนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะถูกตั้งขึ้นมาเป็นทางเลือกที่ 1

บางคนอาจคิดว่านี่เป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะมารวมกันอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน แต่รัฐบาลใหม่แม้ไม่มีพรรคเพื่อไทยหรือถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านก็อาจจะมี ส.ส.เพื่อไทยเก่ามาอยู่กับพรรคอื่น หรือใช้ชื่อพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล ข้ออ้างคือการเรียกร้องรัฐบาลปรองดอง จะถูกยกมาเป็นเหตุผลเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและตั้งรับเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ

ความสามารถของนักการเมืองและข้าราชการประจำร่วมกับผู้ที่มีอำนาจจะอธิบายเหตุผลของการรวมตัวเป็นรัฐบาลผสมครั้งนี้ได้อย่างดี และผู้ที่คัดค้านก็จะกลายเป็นผู้ไม่รักชาติ

แต่เป้าหมายนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายเพราะปัจจุบันได้มีจุดอ่อนเกิดขึ้น 2 ข้อ ซึ่งอาจปะทุเป็นปัญหาใหญ่ได้ ในระยะเวลา 1 ปีจากนี้…

1. ปัญหาสิทธิเสรีภาพ

กรณีที่จะมีรัฐบาลผสมผ่านการเลือกตั้งและได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องจัดการเรื่องสิทธิเสรีภาพให้ดีๆ ในภาวะที่มีการรณรงค์ลงประชามติ แม้ยังไม่มีแข่งขันการเลือกตั้ง ยังมีการจับกุมคุมขังมากมายขนาดนี้ การเปลี่ยนฐานะจากคนกลางมาเป็นคู่ขัดแย้ง ดูแล้วไร้สาระ คู่แข่งที่อยู่ในเงามืดมีแต่หัวเราะชอบใจ คนที่มีความรู้การเมืองก็ยังงงว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา กลายเป็นว่าคนเห็นต่างในประเทศนี้แทบกระดิกตัวอะไรไม่ได้จะถูกจับ ตั้งแต่ยืนนิ่งประท้วงชู 3 นิ้ว กินแซนด์วิช ปล่อยลูกโป่ง เป็นที่ขบขันนินทาของชาวต่างชาติไปทั่วโลก ถ้าหากคิดจะเป็นรัฐบาลที่อ้างว่าอยู่ในระบอบประชาธิปไตยต้องปรับปรุงสิ่งนี้เป็นลำดับแรก ถ้าปล่อยให้ลากยาวไปเรื่อยๆ จนถึงการเลือกตั้งแม้ตั้งรัฐบาลขึ้นมาก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ หรืออาจมีอุบัติเหตุก่อนถึงจุดหมาย

2. ปัญหาเศรษฐกิจ

ซึ่งดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ สินค้าส่งออกก็ต้องต่อสู้กับแรงกดดันของต่างชาติ ถ้าไม่ได้มือดีทางเศรษฐกิจและไม่สามารถสร้างความยอมรับและเชื่อมั่นทางการเมือง

การลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศก็เป็นเรื่องยาก

ไม่มีใครอยากเซ็นสัญญา งานใหญ่หมื่นล้านแสนล้าน กับรัฐบาลที่ไม่รู้จะล้มลงเมื่อไหร่

ปัญหานี้กำลังลงลึกถึงปากท้อง และความเป็นอยู่ของคนจน หนักขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจะทนรอได้อีกกี่วัน

ผลประชามติรัฐธรรมนูญ สำหรับประชาชน จะชี้อนาคตการเมืองและปากท้องอีกหลายปี ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งครั้งเดียว สำหรับคนที่อยากเป็นผู้ปกครอง คะแนนประชามติจะเป็นลายแทงที่บอกเส้นทางแห่งอำนาจ