สิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับสัมพันธ์ ‘ไนจีเรีย-ไทย’ โดยเฉพาะเรื่องข้าว

คุยกับทูต ‘อาห์เมด นูฮู’ บามัลลี ไทย-ไนจีเรีย กับความร่วมมือข้ามภูมิภาค (2)

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้สร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไนจีเรียเมื่อปี ค.ศ.1962

โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสู่ไนจีเรียรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งแม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไนจีเรียตัดสินใจที่จะปรับปรุงการผลิตข้าวในท้องถิ่น

ซึ่งประเทศไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลือไนจีเรียในการปลูกข้าวต่อไป

“เราสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1962 ไนจีเรียเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2000 ดังนั้น ไทยกับไนจีเรียจึงมีความสัมพันธ์กันมา 56 ปีแล้ว”

นายอาห์เมด นูฮู บามัลลี (H.E. Mr. Ahmed Nuhu Bamalli) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ไนจีเรีย

หลังจากสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันแล้ว ในปีถัดมาไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูตและแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงลากอส (Lagos) ซึ่งนับเป็นสถานเอกอัครราชทูตแห่งแรกของไทยในทวีปแอฟริกา แต่ได้ปิดลงเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณและความปลอดภัย โดยมีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำไนจีเรียที่เมืองลากอสปี ค.ศ.1999

ไทยเปิดดำเนินการสถานเอกอัครราชทูตอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ.2006 แต่เป็นที่กรุงอาบูจา (Abuja) ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศไนจีเรียแทนกรุงลากอสตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.1991

กรุงอาบูจาเป็นเมืองที่สร้างใหม่ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 80 และมีชื่อเสียงในแอฟริกาในด้านของผังเมือง โดยใช้แนวคิดของการสร้างกรุงบราซีเลีย (Bras?lia) เมืองหลวงของประเทศบราซิลเป็นแบบอย่าง

“พูดถึงความสัมพันธ์ทางการค้า ไนจีเรียเคยนำเข้าข้าวจากประเทศไทยอย่างน้อย 80-90% แต่ตอนนี้เราสามารถปลูกข้าวได้เอง ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไนจีเรียลดลง ด้วยเหตุที่เราพยายามทำตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Theory) ของประเทศไทย ซึ่งมีประโยชน์มาก”

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน ลดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ อาศัยสติปัญญา ความรู้ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ คณะผู้ปกครองดั้งเดิมแห่งรัฐไนเจอร์ สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย จำนวน 32 คน ได้เข้าศึกษาดูงานด้านการเกษตรภายใต้โครงการพระราชดำริ และเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปีที่แล้ว

คณะผู้ปกครองดั้งเดิม เป็นสถาบันการปกครองที่เก่าแก่และสืบทอดกันมานับตั้งแต่ยุคที่ไนจีเรียยังปกครองภายใต้ระบบชนเผ่า โดยยังคงเป็นที่เคารพและยอมรับจากประชาชนในท้องถิ่น และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไนจีเรียที่ต้องการลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน และหันมาให้ความสำคัญกับการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น

“ตั้งแต่ปีที่แล้วเราไม่ได้นำเข้าข้าวจากประเทศไทย เพราะเราเริ่มเพาะปลูกข้าวเองที่ไนจีเรีย อันเป็นไปตามกลยุทธ์ของไนจีเรียที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ผลประโยชน์ เราก็ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ จึงพยายามเสนอรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการลงทุนในไนจีเรีย เพราะไนจีเรียมีประชากรผู้บริโภคถึง 3 เท่าของประเทศไทย” ท่านทูตกล่าวเชิญชวนนักลงทุนไทย

“หากนักลงทุนไทยไปลงทุนปลูกข้าวในไนจีเรีย ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นรายรับที่มากกว่าการส่งข้าวไปขาย ทั้งนี้เพราะไนจีเรียยังไม่มีความสามารถในการผลิตข้าวที่เราปลูกเองในประเทศซึ่งจะต้องพึ่งการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาช่วยในการผลิตต่อไป”

ไนจีเรียเคยเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา แต่เมื่อรัฐบาลไนจีเรียประกาศนโยบายลดการนำเข้าอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใน ทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยลดลง แต่โอกาสของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรกลับเปิดกว้างมากขึ้น

รัฐบาลไนจีเรียและรัฐบาลในระดับมลรัฐต่างๆ ให้ความสำคัญในการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรจากต่างประเทศ เช่น เครื่องจักรสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องจักร และเครื่องมือทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร

เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะให้การสนับสนุนการปลูกข้าว แต่ชาวนาในไนจีเรียยังคงประสบปัญหาเรื่องโรงสีข้าว (rice mill) ไม่เพียงพอ รวมถึงเครื่องสีข้าวส่วนใหญ่ยังไม่สามารถคัดแยกหิน ดิน กรวด และทรายออกจากข้าว ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวนำเข้าที่มีคุณภาพกว่าได้

ดังนั้น นโยบายข้าวไนจีเรีย จึงเป็นโอกาสในการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย

แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกล การขาดแคลนข้อมูลข่าวสาร และภาพลักษณ์ในเชิงลบ ส่งผลให้ภาคเอกชนของทั้งฝ่ายไทยและไนจีเรียมีความคุ้นเคยระหว่างกันน้อย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรายงานว่า ในปี ค.ศ.2017 ไนจีเรียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 51 ของไทยในตลาดโลก และมีศักยภาพเป็นลำดับที่ 4 ในทวีปแอฟริกา (รองจากแอฟริกาใต้ อียิปต์ และเบนิน) การค้ารวมมีมูลค่า 670.43 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 169.28 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตลาดส่งออกอันดับที่ 69) และนำเข้ามูลค่า 501.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (แหล่งนำเข้าอันดับที่ 41)

สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกลถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังไนจีเรีย

“ไนจีเรียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก สินค้าที่เราส่งออกมาประเทศไทยจึงได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้มุ่งที่น้ำมัน หากแต่เป็นการเกษตรและแร่ที่หายากราคาแพง”

ปัจจุบันไนจีเรียให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ กระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนโดยยกเลิกข้อจำกัดในเรื่องการถือหุ้นของชาวต่างชาติในบริษัทที่จดทะเบียนในไนจีเรีย ยกเว้นบริษัทที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ การผลิตยาเสพติดและยาหลอนประสาท

ทั้งยังมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมโดยยึดหลักผ่อนปรนกฎระเบียบ และไม่แทรกแซงกิจกรรมที่เอกชนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้สิ่งจูงใจและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นแก่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ

ท่านทูตอาห์เมดยืนยันว่า

“ไนจีเรียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของแอฟริกา และมีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุน ประเทศไทยมีนโยบาย Thailand +1 สามารถเป็นประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีผู้บริโภคกว่า 620 ล้านคน”

“ในขณะที่ไนจีเรียมีประชากรเกือบ 200 ล้านคน สามารถเป็นประตูสู่ทวีปแอฟริกาที่มีประชากรเกือบ 1,300 ล้านคน หากคนไทยไปลงทุนในไนจีเรีย ผมมั่นใจว่า ภายในระยะเวลาไม่นาน ก็จะสามารถได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าดีกว่าแน่นอน”