วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / สองตัวพิมพ์ : หน้าตาของอังกฤษ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

สองตัวพิมพ์

: หน้าตาของอังกฤษ (จบ)

ความโมเดิร์นหรือความทันสมัยของ Johnston และ Gill Sans มีรายละเอียดอีกมากมาย เช่น เป็นตัวไม่มีขา แต่ออกแบบด้วยเทคนิคการวาดอักษรหรือ calligraphy และยึดหลักการคลาสสิคในเรื่องของสัดส่วนและเส้นแกน
ใน Revival of the Fittest ของฟิลลิป บี. เมกส์ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติของตัวพิมพ์และการทำให้เป็นดิจิตอล ตัวพิมพ์ทั้งสองถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Humanist Sans-Serif ซึ่งรวมถึง Futura และ Optima และเกิดก่อนตัวพิมพ์โมเดิร์นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น Helvetica และ Universe
ในแง่ที่เป็น sans serif ทั้งสองก็แตกต่าง serif มากอยู่แล้ว แต่การตั้งชื่อกลุ่มแบบนี้ ทำให้แตกต่างกับตัวพิมพ์ไม่มีตีนรุ่นก่อน ซึ่งหมายถึงตัวพิมพ์แบบอาร์ตเดโค่ และ grotesques ซึ่งใช้ในทางการค้าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มากขึ้น
นอกจากนั้น ทั้งสองตัวยังเด่นตรงที่เป็นตัวพื้นที่อ่านได้ง่ายกว่าตัวไม่มีตีนแบบอื่นๆ เช่น Futura ของเยอรมันซึ่งออกมาก่อน แต่ทั้งสองตัวแลดูไม่ “แข็ง” เท่า

หลังจากพูดถึงกำเนิดและความแพร่หลาย หนังเรื่องนี้ได้เล่าถึงการเสื่อมของตัวพิมพ์ทั้งสองในช่วงทศวรรษ 1950-1960s ด้วย
ในช่วงนั้น Johnston ยังเป็นตัวพิมพ์ของลอนดอนทรานสปอร์ต แต่ถูกรุกรานโดยกระแสวัฒนธรรมใหม่ที่หลั่งไหลมาจากอเมริกา รวมทั้งการบูมของ Helvetica นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ไม่เป็นที่นิยม ยังเป็นกลิ่นอายของสงครามโลกครั้งที่สองของตัวพิมพ์ทั้งสองด้วย
แต่กลับมาในช่วงปลาย 1970s พร้อมกับเดอะบีตเทิลส์ นั่นคือ ถูกใช้เป็นตัวพิมพ์บนปกหลังของอัลบั้ม Abbey Road ที่โด่งดัง และเมื่อผู้คนลืมไปแล้วว่าเกิดมาพร้อมกับสงคราม แต่ยังมีความเป็นอังกฤษ จึงถูกใช้โดยขบวนการต่อต้านรัฐบาลและสงครามมากขึ้น
ในช่วง 1980s ผู้ที่มีบทบาทมากคือดีไซเนอร์ชื่อ เนวิล โบรดี้ ซึ่งปรากฏตัวในหนังด้วย โบรดี้พูดถึงนิตยสารสำคัญที่เขาเป็นฝ่ายศิลป์คือ City Limit และ The Face โดยเฉพาะการใช้ตัว Gill Sans อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเล่ม

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมในแบบใหม่ บริบทมีความสำคัญกว่าตัวบท หรือตัวบทอาจจะพาดพิงไปถึงสิ่งอื่นๆ และคนอื่นๆ ก็ได้ สำหรับประวัติศาสตร์ดีไซน์ ผลงานออกแบบชิ้นหนึ่งๆ ไม่ได้เป็นของดีไซเนอร์แต่ผู้เดียว ผู้สร้างสรรค์อาจจะรวมถึงลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้อ่าน ลูกค้า และโรงหล่อด้วย
หนังเรื่องนี้รวมเอาบทบาทของแฟรงก์ พิก ผู้บริหารของลอนดอนทรานสปอร์ต และโมโนไทป์ โรงหล่อที่เป็นเจ้าของและดำเนินการผลิตทั้งในยุคตัวตะกั่วและตัวดิจิตอลเข้าไว้ด้วย
แต่ที่สำคัญคือ พฤติกรรมส่วนตัวของเอริก กิลล์ ซึ่งทำให้มีการประเมินค่าผลงานของเขากันใหม่ ก่อนหน้านั้น การหมกมุ่นกับเซ็กซ์ของเขาเป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตของกิลล์ในฐานะศิลปินประติมากรรม ผู้สืบทอดขนบของขบวนการอาร์ตแอนด์คราฟต์ และชอบปั้นรูปเปลือย ถูกพูดถึงอย่างเปิดเผยมานานแล้ว
แต่ในปีพ.ศ. 2532 ฟิโอน่า แม็กคาธีย์ นักประวัติศาสตร์ตัวพิมพ์ ผู้เขียน Eric Gill : A Lover’s Quest for Art and God ได้ค้นพบหลักฐานว่า ระหว่างอยู่ที่ชนบทในดิทชลิง กิลล์มีพฤติกรรมด้านเซ็กซ์ที่เกินเลย นั่นคือทำอนาจารกับลูกสาวตนเองและกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่อยู่พักหนึ่ง
หลังจากนั้น เขาจึงอพยพไปเวลส์ ซึ่งหมายถึงขนทั้งครอบครัว สัตว์เลี้ยง ผู้ช่วย คนรับใช้ไปอยู่ด้วย และที่นี่เอง เขาได้โยนข้อรังเกียจเครื่องจักรทิ้งไปและเริ่มออกแบบตัวพิมพ์ให้โมโนไทป์

นอกจากนั้น โอเวนเดนยังได้สัมภาษณ์เบน อาเชอร์ ซึ่งบอกว่า Johnston นั้น ดีกว่า Gill Sans มาก อาเชอร์บอกว่าตัวพิมพ์นี้ประสบความสำเร็จกระทั่งกลายเป็นตัวแทนของอังกฤษในตอนกลางศตวรรษ เพราะการตลาดของโมโนไทป์ รวมทั้งฝีมือช่างเทคนิคของโมโนไทป์
เขาชี้ให้เห็นจุดอ่อนหลายอย่างของ Gill Sans เช่น ตัวตามของ b, d, p, q และ l รวมทั้งสัดส่วนของตัวนำและตัวหนาบางตัว ดังนั้น จะเรียกว่าเป็นตัวพิมพ์ที่สมบูรณ์ หรือ fool-proof ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ดังที่แม็กคาธีย์ ซึ่งปรากฏตัวในหนังด้วย บอกไว้ กิลล์สามารถกลับมาอยู่ในโลกศิลปะของอังกฤษในแง่ที่อุทิศตัวให้กับศาสนา และนำผลงานทั้งที่เป็นประติมากรรมและตัวพิมพ์ออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ไม่เฉพาะในลอนดอน แต่ทุกหนทุกแห่งในอังกฤษ ในฐานะงานโมเดิร์นชิ้นแรกๆ ของอังกฤษ
ปัจจุบัน แม้จะมีประวัติที่ด่างพร้อยแต่ก็มีฐานะเป็นศิลปินและนักออกแบบชื่อดังของศตวรรษที่ 20 ตัวพิมพ์ของเขาโด่งดังและ ประติมากรรมก็มีมากมาย เช่น หน้าตึกบี.บี.ซี. หรือในพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต

ตัวพิมพ์ทั้งสองถูกอัพเดตเรื่อยมา Johnston ซึ่งเป็นของลอนดอนอันเดอร์กราวด์ ถูกดิจิตอลไลซ์ในช่วง 1980s โดยดีไซเนอร์ชื่ออิเอชิ โกโนะ โดยเพิ่มตัวหนาและตัวเอนเข้ามาด้วย ตัวนี้ถูกออกแบบใหม่อีกครั้งในช่วงปี 2000
ส่วน Gill Sans ของโมโนไทป์ เป็นที่นิยมตั้งแต่ออกมาในยุคก่อนสงคราม และได้เป็นตัวพิมพ์ของแบรนด์ต่างๆ เช่น บริษัทรถไฟสายนอร์ทอีสเทิร์น สถานีวิทยุบี.บี.ซี. และหนังสือของเพนกวิน ซึ่งต่อมาถูกใช้ทำโลโก้ของบี.บี.ซี. และในปี 2016 มีการออกแบบตัวพิมพ์ใหม่ของบริษัทนั้น โดยใช้หลักการพื้นฐานของตัวเดิม
Gill Sans กลับมาโด่งดังอีกครั้ง หลังจากที่เวอร์ชั่นดิจิตอลถูกเลือกให้อยู่ในระบบของ Apple Microsoft และ Adobe และในปี 2015 โมโนไทป์ได้ออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ เช่น Gill Sans Nova และ Joanna Nova ซึ่งมีหลายภาษา รวมทั้งเครื่องหมายและตัวเลขแบบต่างๆ มากมาย ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า the Eric Gill Series
หนังจบลงด้วยการบอกว่าตัวพิมพ์ทั้งสองซึ่งคล้ายกันมาก เป็นตัวพิมพ์ที่ “อ่านง่าย สวยงาม และมีบุคลิก” และที่สำคัญ Johnston และ Gill Sans ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากก่อนที่จะกลายเป็นตัวพิมพ์ที่สะท้อนยุคโมเดิร์น และเป็น “หน้าตา” ของประเทศอังกฤษในทุกวันนี้