นิตยา กาญจนะวรรณ : ภาษาไทย 4.0

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปรับรูปแบบเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก “ประเทศไทย 1.0” ซึ่งเน้นเรื่องการเกษตร “ประเทศไทย 2.0” ซึ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมเบา ในปัจจุบันคือ “ประเทศไทย 3.0” ซึ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมหนัก ต่อไปจะเป็น “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

“ประเทศไทย 4.0” จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย ๓ เรื่อง คือ

๑. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม”

๒. เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

๓. เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

โดยสรุปก็คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดในโลกปัจจุบัน

หน่วยงานหรือกิจกรรมใดที่คิดว่าตนเองก็มีส่วนร่วมผลักดันหรือเป็นส่วนหนึ่งของ “ประเทศไทย 4.0” หรือมีความทันสมัยไม่ตกยุค ก็เริ่มแสดงตนและสร้างคำศัพท์ที่มีตัวเลข 4.0 ต่อท้ายบ้างแล้ว เช่น

เกษตร 4.0 โครงการอินดัสทรี 4.0 พาณิชย์ 4.0 มหาวิทยาลัย 4.0 สัตวแพทย์ 4.0 อินเตอร์เน็ต 4.0 เอนทรานซ์ 4.0 เอสเอ็มอี 4.0

 

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” จึงขอเสนอ “ภาษาไทย 4.0” บ้างเพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของภาษาไทยที่จะทำให้ “ประเทศไทย 4.0” เดินไปข้างหน้าได้เช่นกัน

ก่อนจะถึง “ภาษาไทย 4.0” ภาษาไทยก็เคยผ่านรูปแบบ 1.0, 2.0 และ 3.0 กับเขามาแล้วเหมือนกัน

“ภาษาไทย 1.0” คือยุคที่การเรียนภารสอนภาษาไทยมุ่งเน้นที่การอ่าน การเขียน และการแต่งคำประพันธ์ ดังจะเห็นได้จากภาษาไทยในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มจาก จินดามณี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไปจนถึง แบบเรียนเร็ว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ภาษาไทย 2.0” คือยุคที่มีการอธิบายภาษาไทยโดยอาศัยโครงสร้างของภาษาอังกฤษ ตามแบบ สยามไวยากรณ์ ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร การกล่าวถึง อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์ เป็นยุคของการพิจารณาตนเองโดยอาศัยรูปแบบของไวยากรณ์ภาษาอื่น ที่เชื่อกันในสมัยนั้นว่าเป็นรูปแบบ “สากล”

“ภาษาไทย 3.0” คือยุคที่สอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ดังที่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งเรื่องการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน หลักภาษา และวรรณคดี

ยุคนี้เป็นยุคของการสื่อสารกับคนในประเทศ ให้เข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี แม้ว่าจะใช้ภาษาต่างกัน หรือมีวัฒนธรรมที่ต่างกันก็ตาม

 

“ภาษาไทย 4.0” ที่คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ขอเสนอในวันนี้ก็คือ ภาษาไทยที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าใจ “ประเทศไทย 4.0” ที่กำลังกล่าวขวัญกันอยู่ในขณะนี้ได้ ต้องเป็นภาษาไทยที่มีการปรับตัว รับความคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะจากภาษาอังกฤษได้โดยไม่ผิดเพี้ยน

เช่น การใช้ศัพท์บัญญัติว่า “โภคภัณฑ์” และ “นวัตกรรม” ข้างต้นก็ต้องให้เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง การเขียน “คำทับศัพท์” ที่ต้องเขียนให้ใกล้เคียงกับการออกเสียงในภาษาเดิมให้มากที่สุด เท่าที่อักขรวิธีไทยจะอำนวยให้

เช่น New York เขียนว่า นิวยอร์ก ซึ่งใครอยากจะออกเสียงว่า [นิวยอก] [นิวย้อก] หรือ [นิวหยอก] ก็ได้ตามอัธยาศัย

เช่นเดียวกับคำว่า ฉัน ที่ใครจะออกเสียงว่า [ฉัน] หรือ [ชั้น] ก็ได้ แล้วแต่จังหวะการพูด ขอเพียงให้เขียนเหมือนกันก็สื่อกันได้แล้ว

คำไม่ว่าจะเป็นคำไทยหรือคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ถ้าเขียนให้ตรงกับที่คนไทยใช้ คำๆ เดียวกันก็คงต้องเขียนหลายแบบ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารอย่างแน่นอน

คำต่างๆ ที่ใช้อธิบาย “ประเทศไทย 4.0” เช่น Agritech, Bio-Med, Bio-Tech, Culture & High Value Services, Designtech, Edtech, Embedded Technology, E-Marketplace, Fintech, Foodtech, Healthtech, High Value Services, Mechatronics, Meditech, New Engines of Growth, Robotech, Robotics, Smart Devices, Smart Enterprise, Smart Farming, Startup, Traditional Farming, Traditional Services, Traditional SME, Traveltech และอื่นๆ ก็ต้องพิจารณาว่าจะเขียนด้วยอักษรไทยอย่างไรจึงจะทำให้คนไทยเข้าใจได้

นี่คือ “ภาษาไทย 4.0” ซึ่งมีส่วนร่วมกับ “ประเทศไทย 4.0” อย่างแน่นอน