คนมองหนัง : “มา ณ ที่นี้” – นิทานเปรียบเทียบสังคมไทยของ “ปราบดา หยุ่น”

คนมองหนัง

“มา ณ ที่นี้” คือหนังยาวลำดับที่สองของ “ปราบดา หยุ่น” นักเขียนชื่อดัง

ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้บินไปเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลหนังโตเกียวตั้งแต่ปลายปีก่อน และต้องใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งปีเต็ม กว่าจะได้กลับมาเข้าฉายเชิงพาณิชย์ (แบบจำกัดโรง) ในเมืองไทย

หากเปรียบเทียบกับผลงานหนังยาวเรื่องแรกอย่าง “โรงแรมต่างดาว” ฝีมือการกำกับภาพยนตร์ของปราบดามีพัฒนาการดีขึ้นชัดเจน

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเลือก (หรือจำเป็นต้อง) เล่าเรื่องราวที่มีเหตุการณ์/ปัจจัยสลับซับซ้อนลดน้อยลง เช่นเดียวกับจำนวนตัวละครหลักที่เหลืออยู่แค่สองคน จนปราบดาสามารถกำกับหนังของตนเองได้อยู่มือมากขึ้น

ท่ามกลาง “ความน้อยลง” ของแทบทุกองค์ประกอบ “มา ณ ที่นี้” มีงานสร้างที่น่าพอใจทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านเสียงประกอบภาพยนตร์

อย่างไรก็ดี จุดเด่นสำคัญสุดของหนังอยู่ที่สองนักแสดงนำ คือ “ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช” และ “พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข” ซึ่งสามารถรับผิดชอบ (แบก) ภาพยนตร์ทั้งเรื่องและบทสนทนาอันเต็มไปด้วยรายละเอียด/รหัสยนัยแยบคายสไตล์ “ปราบดา” ได้อย่างยอดเยี่ยม

ในส่วนของชญานิษฐ์ นอกจากฝีมือการแสดงที่ดีแล้ว นางเอกดาวรุ่งรายนี้ยังมีออร่าที่เปล่งประกายเฉิดฉายมากๆ บนจอภาพยนตร์

แม้ผู้กำกับฯ และผู้กำกับภาพ (ก้อง พาหุรักษ์) จะเลือกโคลสอัพ (จับภาพระยะใกล้) ใบหน้าของนักแสดงสาวผู้นี้อยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง แต่ความรู้สึกอึดอัดขณะรับชมกลับไม่เกิดขึ้น แถมคนดูจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกเพลิดเพลินจำเริญใจเสียด้วยซ้ำ

“มา ณ ที่นี้” เปิดฉากขึ้นมาด้วยวิถีชีวิตช่วงเช้าตรู่ของหญิงสาววัยยี่สิบกว่าๆ คนหนึ่ง ในห้องพักส่วนตัวและพื้นที่สวนกลางของคอนโดฯ “ลิเบอร์ตี้แลนด์”

แต่แล้วขณะจะออกไปทำงาน เธอก็ได้พบกับชายบาดเจ็บซึ่งนอนสลบอยู่หน้าห้อง ระหว่างโทร.แจ้งเหตุให้ รปภ. รับทราบ ชายผู้นั้นพลันแว้บเข้าไปนอนบนโซฟาตรงห้องรับแขกของหญิงสาวเรียบร้อย

สถานการณ์เดินหน้าไปสู่การขับเคี่ยวแย่งชิงผ่านบทสนทนาอันยาวนาน ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวประดุจการเล่นเกมชิงไหวพริบ

ประเด็นหลักของการปะทะคารมคือ ระหว่างหญิงชายคู่นี้ ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของห้องตัวจริง?

แรกๆ รูปเกมดูจะเอื้อให้ฝ่ายหญิงสาวมากกว่าชายหนุ่มผู้บุกรุก

แต่ไปๆ มาๆ โมเมนตัมกลับค่อยๆ เอนเอียงไปทางชายหนุ่ม ผู้ล่วงรู้ทุกรายละเอียดในห้อง ผิดกับหญิงสาวที่แทบไม่รู้อะไรเลย แถมหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของห้องของเธอก็ปลาสนาการไปทีละอย่างสองอย่าง

ณ จุดดังกล่าว ชายผู้บุกรุกกลายเป็นฝ่ายได้รับความเชื่อถือมากขึ้น และเขาน่าจะเป็นเจ้าของห้องตัวจริงผู้ถูกแย่งชิงทรัพย์สินไปอย่างอยุติธรรม

แล้วบทสนทนาเชือดเฉือน ก็ค่อยๆ แปรสภาพกลายเป็นการใช้กำลังถึงเลือดถึงเนื้อ

หนังฉายภาพให้เห็นว่าชายผู้นี้สูญเสียห้องไปได้อย่างไร รวมทั้งเปิดเผยกระบวนการแย่งชิงห้องกลับคืนมาของเขา

สถานการณ์หมุนวนกลับด้าน ชายหนุ่มกลายมาเป็นเจ้าของห้องบ้าง ห้องพักของเขาแลดูมีชีวิตชีวา เป็นพื้นที่อยู่อาศัยจริงๆ มากกว่าสภาพห้องพักเนี้ยบๆ เรียบๆ (แต่หาอะไรไม่ค่อยเจอ) ของหญิงสาว

ชายหนุ่มคือมนุษย์ที่น่าคบหา เขามีมาดเป็นปัญญาชนนักอ่าน เขาเป็นที่รู้จักรักใคร่ของผู้คนในคอนโดฯ (ผิดกับหญิงสาว ที่ถูกเพิกเฉยเมินใส่จากสมาชิกร่วมชุมชน)

แล้วหญิงสาวก็บุกรุกกลับเข้ามาทวงห้องคืนบ้าง อย่างไรเสีย ชายหนุ่มยังเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือน่าเชื่อถือมากกว่า

ครึ่งหลังของหนังไม่ได้มีลักษณะ “สมมาตร” กับครึ่งแรก หากสั้นกระชับกว่า และทุกอย่างก็จบลง ทั้งยัง “เปลี่ยนแปลง” ไปไม่เหมือนเดิม ด้วยประโยคคำพูดปิดท้ายเรื่องของหญิงสาว

ประโยคดังกล่าวบ่งชี้ว่าหญิงสาวรับรู้อะไรเกี่ยวกับห้องพักมากขึ้น จากประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้น เธออาจไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่ผู้บุกรุก ดังที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็น “เจ้าของใหม่” หรือ “เจ้าของร่วม” ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อจะได้พัฒนาเป็น “เจ้าของห้องที่ดี” ทัดเทียมชายหนุ่ม

ประเด็นหลักของ “มา ณ ที่นี้” จึงได้แก่ข้อถกเถียงหรือความขัดแย้งในเรื่อง “ความเป็นเจ้าของ”

ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยพลวัตไม่หยุดนิ่งระหว่าง “เจ้าของรายเดิม” กับ “เจ้าของร่วมรายใหม่”

ต้องยอมรับว่าปราบดาวางเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างตัวละครนำสองรายได้เก่ง กระทั่งผู้ชมน่าจะเกิดความงุนงงสงสัยลังเลขึ้นว่า พวกเขาควรจะเห็นใจหรือสนับสนุนตัวละครฝ่ายไหนมากกว่ากัน? ท่ามกลางความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่พลิกไปพลิกมา

คนดูหลายรายย่อมจับได้ไม่ยากเย็นว่าภายใต้วิวาทะเรื่อง “ความเป็นเจ้าของ” “มา ณ ที่นี้” คือ “หนังการเมือง” อย่างมิต้องสงสัย

ส่วนใครจะเทียบเคียง “นิทานเปรียบเทียบกว้างๆ” เรื่องนี้กับรายละเอียดจำเพาะเจาะจงแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง-วิธีคิด-ประสบการณ์ของแต่ละคน

คนดูอาจตั้งคำถามว่าชายหญิงในหนังคือตัวแทนของความเชื่อ (ทางการเมือง) ต่างฝ่าย อย่างแน่นอน คงที่ ตายตัว ใช่หรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?

หรือจริงๆ แล้ว นอกจากจะสับเปลี่ยนสถานภาพความเป็นเจ้าของห้อง/ผู้บุกรุก/ผู้กระทำ/ผู้ถูกกระทำ กันตลอดเวลา เขาและเธอยังอาจเป็นภาพแทนของคนที่หวั่นไหวโอนไปเอียงมาในทางอุดมการณ์/ความเชื่อด้วย?

หรือหากคิดให้ไกลไปกว่านั้น เขาและเธออาจเป็นภาพแทนของมวลรวมที่เรียกว่า “ประชาชน” ซึ่งประกอบด้วยความคิด ความเชื่อ จุดยืน ท่าทีทางการเมือง ที่หลากหลายผสมปนเปกัน?

เขาอาจเป็นทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมที่ระทมทุกข์หงุดหงิดหัวใจมา 80 กว่าปี, เป็นปัญญาชน และเป็นเจ้าของสิทธิ์ผู้ถูกโค่นล้ม

เธออาจเป็นทั้งสลิ่มผู้เปล่ากลวงแสนเบาหวิว, เป็นฝ่ายเหลือง, เป็นราษฎรผู้กำลังเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเจ้าของสิทธิ์ร่วม ผู้ถูกฉุดกระชากสิทธิ์ดังกล่าวไปครั้งแล้วครั้งเล่า

สถานภาพ “ความเป็นเจ้าของ-เจ้าของร่วม” นี้ จึงเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้าง แต่งเติมเสริมต่อ ยื้อแย่งไปมาไม่รู้จบ เหมือนกับภาพอาคารที่กำลังก่อสร้าง (ไม่มีวันเสร็จ) ซึ่งอาจเป็นทั้งบริบทแวดล้อมหรือภาพสะท้อนของ “ลิเบอร์ตี้แลนด์”

แน่นอน ภาพยนตร์เรื่อง “มา ณ ที่นี้” กำลังทำตัวเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ของสังคม (การเมือง) ไทย

นี่คือ “นิทานเปรียบเทียบ” ซึ่งเล่าเรื่องราวอย่างหนึ่ง เพื่อสื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์หรือความเป็นจริงอีกชนิดหนึ่ง

“นิทานเปรียบเทียบ” ของปราบดา ถือเป็นเรื่องเล่าที่สนุกและเปิดกว้างต่อการตีความ

แต่อีกด้าน การเลือกจะวางตัวอยู่ใน “โลกสมมุติ” อันเต็มไปด้วย “สัญลักษณ์” นานาประเภท ที่ซ่อนเร้นแฝงฝัง “ความหมายอื่นๆ” เอาไว้อย่างมากมายชนิดอัดแน่น

ก็ส่งผลให้ตัวละคร เหตุการณ์ สภาพแวดล้อม และบรรยากาศภายในหนัง ไม่ได้มี “ชีวิต” เป็นของตนเองมากนัก เพราะต้องรับภาระเป็น “ภาพแทน” ของสิ่งอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ยังมีจุดที่ “ไม่ค่อยสมจริง” หรือ “ไม่ค่อยสมเหตุสมผล” หลุดลอดออกมาบ้าง จากช่องโหว่ของเรื่องราวแบบ “เหนือจริง”

“ความไม่สมบูรณ์” ตรงจุดนี้ ปรากฏขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ณ “จุดเปลี่ยนผ่าน” จากสถานการณ์สนทนาโต้เถียงอันดุเดือดไปสู่เหตุการณ์ไคลแมกซ์อันรุนแรงช่วงกลางเรื่อง

ขออนุญาตปิดท้ายบทความด้วยการกล่าวถึง “งูปริศนา” ที่ปรากฏตนอย่างเงียบงัน ภายในห้องพักร่วมของชายหนุ่มและหญิงสาว

มีแนวโน้มว่างูตัวนี้จะผูกพันแนบแน่นกับห้องพักดังกล่าวไม่แพ้สองตัวละครหลัก

ดีไม่ดี มันอาจเป็น “เจ้าของร่วม” อีกหนึ่งรายของห้องพักแห่งนั้น

“งูปริศนา” มีชีวิตเคียงคู่คลอขนานไปกับภาพวาด “The Snake Charmer” ของ “อองรี รุสโซ” บนผนังห้องรับแขก ซึ่งถูกใช้สอยเป็นเครื่องมือประเมินคุณภาพเบื้องต้น ว่าใครคือ “เจ้าของห้องที่เหมาะสมที่สุด”

สัตว์และภาพวาดคู่นี้อาจมีสถานะประหนึ่ง “ชุดคำอธิบาย/องค์ความรู้สูงสุด” ที่คอยกำกับ/ควบคุม/ครอบงำตัวละครชายหญิงในภาพยนตร์ (รวมถึงความคิด ความเชื่อ ทัศนคติเฉพาะของเขาและเธอ) เอาไว้อย่างแน่นหนา จนสลัดไม่หลุดจากโครงสร้างสังคม/โลกสมมุติแบบเดิมๆ